เผย 'แอสตร้าเซนเนก้า' เดือน ก.ค. ส่งมอบไทยไม่ถึง 10 ล้านโดส
ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผย ก.ค.วัคซีน "แอสตร้าเซนเนก้า" ส่งมอบไทยได้ไม่ถึง 10 ล้านโดส ต้องส่งให้ประเทศอื่นด้วย ห้ามส่งออกอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จัดหาวัคซีนอื่นผ่านกลไกการทูต เล็งแพลตฟอร์มซับยูนิตโปรตีน
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าว “วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร” นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดหาวัคซีนมี 2 ส่วน คือ วางแผนการจัดหา การได้มา จำนวนวัคซีนจริง ๆ ควบคู่กำลังการฉีด เพราะถ้าไม่คู่ขนานก็ไม่สมประโยชน์ ซึ่งการจัดหาแต่ละเดือนจากทุกแหล่ง โดยการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคมาในช่วงเวลาที่วัคซีนจำกัดเป็นปัญาของโลกและไทยต้องใช้เร่งด่วนที่ผ่านมานำเข้าวัคซีนซิโนแวคเดือน ก.พ.-มิ.ย. ประมาณ 9.5 ล้านโดส และที่ประเทศจีนบริจาค 1 ล้านโดส
ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กรมควบคุมโรค (คร.) ส่งแผนต้องการวัคซีนไปยังแอสตร้าฯ ในเดือน มิ.ย. ต้องการ 6 ล้านโดสซึ่งส่งครบแล้ว และตั้งแต่เดือน ก.ค. เดือนละ 10 ล้านโดส เป็นแผนที่ส่งให้แอสตร้าฯ แต่กำลังการผลิตของแอสตร้าฯที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ 180 ล้านโดสต่อปี โดยเฉลี่ย 15 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งธรรมชาติการผลิตวัคซีนช่วงแรก จะทำได้ไม่เต็มกำลังแต่จะไต่ระดับขึ้นมาในเดือนที่ 2-3 เพราะฉะนั้น ศักยภาพการผลิตของแอสตร้าฯช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. คาดว่าน่าจะผลิตได้ 16 ล้านโดสต่อเดือน และต้องส่งมอบประเทศอื่นด้วย ไม่สามารถนำทั้งหมดมาให้ประเทศไทยได้ การส่งมอบใน ก.ค.-ส.ค.ต้องส่งมอบบางส่วนให้ประเทศอื่น
“สัดส่วนที่ไทยจอง 61 ล้านโดส หากดูจากกำลังการผลิตประมาณ 180 ล้านโดสต่อปี ไทยจองประมาณ 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตที่มี ในเดือน มิ.ย. จึงไม่ได้ส่งออกเลย จำนวนที่ผลิตได้ 6 ล้านโดส ส่งมอบให้ไทยครบแล้ว แต่ในเดือน ก.ค.จะส่งไม่ถึง 10 ล้านโดส ในสัญญาไม่มีระบุ 10 ล้านโดสต่อเดือน แต่ระบุ 61 ล้านโดสใน 1 ปี ซึ่งการหารือกับรองประธานแอสตร้าฯประเทศไทย คาดว่าจะส่งมอบได้ 5-6 ล้านโดสต่อเดือน ดังนั้น ในช่วง 3 เดือนนี้ที่มีข้อจำกัด หากต้องการฉีดให้ได้ 10 ล้านโดสต่อเดือน ต้องจัดหาวัคซีนแหล่งอื่นเข้ามาเพิ่ม แต่ไม่มีวัคซีนไหนที่มีของสต็อกไว้ เป็นการผลิตไปส่งมอบไป” นพ.นครกล่าว
ต่อข้อถามห้ามส่งออกได้หรือไม่ นพ.นคร กล่าวว่า ในมุมมองส่วนตัว ถ้าจะห้ามไม่ให้ส่งออก มีผลกระทบสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในการส่งมอบวัคซีนของแอสตร้าฯไทย นึกถึงใจเขาใจเรา หากประเทศอื่นที่เป็นฐานผลิต ล็อกไม่ส่งวัคซีน ให้ใช้ประเทศตัวเอง ขณะที่เรารอตามแผนการส่งมอบอยู่ แต่เขาบอกขอใช้ในประเทศก่อน คุณรอก่อน ประเทศไทยจะรู้สึกยังไง ก็คงโกรธทั้งประเทศ กระเทือนสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถ้าจะใช้วิธีห้ามส่งออกเพื่อใช้ในประเทศก่อน ทำได้แต่ต้องรับผลกระทบรุนแรง
