ลุ้น! คนไทยจะได้ฉีด 'วัคซีนโควิด-19' ตามเป้าหรือไม่ ในสิ้นปี
ตามเป้าหมายของ นายกรัฐมนตรี ที่ตั้งไว้ว่า ต.ค. นี้จะมีคนไทยอย่างน้อย 50 ล้านคน ได้ฉีด'วัคซีนโควิด-19' เข็มที่ 1 แต่ขณะนี้ 'แอสตร้าเซนเนก้า' ที่จะต้องส่งให้เดือนละ 10 ล้านโดส คาดว่าจะไม่เป็นไปตามแผน
หลังจากที่คนไทยต้องลุ้นการส่งมอบ วัคซีน'แอสตร้าเซนเนก้า' ที่ผลิตในไทย ในช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา จนในที่สุดก็มีการส่งมอบ 6 ล้านโดส เมื่อ 16 มิ.ย. และหลังจากนี้จะต้องส่งเดือนละ 10 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตในไทยที่มีอยู่ราว 15 ล้านโดสต่อเดือนยังต้องส่งมอบประเทศอื่นด้วย ขณะที่ 'วัคซีนทางเลือก' อย่างโมเดอร์นา และวัคซีนที่รัฐจัดหาอย่างไฟเซอร์ก็จะมาถึงในช่วงปลายปี และเป้าหมายการฉีดของไทยเข็มแรกอยู่ที่ 50 ล้านคนในเดือนต.ค.นี้
เมื่อดูยอดการฉีดวัคซีนในระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 1 กรกฎาคม 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 10,227,183 โดส วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 253,731 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 45,754 ราย
การจัดหาวัคซีนมี 2 ส่วน คือ วางแผนการจัดหาการได้มา จำนวนวัคซีนจริงๆ ควบคู่กำลังการฉีด ซึ่งการจัดหาแต่ละเดือนจากทุกแหล่ง ที่ผ่านมานำเข้าวัคซีนซิโนแวค ก.พ.-มิ.ย. ประมาณ 9.5 ล้านโดส และที่ประเทศจีนบริจาค 1 ล้านโดส
- แอสตร้าฯ อาจส่งไม่ทัน 10 ล้านโดสต่อเดือน
ขณะที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่มีการวางไว้ให้เป็นวัคซีนหลักของไทย “นพ.นคร เปรมศรี” ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ออกมายอมรับว่าที่ตกลงกับแอสตร้าเซนเนก้าไว้ว่าจะส่งเดือนละ 10 ล้านโดสตั้งแต่ ก.ค. เป็นต้นไป เป็นแผนที่ส่งให้แอสตร้า ฯ แต่กำลังการผลิตของแอสตร้าฯ ที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ 180 ล้านโดสต่อปี โดยเฉลี่ย 15 ล้านโดสต่อเดือน
ซึ่งธรรมชาติการผลิตวัคซีนช่วงแรก จะทำได้ไม่เต็มกำลังแต่จะไต่ระดับขึ้นมาในเดือนที่ 2-3 เพราะฉะนั้นศักยภาพการผลิตของแอสตร้าฯช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. คาดว่าน่าจะผลิตได้ 16 ล้านโดสต่อเดือน และต้องส่งมอบประเทศอื่นด้วย ไม่สามารถนำทั้งหมดมาให้ประเทศไทยได้ การส่งมอบใน ก.ค.-ส.ค. ต้องส่งมอบบางส่วนให้ประเทศอื่น
- จัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม
การจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นเพิ่มเติมเท่าที่ทำได้ เช่น ซิโนแวค เข้ามาเสริมในเดือนก.ค.-ส.ค.ให้คงศักยภาพ 10 ล้านโดสต่อเดือน รวมถึง กระทรวงการต่างประเทศ มีการเจรจาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมผ่านช่องทางการทูต ร่วมกับ สถาบันวัคซีนฯ มีทั้งวัคซีนของประเทศคิวบา ที่เป็นแพลตฟอร์มซับยูนิตโปรตีน รวมถึงเจรจราวัคซีน mRNA จากเจ้าอื่นด้วย เช่น วัคซีนเคียวแวค ของเยอรมัน
- ผู้ป่วยโควิดรายใหม่พุ่งเกินครึ่งหมื่น
เมื่อหลายคนมองว่าวัคซีน คือ ทางออกที่ดีในการป้องกันการป่วยหนัก หรือเสียชีวิต ร่วมกับการเข้มมาตรการทั้งส่วนร่วมและส่วนตัว แต่สถานการณ์ในตอนนี้เหมือนจะน่าเป็นห่วงมากขึ้น เพราะผู้ป่วยรายใหม่วันที่ 2 ก.ค. พุ่งขึ้นเกินครึ่งหมื่น และเสียชีวิตเกินครึ่งร้อย และหากย้อนกลับไป 7 วันที่ผ่านมา จะพบการเปลี่ยนแปลงที่น่ากังวล
