‘Rapid Antigen Test’ ไม่เท่ากับ ‘Rapid Antibody Test’ อย่าสับสน!

‘Rapid Antigen Test’ ไม่เท่ากับ ‘Rapid Antibody Test’ อย่าสับสน!

ชวนรู้ "Rapid Antigen Test" แตกต่างกับตรวจ "Antibody" พร้อมอัพเดทล่าสุด สธ. ปรับชุดตรวจเป็น "Antigen Test Kit" ให้ประชาชนใช้ "ตรวจโควิด" เองได้ง่าย ระยะแรกให้ไปตรวจที่สถานพยาบาลก่อน แต่คาดว่าจะวางขายได้ในสัปดาห์หน้า

จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ประชุมหารือในประเด็นปลดล็อก ชุด "Rapid Antigen Test" เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ตรวจโควิด-19 ได้ด้วยตัวเองนั้น ล่าสุด.. เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (12 ก.ค.) ที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงว่ากำลังดำเนินการเรื่อง "Antigen Test Kit" ให้ประชาชนใช้ตรวจเองได้แล้ว แต่ช่วงแรกนี้ ให้ไปรับการตรวจตามสถานพยาบาลใกล้บ้านก่อน ส่วนระยะต่อไปคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะวางขายตามร้านขายยาได้

โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่าต้องนำ "Rapid Antigen Test" ในปัจจุบันซึ่งสำหรับให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ นำมาปรับให้เป็นรูปแบบ "Antigen Test Kit" หรือ ATK เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานเองได้ง่าย ต่อไปนี้จะเรียกว่าเป็น Antigen Test Kit เท่านั้น เพื่อป้องกันการสับสน

สธ.เคาะปลดล็อกแล้ว แต่เชื่อว่าหลายคนอาจยังสับสนเกี่ยวกับการตรวจ "Antigen" กับการตรวจ "Antibody" ซึ่งเป็นการตรวจคนละอย่างกัน แล้วต่างกันยังไง? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

"Rapid Antigen Test" ไม่เท่ากับ "Rapid Antibody Test"

มีข้อมูลจาก อย. ระบุว่า "Rapid Test" คือชุดทดสอบอย่างง่าย และรวดเร็ว เป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 และภูมิคุ้มกัน ก่อนเข้ากระบวนการตรวจชนิดยืนยันผล (RT-PCR) จากห้องปฎิบัติการ ซึ่งมี 2 แบบ คือ

1. แบบ Antigen หรือ Rapid Antigen Test เป็นชุดตรวจที่ทราบผลเร็ว ภายใน 15 - 30 นาที ใช้ตรวจหาตัวเชื้อไวรัสโควิด เหมาะสำหรับการประเมินความชุกและการติดเชื้อเบื้องต้น (สธ.เคาะให้ใช้แบบนี้ตรวจได้เองได้แล้ว ภายในสัปดาห์หน้า) โดยตรวจผ่านการเก็บตัวอย่างด้วยการแยงจมูก ช่องคอ หรือน้ำลาย เหมือนกับการตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งการตรวจหาเชื้อไวรัส (Antigen) ต้องรับเชื้อมาแล้ว 5 - 14 วัน ถึงจะตรวจได้ผลที่แม่นยำ

2. แบบ Antibody หรือ Rapid Antibody Test ใช้ตรวจหาภูมิคุ้มกันหรือภูมิต้านทาน ซึ่งจะตรวจพบภูมิคุ้มกัน ต่อเชื้อได้ในวันที่ 10 เป็นต้นไป ตรวจโดยการเจาะเลือดที่ปลายนิ้วหรือท้องแขน

มีข้อมูลจาก นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า ชุดตรวจที่นำมาใช้ในกรณีนี้ เป็นการตรวจ Antigen คือ ตรวจตัวไวรัสหรือองค์ประกอบไวรัส ไม่ใช่การตรวจ Antibody ที่เป็นภูมิคุ้มกันหรือภูมิต้านทาน โดยจะไม่นำการตรวจแอนติบอดีมาใช้ช่วงนี้ เพราะกว่าที่ภูมิต้านทานจะขึ้นใช้เวลานาน และภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นอาจมาจากการได้รับวัคซีน ทำให้ไม่สามารถแยกผู่ป่วยจริงได้  

อีกทั้ง อย. ได้รวบรวมรายชื้อชุดตรวจโควิด-19 ที่ขึ้นทะเบียนแล้วมาให้ประชาชนได้ทราบ ได้ที่นี่ >> fda.moph.go.th (หากต้องการดูเฉพาะชุดตรวจแบบ "Rapid Antigen Test" เลื่อนดูตารางสีส้ม) 