นพ.นคร กล่าวอีกว่า การจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นเพิ่มเติมเท่าที่ทำได้ เช่น ซิโนแวค เข้ามาเสริมในเดือนก.ค.-ส.ค.ให้คงศักยภาพ 10 ล้านโดสต่อเดือน เพื่อเป้าหมายลดป่วยหนัก ลดเสียชีวิต ส่วนวัคซีน mRNA ก็มีการเจรจากับไฟเซอร์ เดิมจะส่งมอบได้ไตรมาส 3 อาจจะมาเดือนส.ค. แต่เมื่อไทยลงนามในใบจองแล้ว ได้รับการแจ้งว่าไตรมาส 3 คงยาก ขอส่งไตรมาส 4 ช่วง ต.ค.-พ.ย. จำนวน 20 ล้านโดส ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาสัญญาสั่งซื้อ ซึ่งผู้ซื้อเสียเปรียบ จึงต้องปรึกษาหารือในภาพรวมประเทศกับหน่วยงานกฎหมาย สำนักงานอัยการสุงสูด กฤษฎีกา หรือครม. เพื่ออนุญาตให้เสียเปรียบเรื่องต่างๆ ที่เสียเปรียบ ส่วนจะให้ได้วัคซีน mRNA ตัวอื่นให้ได้ในไตรมาส 3 เป็นเรื่องยาก เพราะเท่าที่สืบค้นข้อมูล วัคซีนส่งมอบได้ คือ ชนิดเชื้อตายทั้งซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งวัคซีนลดป่วยหนัก ลดเสียชีวิตได้จึงต้องใช้วัคซีนให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
ถามต่อถึงวัคซีนกับการรองรับสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) นพ.นคร กล่าวว่า ทีมวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กำลังศึกษาวิจัยว่า ฉีดวัคซีนบูทส์เตอร์ ระยะเวลาไหนที่เหมาะสม ฉีดแล้วระดับภูมิภูมคุ้มกันเป็นอย่างไร ซึ่งมีการศึกษาทั้งฉีดซิโนแวค 2 เข็มแล้ว ตามด้วยเชื้อตายเหมือนเดิม หรือเป็นชนิดไวรัล เว็กเตอร์ หรือเป็นชนิด mRNA เพื่อตอบโจทย์ปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันสู้เดลตาได้หรือไม่ ก่อนนำข้อมูลสำคัญมาตัดสินใจ คาดว่าใช้เวลา ก.ค.-ส.ค.นี้ และถ้าต้องเริ่มการฉีดเข็ม 3 บูทส์ กลุ่มที่จะต้องฉีดก่อนก็เหมือนเดิม คือ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุและผู้มี 7 กลุ่มโรค
ผู้สื่อข่าวถามถึงใช้ช่องทางเจรจารัฐต่อรัฐในการจัดหาวัคซีนมาเพิ่มเติมได้หรือไม่ เช่น การขอซื้อต่อจากประเทศที่วัคซีนมากแต่ประชาชนฉีดไม่มากทำให้มีวัคซีนเหลือ เช่น ที่เดนมาร์กซื้อต่อจากโรมาเนีย นพ.นคร กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศ มีการเจรจาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมผ่านช่องทางการทูตร่วมกับสถาบันวัคซีนฯ มีทั้งวัคซีนของประเทศคิวบา ที่เป็นแพลตฟอร์มซับยูนิตโปรตีน ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนโควิดในแพลตฟอร์มนี้ และเป็นวัคซีนแพลตฟอร์มนี้ตัวแรกที่แสดงผลออกมามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค 92% น่าสนใจเพราะเป็นวัคซีนที่ค่อนข้างปลอดภัยและกระตุ้นภูมิได้ดี รวมถึงเจรจราวัคซีน mRNA จากเจ้าอื่นด้วย เช่น วัคซีนเคียวแวค ของเยอรมันที่มีการเจรจาก่อนหน้าจะประกาศผล แต่เมื่อประกาศผลแล้วก็รอดูท่าทีว่าจะพัฒนาต่อหรือไม่ถ้าพัฒนาต่อก็หารือต่อ เพราะการจัดหาวัคซีนต้องมองข้ามไปถึงปีหน้าเพื่อตอบสนองต่อไวรัสกลายพันธุ์ให้มากขึ้นด้วย
ภายหลังจบการเสวนาผู้สื่อข่าวได้ถามย้ำกรณีมีแพทย์ท่านหนึ่งระบุว่า วัคซีน "ไฟเซอร์" และ "โมเดอร์นา" ล่าช้า เพราะรัฐบาลไม่ยอมเซ็นสัญญา นพ.นคร กล่าวว่า ใครพูดก็ไปเอาหลักฐานมาว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ไม่ใช่พูดลอย ๆ ได้เซ็นหนังสือจองวัคซีนไฟเซอร์ไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. อยู่ระหว่างทำสัญญาจัดซื้อไม่ได้มีการประวิงเวลา ไม่ได้รีรอ วันนี้เมื่อมีการเสียเปรียบก็ต้องมีการเจรจาต่อรอง เพื่อให้เสียเปรียบน้อยที่สุด ส่วนเรื่องรายละเอียดขอไม่เปิดเผยเนื่องจากอยู่ระหว่างการเจรจา แต่ไม่ใช่หมายความว่าไม่ทำอะไร ยังเดินหน้าจัดหาวัคซีน mRNA สุดท้ายหากจำเป็นก็ต้องยอมเสียเปรียบ