'Home isolation' มาตรการเสริม รับวิกฤติเตียง 'โควิด-19' เต็ม
'Home isolation' มีใช้ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐฯ เพื่อให้ผู้ป่วย 'โควิด-19' อาการไม่หนักดูแลตัวเองที่บ้าน ซึ่งเมืองไทยกำลังนำมาใช้เป็นมาตรการเสริมหากเตียงวิกฤติ แต่ต่างกันที่ของไทยได้รับการดูแลเสมือนอยู่ รพ. อาหาร 3 มื้อและติดตามอาการทุกวัน
จากสถานการณ์การระบาดของโรค'โควิด-19' ที่ขณะนี้มีจำนวนคนไข้ปริมาณมาก จำนวนผู้ป่วยที่รักษาหาย และผู้ป่วยใหม่ไม่สมดุลกัน ทำให้เตียงรองรับไม่เพียงพอ การเพิ่มโรงพยาบาลสนามไม่ทันกับการเพิ่มจำนวนของคนไข้ และสิ่งสำคัญ คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานหนักมาหลายเดือนอยู่แล้วมีไม่พอ
ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำแนวทาง 'การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้าน' หรือ 'Home isolation' เข้ามาใช้เพื่อให้จำนวนบุคลากรที่มีสามารถดูแลผู้ป่วยในปริมาณมากๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ระบบ 'Home isolation' มีการใช้ในต่างประเทศมาก่อนหน้านี้ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา แต่เป็นการให้คนไข้ดูแลตัวเองทุกอย่าง
- 'Home isolation' รักษาเหมือนอยู่ รพ.
ขณะที่ ระบบ 'Home isolation' ของไทย จะยังอยู่ในการดูแลของโรงพยาบาล มีการให้อุปกรณ์วัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนไปที่บ้านเพื่อวัดค่าต่างๆ มีแพทย์โทรศัพท์หรือวิดีโอคอลตรวจสอบอาการทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง มีการส่งอาหารและน้ำให้วันละ 3 มื้อ หากอาการทรุดลงก็จะส่งยาฟ้าทะลายโจรและยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ที่บ้านหรือส่งรถไปรับมานอนที่โรงพยาบาล ที่ผ่านมา มีการนำร่องที่โรงพยาบาลราชวิถี ผู้ป่วย 18 ราย พบว่า 16 รายอาการดีขึ้น ส่วนอีก 2 รายมีอาการปอดบวม เป็นผู้ป่วยสีเหลือง มีการนำส่ง รพ. และรักษาหายดี
- ไม่ปล่อยผู้ป่วย เผชิญชะตากรรมเดียวดาย
“นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ('สปสช.') เปิดเผยว่า ระบบของไทยจะไม่ใช่การผลักผู้ป่วยให้ไปเผชิญชะตากรรมเดียวดายอยู่ที่บ้าน แต่ดูแลเหมือนอยู่ในโรงพยาบาลเพียงแต่เปลี่ยนสถานที่เป็นที่บ้าน ซึ่งคนไข้ที่จะทำแบบนี้ได้นั้น ไม่ใช่ผู้ป่วยทั้งหมดแต่ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์และลักษณะบ้านว่ามีความเหมาะสมที่จะกักตัวได้หรือไม่ โดย 'สปสช.' สนับสนุนค่าบริการให้แก่โรงพยาบาลตั้งแต่ค่าตรวจหาเชื้อ ค่ารักษา ค่ายา และยังจะสนับสนุนค่าอุปกรณ์ไม่เกิน 1,100 บาท และค่าดูแลผู้ป่วยร่วมอาหาร 3 มื้อ ไม่เกิน 1,000 บาท/วัน เป็นเวลา 14 วัน
- 'สปสช.' สนับสนุน รพ.