26 มิ.ย. 64
ผู้ป่วยรายใหม่ 4,161 ราย
เสียชีวิต 51 ราย
หายป่วย 3,569 ราย
ผู้ป่วยหนัก 1,662 ราย
ใส่ท่อช่วยหายใจ 470 ราย
27 มิ.ย. 64
ผู้ป่วยรายใหม่ 3,994 ราย
เสียชีวิต 42 ราย
หายป่วย 2,253 ราย
ผู้ป่วยหนัก 1,725 ราย
ใส่ท่อช่วยหายใจ 489 ราย
28 มิ.ย. 64
ผู้ป่วยรายใหม่ 5,406 ราย
เสียชีวิต 22 ราย
หายป่วย 3,341 ราย
ผู้ป่วยหนัก 1,806 ราย
ใส่ท่อช่วยหายใจ 510 ราย
29 มิ.ย. 64
ผู้ป่วยรายใหม่ 4,662 ราย
เสียชีวิต 36 ราย
หายป่วย 2,793 ราย
ผู้ป่วยหนัก 1,846 ราย
ใส่ท่อช่วยหายใจ 527 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
30 มิ.ย. 64
ผู้ป่วยรายใหม่ 4,786 ราย
เสียชีวิต 53 ราย
หายป่วย 2,415 ราย
ผู้ป่วยหนัก 1,911 ราย
ใส่ท่อช่วยหายใจ 556 ราย
1 ก.ค. 64
ผู้ป่วยรายใหม่ 5,533 ราย
เสียชีวิต 57 ราย
หายป่วย 3,223 ราย
ผู้ป่วยหนัก 1,971 ราย
ใส่ท่อช่วยหายใจ 566 ราย
2 ก.ค. 64
ผู้ป่วยรายใหม่ 6,087 ราย
เสียชีวิต 61 ราย
หายป่วย 3,638 ราย
ผู้ป่วยหนัก 2,002 ราย
ใส่ท่อช่วยหายใจ 579 ราย
- 'วัคซีนทางเลือก' ความหวังคนไทย ?
ภายใต้ผู้ป่วยที่ทะยานขึ้นทุกวัน การปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันโรค ยังมีความวุ่นวายและเป็นประเด็นให้ได้ติดตามในทุกวัน หลายคำถามที่ประชาชนสงสัย เช่น ทำไมวัคซีนไม่เพียงพอในเมื่อเราสามารถผลิตวัคซีนได้ หรือเมื่อไหร่ที่วัคซีนทางเลือกอย่างโมเดอร์นา จะมาถึง
ซึ่งเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 64 นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ระบุว่าอยู่ในขั้นตอนการจัดทําร่างสัญญา ระหว่าง อภ.กับบริษัทซิลลิก ฟาร์มา จํากัด ให้สอดคล้องกับกฎหมายของประเทศไทยและต่างประเทศใกล้เสร็จแล้ว อาทิ สัญญาซื้อขาย สัญญา บริการ หลังจากนั้น อภ.จะส่งร่างสัญญาซื้อขายดังกล่าวให้อัยการสูงสุดพิจารณา คาดว่าจะมีการลงนามสัญญาซื้อขาย (Supply Agreement) กับ บริษัทซิลลิก ฟาร์มา จํากัด ได้ในต้นเดือน ส.ค. 2564
- วัคซีนทางเลือก ทำไมยังไม่มา ติดปัญหาอะไร
ขณะที่ในช่วงเช้าวันนี้ (2 ก.ค. 64) ผู้บริหาร เครือ รพ.ธนบุรี ได้ออกมาพูดถึงประเด็นความล่าช้า ซึ่งแต่เดิมมีการวางแผนในเดือน ต.ค. 63 เพื่อนำเข้าวัคซีน ทางเลือก ราว 50 ล้านโดส โดยซื้อขายผ่านองค์การเภสัชกรรม 3 ยี่ห้อ คือ โมเดอร์นา ไฟเซอร์ และโนวาแวกซ์ มีการติดต่อไปทาง บริษัทผู้ผลิต ได้คำตอบว่า ไทยไม่ยอมเซ็นสัญญา
- สัญญาอยู่ที่ไหน
ขณะที่ ร่างสัญญาซื้อขาย วัคซีนโมเดอร์น่า ที่ต้องส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณา คำถามจึงมุ่งไปยัง สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) กระทั่งในช่วงบ่าย สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ออกเอกสารชี้แจงกรณีการตรวจร่างสัญญาจัดซื้อวัคซีน โมเดอร์นา (Moderna) ระบุว่า ตามที่มีบุคคลให้ข่าวทางสื่อมวลชนว่าสัญญาจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) ยังไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ เพราะองค์การเภสัชกรรม ยังไม่ได้เซ็นสัญญาจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) กับผู้ขาย เพราะการตรวจร่างสัญญาจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) ยังคงค้างอยู่ที่สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นเวลาหลายเดือนแล้วนั้น สำนักงานอัยการสูงสุดขอชี้แจงว่า
