เปิดไทม์ไลน์ต้นตอ คลัสเตอร์โรงงานผลิตหูฟัง สีคิ้ว

เปิดไทม์ไลน์ต้นตอ คลัสเตอร์โรงงานผลิตหูฟัง สีคิ้ว

เปิดไทม์ไลน์ต้นตอ คลัสเตอร์โรงงานผลิตหูฟัง สีคิ้ว พนักงานติดเชื้อจากครอบครัวคลัสเตอร์ ต.ตะเคียน ขยายวงลุกลามเข้าโรงงาน ตรวจ 500 คนพบติดเชื้อแล้ว 11 ราย ที่เหลือ 1,400 คน เร่งประชาสัมพันธ์ให้ตรวจ ที่รพ.ใกล้บ้าน

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 64 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มี 2 ใน 6 คลัสเตอร์ใหญ่ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษอยู่ในขณะนี้ คือ คลัสเตอร์โรงงานผลิตหูฟัง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งมีที่มาเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ ต.ตะเคียน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่กำลังขยายวงลุกลามมากขึ้น

โดยทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ได้ตรวจพบว่า จุดเริ่มต้นมาจากผู้ป่วยหญิง อายุ 69 ปี ชาว ต.ตะเคียน อ.ด่านขุนทด เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว เดินลำบากต้องใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน ไม่ได้ประกอบอาชีพอะไร อาศัยอยู่กับครอบครัว ซึ่งวันที่ 19-20 มิถุนายน 2564 ลูกสาวคนที่ 1 และหลาน เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง เขตยานนาวา กรุงเทพฯ มาพักคางคืนด้วยที่บ้าน 1 คืน ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ จากนั้นผู้ป่วยหญิงรายนี้เริ่มมีอากรไอ หอบเหนื่อย เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 แต่อาการไม่ดีขึ้น จึงไปหาหมอที่ รพ.ด่านขุนทด และตรวจหาเชื้อพบผลเป็นบวก จึงรับส่งต่อรักษาที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา ถือเป็นผู้ป่วยลำดับที่ 1093 ของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเชื้อโควิดได้แพร่กระจาย ไปติดลูกสะใภ้ของผู้ป่วยรายนี้ด้วย ทำให้เป็นผู้ป่วยลำดับที่ 1094 และติดไปถึงหลานอายุ 5 ขวบ เป็นผู้ป่วยลำดับที่ 1112 ซึ่งติดเชื้อมาจากผู้ป่วยรายที่ 1093 และ 1094 ที่เป็นคนดูแลป้อนอาหาร และไปรับไปส่งที่โรงเรียนบ้านตะเคียน อ.ด่านขุนทด จากนั้นเชื้อก็ลามทำให้แม่และลุงของเด็กชายคนนี้ติดเชื้อ เป็นผู้ป่วยโควิดลำดับที่ 1113 และ 1114

โดยผู้ป่วยหญิงรายที่ 1113 แม่ของเด็กป่วยโควิด ลำดับที่ 1112 ประกอบอาชีพรับจ้าง เป็นพนักงานฝ่ายผลิต HCF อยู่ที่โรงงานผลิตและส่งออกหูฟัง สัญชาติญี่ปุ่น ตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพ อ.สีคิ้ว ซึ่งหลังจากพี่สาวและหลานเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงเขตยานนาวา กรุงเทพฯ กลับมาเยี่ยมบ้านที่ ต.ตะเคียน อ.ด่านขุนทดเมื่อวันที่ 19-20 มิถุนายนที่ผ่านมา ก่อนจะตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด19 ผู้ป่วยหญิงรายที่ 1113 นี้ ก็ยังเดินทางไปทำงานที่โรงงานตามปกติ จนวันที่ 23 มิถุนายน 2564 เริ่มรู้สึกปวดเมื่อยตามตัวและมีถ่ายเหลว 2 ครั้ง จึงทานยาพาราฯ แล้วดีขึ้น พอวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ช่วงเช้าก็ยังไปทำงานตามปกติ จนเมื่อเวลา 13.00 น. หัวหน้าแผนกแจ้งให้กลับไปกักตัวที่บ้าน โดยมีรถของโรงงานไปส่งที่ปากซอย แล้วสามีไปรับกลับบ้าน วันที่ 25 มิถุนายน 2564 จึงเดินทางไปตรวจหาเชื้อ ที่ รพ.ด่านขุนทด เนื่องจากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง วันที่ 26 มิถุนายน 2564 รพ.ด่านขุนทด แจ้งว่า ติดเชื้อโควิด 19

จึงเป็นผลทำให้ทางโรงงานฯ ต้องสั่งปิดชั่วคราว เพื่อความสะอาด ฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรค ส่วนพนักงานกลุ่มเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ รวมกว่า 1,900 คน ไปตรวจหาเชื้อและกักตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งเบื้องต้น พบพนักงานในไลน์ผลิตเดียวกัน ติดเชื้อไปแล้ว 11 ราย จากการตรวจเชื้อกลุ่มเสี่ยงประมาณ 500 คน ยังเหลืออีกกว่า 1,400 คน ที่ยังไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อ ซึ่งตั้งเเต่ที่โรงงานสั่งปิดชั่วคราว พนักงานก็ได้แยกย้ายเดินทางกลับภูมิลำเนากระจัดกระจายหลายพื้นที่ ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ จึงเร่งประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเสี่ยงรีบไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลใกล้บ้านและต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด