ส่อง ส.ส.นั่งเกิน '10 กมธ.' ชอบ 'งานเยอะ' ? เบี้ยประชุมแยะ

ส่อง ส.ส.นั่งเกิน '10 กมธ.'  ชอบ 'งานเยอะ' ? เบี้ยประชุมแยะ

ส.ส. 1 คน จะหารายได้จากเบี้ยประชุมได้ ลิมิตสูงสุดต่อวัน 4,600 บาท ข้อบังคับกำหนดให้ ส.ส.เป็น กมธ.ได้ไม่เกิน 2 คณะ แต่ไม่ครอบคลุมถึง "กมธ.วิสามัญ กมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ. กมธ.พิจารณาญัตติ อนุกมธ.

       การประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ถูกสั่งปิดกลางอากาศ โดย “สุชาติ ตันเจริญ” รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง นั่งทำหน้าที่ประธานการประชุม

       ขณะนั้นมีการนับองค์ประชุมก่อนลงมติ “ร่างพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต (ฉบับที่...) พ.ศ....” ซึ่งเป็นกฎหมายที่รัฐบาลเสนอ ภาพที่ปรากฎ คือห้องประชุมที่แทบว่างเปล่า ส.ส.นั่งกันหรอมแหรม

       ทว่า ก่อนหน้านั้น การลงมติร่างกฎหมายของรัฐบาล ส.ส.ที่ลงมติก็มีจำนวน “เกินกว่าองค์ประชุมเพียงหลักสิบเสียงเท่านั้น” ซึ่งต้องใช้ 242 คนจากจำนวนส.ส.ทั้งหมด 483 คน

       หลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส.ส. "พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค” จากพรรคไทรักธรรม ได้โพสต์ความรู้สึกผ่านเฟซบุ๊ค ระบายความอัดอั้นตอนหนึ่งว่า “ปิดประชุมสภาฯ ตอน 16.30 น. เพราะองค์ประชุมไม่ครบ ส.ส.หลายคนวิ่งมาไม่ทัน เพราะประชุมกรรมาธิการ หน้าที่ ส.ส.ควรเอาใจใส่มากกว่านี้ ทั้งวิสามัญ ทั้งอนุฯ แย่งกันอยากจะเป็น แต่เป็นแล้วไม่อยากเข้าประชุม บางคนเป็นเกือบสิบคณะ หรือมากกว่านั้น ไม่รู้ว่าเพื่ออะไร ?”

       เรื่องทำนองนี้ “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส“ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ฐานะประธาน กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาฯ เคยเปิดโปงพฤติกรรมของ ส.ส.บางคนว่า "มี ส.ส.ที่เป็นกรรมาธิการไม่ตั้งใจทำงาน มาลงชื่อเพื่อรับเบี้ยประชุมแล้วก็ไป ไม่ร่วมประชุม ไม่ทำงานที่รับมอบหมาย”

162593402346

       สะท้อนให้เห็นว่า ความฉ้อฉลของการปฏิบัติหน้าที่ ที่ไม่ตรงไปตรงมาของ “ส.ส.” ภายใต้กรรมาธิการ นั้น มีอยู่จริง

       เมื่อพิจารณาจากกติกาของสภาฯ ที่กำหนดส่วนของกรรมาธิการที่มีบทบาทสำคัญ ต่อการเป็นปากเสียงให้ชาวบ้าน ติดตาม กำกับ ตรวจสอบ และตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ กำหนดให้ ส.ส. 1 คน เป็นกรรมาธิการสามัญได้ไม่เกิน 2 คณะ เพื่อกันปัญหาคือ การเป็น กมธ.มากคณะจนทำงานได้ไม่เต็มที่

       ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ กำหนดให้ ส.ส. 1 คน เป็นกรรมาธิการสามัญได้ไม่เกิน 2 คณะ เพื่อกันปัญหาคือ การเป็น กมธ.มากคณะจนทำงานได้ไม่เต็มที่ แต่ข้อบังคับนั้น กลับไม่ครอบคลุมถึง "กมธ.วิสามัญ กมธ.พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ กมธ.พิจารณาญัตติ และอนุกรรมาธิการ”

       จากการสุ่มตรวจสอบเรื่องนี้ผ่านระบบสารสนเทศด้านนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ถึงการดำรงตำแหน่งกรรมาธิการของสมาชิก พบว่าไม่มีใครที่เป็นกรรมาธิการสามัญเกิน 2 คณะจริงตามระเบียบ

       แต่ “ข้อที่ไม่ห้าม” กลับพบว่า ส.ส.พาเหรดเข้าไปทำหน้าที่ใน “กรรมาธิการวิสามัญ-อนุกรรมาธิการ” เหล่านั้น ซึ่งปัจจุบันยังทำหน้าที่ “มากกว่า 10 คณะ” มีอยู่ไม่น้อย

       ตามฐานข้อมูลกรรมาธิการที่ระบุไว้ใน เว็ปไซต์ของสภาฯ ส่วนของระบบสารสนเทศด้านนิติบัญญัติ ระบุไว้ว่า มีส.ส.ทำหน้าที่ในกรรมาธิการ 10 คณะขึ้นไป อาทิ

       ทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ ที่ครองตำแหน่ง 12 คณะ แบ่งเป็น กมธ.สามัญ 2 คณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. 3 คณะ กมธ.พิจารณาญัตติ 2 คณะ และ อนุกมธ. 5 คณะ

       ทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ นั่ง 10 คณะ แบ่งเป็น กมธ.(สามัญ) 2 คณะ กมธ.วิสามัญ 5 คณะ และอนุกมธ. 3 คณะ

       กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม.​พรรคพลังประชารัฐ นั่ง 12 คณะ แบ่งเป็น กมธ. 2 คณะ กมธ.วิสามัญ 4 คณะ อนุกมธ. 6 คณะ

162593485625

       สุชาติ อุตสาหะ ส.ส.เพชรบุรี พรรคพลังประชารัฐ นั่ง 10 คณะ แบ่งเป็น กมธ. 1 คณะ กมธ.วิสามัญ 4 คณะ และ อนุกมธ. 5 คณะ

       กิตติศักดิ์ คณสวัสดิ์ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย นั่ง 10 คณะ แบ่งเป็น กมธ. 2 คณะ กมธ.วิสามัญ 3 คณะ และอนุกมธ. 5 คณะ

       ขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย นั่ง 10 คณะ แบ่งเป็น กมธ. 1 คณะ กมธ.วิสามัญ 2 คณะ และอนุกมธ. 7 คณะ

       จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย นั่ง 10 คณะ แบ่งเป็น กมธ. 1 คณะ กมธ.วิสามัญ 4 คณะ และอนุกมธ. 5 คณะ

       ชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ ส.ส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย นั่ง 10 คณะ แบ่งเป็น กมธ. 2 คณะ กมธ.วิสามัญ 3 คณะ และอนุกมธ. 5 คณะ

       ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย นั่ง 11 คณะ แบ่งเป็น กมธ. 1 คณะ กมธ.วิสามัญ 6 คณะ และอนุกมธ. 4 คณะ

       อุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย นั่ง 12 คณะ แบ่งเป็น กมธ. 1 คณะ กมธ.วิสามัญ 5 คณะ และอนุกมธ. 6 คณะ

       ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม.​พรรคเพื่อไทย นั่ง 10 คณะ แบ่งเป็น กมธ. 1 คณะ กมธ.วิสามัญ 3 คณะ และอนุกมธ. 6 คณะ

162593535155

       สาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ นั่ง 14 คณะ แบ่งเป็น กมธ. 2 คณะ, กมธ.วิสามัญ 5 คณะ และ อนุกมธ. 7 คณะ

       อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ นั่ง 12 คณะ แบ่งเป็น กมธ. 2 คณะ กมธ.วิสามัญ 4 คณะ และอนุกมธ. 6 คณะ

       โกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไทย นั่ง 10 คณะ แบ่งเป็น กมธ. 1 คณะ กมธ.วิสามัญ 5 คณะ และอนุกมธ. 4 คณะ

162593573516

       นอกจากนั้น ยังพบว่ามี ส.ส.หลายคน ที่มีตำแหน่งใน กมธ.-กมธ.วิสามัญ และอนุกมธ. ไม่ต่ำกว่า 5 คณะอยู่หลายคน

       เป็นที่น่าสังเกตว่า สำหรับ ส.ส.ที่นั่ง กมธ.หลายคณะนั้น ส่วนหนึ่งเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับปัญหาประชาชนในพื้นที่ฐานเสียง เช่น ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาลุ่มน้ำ ปัญหาช้าง ปัญหาหนี้สินของครู หรือตรงกับความรู้ ความสามารถ รวมถึงมีประสบการณ์ใน กมธ.คณะนั้นๆ และมีบ้างที่ ส.ส.นั้นๆ ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจในการจัดสรรโควตากรรมาธิการ

       สำหรับการประชุมกมธ. พบว่ามีการประชุม กมธ. - อนุกมธ. และ กมธ.วิสามัญ สัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง และตลอดเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา แม้สภาฯ จะเจอปัญหาโควิด-19แพร่กระจาย ก็ยังพบข้อมูลการนัดประชุม กมธ.มากกว่า 366 ครั้ง หรือช่วงเดือนกรกฎาคม ตั้งแต่วันที่ 1 - 9 กรกฏาคม พบการนัดหมายประชุมของกมธ. อนุกมธ. กมธ.วิสามัญ รวม 115 ครั้ง

       เมื่อมาพิจารณาเรื่อง “ค่าตอบแทน” ตามพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ส.ส. ส.ว. และกรรมาธิการ พ.ศ.2555 ระบุว่า ในส่วนของ “กมธ." จะได้เบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง ๆ ละ 1,500 บาท โดยกำหนดให้ ส.ส.ได้รับเบี้ยประชุมเพียงครั้งเดียวใน 1 กมธ. แต่หากเข้าประชุม กมธ.คณะอื่นๆ จำกัดให้รับเบี้ยประชุมไม่เกิน 2 ครั้ง หรือ 3,000 บาทต่อวัน

       ส่วน "อนุกมธ.” กำหนดเบี้ยประชุมจ่ายรายครั้งๆ ละ 800 บาท และมีข้อกำหนดให้รับเบี้ยประชุมไม่เกินวันละ 2 ครั้ง หรือ 1,600 บาท ในกรณีที่อนุกมธ.นั้น มีการประชุมในคณะอนุกมธ.ฯ คณะอื่น ในวันเดียวกัน

       ดังนั้น ส.ส. 1 คน จะหารายได้จากเบี้ยประชุม ลิมิตสูงสุดต่อวันคือ 4,600 บาท

       ประเด็นที่ “ส.ส.” ค่อนแคะกันเอง และแฉว่า “อีกฝั่งไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ เซ็นชื่อมาประชุม แต่ไม่เข้าร่วม” นั้น ไม่มีเอกสารใดที่เปิดเผย เพื่อยืนยันถึงพฤติกรรมที่ว่านั้นอย่างชัดเจน

162593576649

       ดังนั้นเสียงซุบซิบนินทาใน "สัปปายะสภาสถาน" หรือสถานที่ประกอบกรรมดี ถึงพฤติกรรมทำตัวเป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดิน โดยไร้ความรับผิดชอบต่อหน้าที่สำคัญในการเข้าร่วมประชุมสภาฯ จะเป็นผู้แทนราษฎรรายใด เชื่อว่าประชาชนดูออก !