1. ข่าวดังกล่าวไม่มีมูลความจริง เพราะไม่เคยมีหน่วยงานใดหรือองค์กรใดส่งร่างสัญญาเกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) ให้กับสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาตรวจร่างแต่อย่างใด
2. ที่ผ่านมาสำนักงานอัยการสูงสุดเคยได้รับการร้องขอจากองค์การเภสัชกรรม ให้ตรวจร่างสัญญาจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้พิจารณาตรวจร่างสัญญาให้กับองค์การเภสัชกรรมแล้วเสร็จภายใน 1 วัน และสำนักงานอัยการสูงสุดได้รับการร้องขอจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค ให้ตรวจร่างสัญญาจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (Astrazeneca) ซึ่งทั้งสองสัญญาสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาตรวจร่างสัญญาให้กับสองหน่วยงานดังกล่าวแล้วเสร็จภายใน 5 วัน เท่านั้น
โดยการพิจารณาตรวจร่างสัญญาดังกล่าวข้างต้น สำนักงานอัยการสูงสุดได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุมและรวดเร็ว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ตระหนักในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID19) ที่สังคมไทยเรากำลังเผชิญอยู่และเห็นว่าเป็นสถานการณ์ที่ทุกคนในสังคมจะต้องร่วมมือร่วมใจ ในการฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวให้ล่วงพ้นไป สำนักงานอัยการสูงสุดจึงให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวนี้ เป็นอันดับแรก
- อภ. ยื่นร่างสัญญา
และในวันเดียวกันนี้เอง นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ออกมาแถลงการณ์อีกครั้ง ถึงความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนทางเลือกวัคซีนโมเดอร์นา ว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 64 ว่าได้มีการประชุมหารือร่วมกันระหว่างองค์การเภสัชกรรม กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และบริษัทซิลลิค ฟาร์มา จํากัด สรุปได้ดังนี้
- บริษัทซิลลิคฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของโมเดอร์นาในต่างประเทศเพียงผู้เดียวโดยชอบธรรม ทำหน้าที่เป็นผู้นำเข้าและขึ้นทะเบียนวัคซีนโมเดอร์นาในประเทศไทย ได้รับคำยืนยันจากบริษัทว่า
- ในช่วงแรกวัคซีนที่จะนำเข้ามาในไตรมาส 4/2564 และไตรมาสที่ 1/2565 รวมจำนวน 5 ล้านโดส
- ส่วนร่างสัญญาจัดหาสินค้า (Supply Agreement) ได้ส่งให้อัยการสูงสุดแล้วเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 ก.ค. 64
- หลังจากนั้นจะมีการลงนามสัญญาจัดหาสินค้า (Supply Agreement) กับบริษัทซิลลิค ฯ ตามกำหนดเดิมต้นเดือนสิงหาคม 2564
- โดยในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ได้ให้โรงพยาบาลเอกชนแจ้งจำนวนวัคซีน พร้อมงบประมาณให้กับองค์การเภสัชกรรม
โดยการจัดหา 'วัคซีนทางเลือก' โมเดอร์นา เป็นการดำเนินการร่วมกัน 3 หน่วยงานหลัก คือ บริษัทซิลลิค ฟาร์มา จํากัด องค์การเภสัชกรรม และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศ มีสมาชิกอยู่ประมาณ 390 โรงพยาบาล “ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม” ย้ำว่า มีการประชุมหารือและแจ้งให้ทราบถึงข้อตกลง เงื่อนไข ข้อจำกัด ที่จะได้มาซึ่งวัคซีนดังกล่าว ตลอดจนแนวทางการดำเนินทุกขั้นตอนมาอย่างต่อเนื่อง
- ไทยนำเข้าวัคซีน ‘Sinovac’ มาเท่าไหร่
5 ม.ค. ครม.อนุมัติงบประมาณ 1,228 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อวัคซีน ‘Sinovac’จำนวน 2 ล้านโดส