ดังนั้น สิ่งที่ รพ.จะได้เงินสนับสนุนจากสปสช. ได้แก่ 1. เงินที่เสมือนเป็นค่าที่ผู้ป่วยนอน รพ. 2. เงินเพิ่มเติมอีก 1000 บาท/วัน สำหรับค่าอาหารผู้ป่วย 3 มื้อจนครบ 14 วัน มีแพทย์ที่ติดตามอาการ และ 3. ค่าอุปกรณ์ชุดละ 1,100 บาท อย่างน้อยต้องประกอบด้วย 2 ชิ้น คือ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และเครื่องวัดอุณหภูมิ ที่อยู่ในระดับการแพทย์ยอมรับ (Medical Grade) เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับวัดออกซิเจนทุกวัน และรายงานให้แพทย์ เพราะหากมีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แย่ลง รพ.จะต้องเตรียมรถพยาบาลไปรับผู้ป่วยมาที่ รพ.ทันที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ย้ำ 'Home isolation' เป็นมาตรการเสริม
“นพ.จเด็จ” กล่าวต่อไปว่า 'Home isolation' ไม่ใช่มาตรการแรก แต่เป็นมาตรการเสริม กรณีที่ในพื้นที่ดังกล่าว จำนวนผู้ป่วยมากจนกระทั่ง รพ.เต็มมาก ดังนั้น จะเกิดใน 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 ผู้ป่วยพบผลตรวจเป็นบวก และตัวเองมีความพร้อมจะอยู่บ้าน ที่บ้านเหมาะสม ซึ่งแพทย์เป็นคนพิจารณา เพื่อรอเตียงที่ว่าง ซึ่งเป็นการรอและมีมาตรการดูแลทันที เริ่มรักษาทันที จนกว่าเตียงว่างและขยับเข้ามาที่ รพ.
ส่วน กรณีที่ 2 คือ ผู้ป่วยอยู่ที่ รพ. หลักการแพทย์ ต้องอยู่ 14 วัน แต่เมื่อผ่านไป 7 วัน อาการคนไข้ดีขึ้นไม่น่าห่วง กินยาเรียบร้อย ไวรัสลดลง อาจจะขอให้ท่านไปอยู่ที่บ้านแทน แทนที่จะอยู่ที่ รพ. และเอาเตียงที่ว่างรับคนอื่นเข้ามา เพราะช่วงที่จะแพร่กระจายเชื้อได้มาก คือ วันแรกๆ เท่านั้น เชื่อว่าทำให้การบริหารเตียงมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“โดยวานนี้ (29 มิ.ย. 64) มีการประชุมกับ รพ. ทั่วประเทศ ทุกรพ. ทั้งรัฐ เอกชน เพื่อทราบถึงแนวทาง การคัดเลือกผู้ป่วย เตรียมสถานที่ บุคลากร ระบบการเบิกจ่าย ส่วนการส่งอาหารขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของโรงพยาบาล เช่น ประกอบอาหารจากโรงครัวแล้วส่งให้ผู้ป่วยที่บ้าน หรืออาจสั่งซื้ออาหารจากร้านค้าแล้วใช้บริการจัดส่งอาหารไปส่งให้ผู้ป่วยก็ได้ เป็น New Normal เพราะเดิมเราพยายามให้ผู้ป่วยมาอยู่ที่ ฮอสพิเทล หรือ รพ.สนาม แต่วันนี้เชื่อว่าจะมีทางเลือกเพิ่มเติมสำหรับคนไข้บางคนที่อยู่ที่บ้านได้ ดูแลตัวเองได้ และเชื่อว่า 80% ของผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง และดูแลส่งยาให้ตั้งแต่วันแรก การกลายเป็นผู้ป่วยอาการรุนแรงก็จะลดลง”
- ทำความเข้าใจชุมชนรอบข้าง
สำหรับในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้อยู่บ้านเดียว แต่อยู่คอนโด นพ.จเด็จ อธิบายว่า ต้องทำความเข้าใจกับคนที่อยู่รอบข้างแน่นอน เป็นความจำเป็น แต่เข้าใจว่าสังคมเริ่มเข้าใจมากขึ้น เพราะวันนี้ คนที่อยู่ข้างบ้านเราเขาไม่ได้ไปตรวจแต่เขาอาจจะติดโรคแล้วก็ได้ ดังนั้น ความเข้าใจของชุมชน จะเข้าใจมากขึ้น และการดูแลเรื่องความสะอาด ขยะติดเชื้อ ทางรพ.ต้องรับผิดชอบหมด แต่หากชุมชนไม่รับ ยังไงท่านก็ต้องเอาเข้า รพ. ยังยืนยันว่า คนไข้โควิด-19 ทุกคน ให้ดูแลในรพ.เป็นหลัก แต่ในสภาพการณ์ที่เตียงแน่นมาก ฮอสพิเทลไม่มี รพ.สนามเต็ม อาจจะมีบางส่วนที่เป็นผู้ป่วยสีเขียว อาจจะรอที่บ้านได้ แต่ไม่ใช่รอโดยไม่ทำอะไร แพทย์ต้องวิดีโอคอล แนะนำ เอายา อาหาร อุปกรณ์ไปให้
- ขอความร่วมมือ งดออกจากบ้านขณะรักษา
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลในประเด็นที่หากผู้ป่วยออกมาข้างนอก จะถือเป็นการฝ่าฝืนและมีบทลงโทษหรือไม่นั้น นพ.จเด็จ อธิบายว่า จริงๆ ต้องขอความร่วมมือ กฎหมายจริงๆ พ.ร.บ. โรคติดต่อ หากฝ่าฝืนก็มีความผิด แต่เราไม่อยากเริ่มต้นจากคำว่าท่านฝ่าฝืนและท่านมีความผิด แต่ขอความร่วมมือก่อน เพราะหนึ่ง คือ คนไม่อยากป่วย สอง คือ ไม่อยากให้ตัวเองอันตรายมากขึ้น
“การที่ท่านออกไปข้างนอกไม่กักตัว เป็นความอันตรายของตัวท่านและตัวผู้อื่นด้วย ดังนั้น การที่แพทย์จะต้องวิดีโอคอลทุก 8-12 ชั่วโมง ก็เป็นการติดตามแบบหนึ่ง การที่ส่งอาหารให้ถึงที่ ก็เป็นการป้องกันการอ้างเหตุว่าจะต้องเดินออกไปข้างนอกเพื่อซื้ออาหาร เชื่อว่าต้องขอความร่วมมือ ดังนั้น มาตรการนี้ หากเลือกผู้ป่วย ก็ต้องมั่นใจว่าผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือด้วย ถ้าไม่มีความร่วมมือก็เอาเข้า รพ. ดีกว่า”
- เริ่มพื้นที่กทม. ปริมณฑล ที่มีความตึงของเตียง
ทั้งนี้ แนวทาง 'Home isolation' สามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป รพ.ส่วนใหญ่ก็รับทราบและพร้อมปฏิบัติ โดย กรมการแพทย์ แนะนำว่า อยากจะให้เริ่มในพื้นที่ที่มีความตึงของเตียงและมีปัญหาเรื่องเตียงมากๆ ก่อน โดยเฉพาะในเขตกทม. และปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัดตอนนี้ไม่มีปัญหา เพราะเตียงว่างเยอะ ก็ให้ดำเนินการปกติไปก่อน นี่เป็นการดำเนินการเสริมขึ้นมา เพื่อให้ทางรพ.มั่นใจว่าเรากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง และมีมาตรฐานทางการแพทย์รองรับ
- Community isolation ในกรณีติดเชื้อชุมชน
ทั้งนี้ นอกจากการทำ 'Home isolation' ในบางสถานที่ที่มีผู้ติดเชื้อหลายคน ก็อาจทำเป็นลักษณะ Community isolation ก็ได้ คือนำผู้ป่วยหลายๆ คนไปดูแลในสถานที่ที่จัดไว้เป็นการเฉพาะในชุมชน เช่น ในโรงงาน ในวัด เป็นต้น มีรถเอกซเรย์ รถแล็บไปตรวจ มีแพทย์ใช้ระบบ teleconference ดูแลสอบถามอาการทุกวัน ทาง สปสช.ก็จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เช่นเดียวกัน
"ดังนั้น หลักการคือดูแลเสมือนอยู่ในโรงพยาบาล มีอุปกรณ์ให้ มีระบบการดูแลติดตามอาการทุกวัน และมีการส่งข้าว ส่งน้ำให้ 3 มื้อ ย้ำว่า ไม่ใช่ตรวจพบเชื้อแล้วจะให้ไปอยู่บ้านทันที และแนวทางนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำตลอดไป แต่เอามาใช้ในสถานการณ์ที่เตียงเริ่มมีความตึงตัวเท่านั้น" นพ.จเด็จ กล่าวทิ้งท้าย