22 ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการอาอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบัน ‘วัคซีนโควิด 19’ ของ ‘Sinovac’
24 ก.พ. วัคซีน ‘Sinovac’ล็อตแรกจำนวน 2 แสนโดสถึงไทย
28 ก.พ. ไทยเริ่มต้นการฉีด ‘วัคซีนโควิด 19’ โดยมีอนุทิน รองนายกฯ และ รมว.สธ. ฉีดวัคซีนของ ‘Sinovac’ เป็นคนแรก
22 มี.ค. วัคซีน ‘Sinovac’ล็อต 2 จำนวน 8 แสนโดสถึงไทย
23 มี.ค. อนุทิน รองนายกฯ และ รมว.สธ. และ สาธิต ปิตุเดชนะ รมช. สธ. ฉีดวัคซีน ‘Sinovac’เข็มที่สอง
10 เม.ย. วัคซีนของ ‘Sinovac’ล็อตที่ 3 จำนวน 1 ล้านโดสมาถึงไทย ครบ 2 ล้านโดสแรกที่ไทยสั่งซื้อ
24 เม.ย. วัคซีน ‘Sinovac’มาถึงไทยอีก 5 แสนโดส ซึ่งเป็นล็อตที่องค์การเภสัชกรรมสั่งซื้อเพิ่ม โดย ครม.มีมติอนุมัติวงเงิน 290.24 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการวัคซีนเพื่อรองรับการฉีดวัคซีนอีก 31.36 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 321.6 ล้านบาท เมื่อวันที่ 27 เม.ย.
6 พ.ค. วัคซีน ‘Sinovac’มาถึงไทยอีก 1 ล้านโดส
7 พ.ค. คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติเห็นชอบแนวทางในการฉีดวัคซีน ‘Sinovac’ให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ เนื่องจากผลการศึกษาของประเทศจีนมีความชัดเจนมากขึ้น จากเดิมที่กำหนดให้ฉีดเฉพาะคนที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี
14 พ.ค. วัคซีน ‘Sinovac’มาถึงไทยอีก 5 แสนโดส (จีนบริจาค)
15 พ.ค.วัคซีน ‘Sinovac’มาถึงไทยอีก 5 แสนโดส
20 พ.ค. วัคซีน ‘Sinovac’มาถึงไทยอีก 1.5 ล้านโดส
5 มิ.ย. วัคซีน ‘Sinovac’มาถึงไทยอีก 5 แสนโดส (จีนบริจาค)
10 มิ.ย. วัคซีน ‘Sinovac’มาถึงไทยอีก 1 ล้านโดส (ยังไม่กระจาย)
23 มิ.ย. วัคซีน ‘Sinovac’มาถึงไทยอีก 2 ล้านโดส (10.5 แสนโดส)
- แผน 'วัคซีนโควิด-19' ประเทศไทย
- ลุ้นฉีดวัคซีนเข็มแรก 50 ล้านคน ใน ต.ค.
ทั้งนี้ หากยังจำกันได้เมื่อกลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีฯ ได้ตั้งเป้าเปิดประเทศภายใน 120 วัน โดยระบุถึงการเดินหน้าตามแผนฉีดวัคซีนที่จะฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้โดยเฉลี่ย ประมาณเดือนละกว่า 10 ล้านโดส หากวัคซีนส่งมาเพียงพอในแต่ละเดือน และประมาณต้นเดือนตุลาคมจะมีประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อยเข็มแรกแล้วจำนวน 50 ล้านคน
แต่ในวันนี้ วัคซีนที่คาดว่าจะมาถึง 10 ล้านโดสต่อเดือนดูเหมือนจะไม่ได้ตามเป้า และวัคซีน mRNA วัคซีนที่หลายคนรอคอยอย่างไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา คาดว่าจะมาถึงในช่วงปลายปี ขณะที่ วัคซีนซิโนแวคเอง ผลิตจากเชื้อตายซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่า ระดับภูมิคุ้มกัน RBD-IgG ที่วัดได้หลังฉีดไม่ได้สูงเท่าวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ใหม่เช่น mRNA และจำเป็นต้องฉีดอย่างน้อยสองเข็มจึงจะเห็นระดับภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน
ตอนนี้นอกจากหลายคนมีความกังวลถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ ยังต้องมาลุ้นกันเป็นเดือนต่อเดือนว่าเราจะได้วัคซีนยี่ห้ออะไร มาอีกเท่าไหร่ และจะฉีดได้ตามเป้าหรือไม่ พร้อมๆ กับลุ้นจำนวนตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ ตาย ป่วยหนักในทุกวัน และที่สำคัญ คือ เตียง ที่ดูเหมือนจะเริ่มไม่เพียงพอ