162608081187

สธ. ปรับ "Rapid Antigen Test" ให้เป็น "Antigen Test Kit"

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จากการหารือในที่ประชุมเห็นว่าต้องนำ "Rapid Antigen Test" ในปัจจุบันซึ่งสำหรับให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ นำมาปรับให้เป็นรูปแบบ "Antigen Test Kit" (ATK) เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้งานเองได้ง่าย

ในระยะแรกใช้ในสถานพยาบาลก่อน คลินิกเอกชนใกล้บ้าน คลินิกชุมชน ประชาชนสามารถไปขอใช้บริการได้ก่อน ส่วนในระยะต่อไป จะปรับปรุงชุดตรวจให้สามารถใช้ตรวจเองได้ง่ายๆ คาดว่าในสัปดาห์หน้า จะวางขายตามร้านขายยาได้ โดยให้เภสัชกรในร้านขายยาได้เตรียมพร้อมการแนะนำถึงวิธีการใช้

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า Antigen Test Kit (ATK) ปรับใหม่จากชุดตรวจเดิมที่ต้องทำการตรวจแพทย์ แต่ตัวนี้ปรับวิธีการตรวจให้ใช้ง่ายขึ้น ซึ่งการ "ตรวจโควิด" ด้วยชุดตรวจอันนี้เป็นการคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น เพื่อแก้ปัญหาการตรวจแบบ RT-PCR ที่ต้องเข้าคิวนาน

แต่ทั้งนี้ หากผู้ป่วยที่มีอาการมากๆ แนะนำให้ไปตรวจ RT PCR เลยทีเดียว แต่ถ้าไม่มีอาการแต่สงสัยว่าสัมผัสกลุ่มเสี่ยงก็ให้ตรวจด้วยชุดนี้ได้

มีคำแนะนำเพิ่มเติม คือ หากสงสัยว่ามีโอกาสติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการใดๆเลย เบื้องต้นให้ไปที่คลินิกใกล้บ้านได้ เพื่อขอตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแบบ Antigen นี้ ทางคลินิคจะตรวจให้ก่อนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ส่วนสัปดาห์หน้าที่จะเริ่มวางจำหน่ายให้ประชาชนซื้อเองนั้น คาดว่าราคากลางไม่แพง)

หากพบว่าผลเป็น "ลบ" แปลว่าอาจยังมีเชื้อไม่มากพอก็อาจจะตรวจไม่เจอ ก็อาจจะต้องมีการตรวจซ้ำ 3-5 วัน ในกรณีไม่มีอาการ แต่ถ้ามีอาการป่วยร่วมด้วย และสงสัยว่าติดเชื้อ หากตรวจครั้งแรกแล้วผลเป็นลบ ก็ให้ตรวจซ้ำได้เลย

หากพบว่าผลเป็น "บวก" ให้รีบแจ้งศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. หรือคลินิกชุมชนใกล้บ้าน เพื่อให้เขาดำเนินการต่อในการส่งตัวเข้าระบบการดูแลรักษา ระหว่างรอ แม้ไม่มีอาการป่วยก็ต้องกักตัวเอง ป้องกันการแพร่เชื้อ แต่ถ้ามีอาการไม่ดี ต้องเร่งประสานหาเตียงและนำส่งไปที่โรงพยาบาล

162608907555

วิธีตรวจ "Antigen Test Kit" ด้วยตัวเองเบื้องต้น

นพ.ศุภกิจ แนะนำอีกว่า ชุดตรวจที่จะวางขายนั้น ต้องเป็นชุดที่ทำด้วยตัวเองได้ง่าย เช่น ไม้แยงจมูก หรือตรวจด้วยน้ำลาย ซึ่งเอกสารกำกับต้องชี้แจงให้ชัดเจน ผู้จำหน่ายก็ต้องเขียนให้ชัดเจนให้ประชาชนใช้ได้โดยง่าย ส่วนประชาชนมีคำแนะนำในการใช้งานเบื้องต้น ดังนี้

1. หากซื้อมาแล้วต้องเช็ควันหมดอายุ และต้องเก็บชุดตรวจให้ถูกวิธี อย่าให้ชุดตรวจเสื่อมสภาพ

2. การตรวจด้วยตัวเอง ต้องเตรียมสถานที่ตรวจไม่ให้ปะปนกับผู้อื่น ไม่ให้แพร่เชื้อได้

162608899833

3. ดำเนินการตรวจ ดังนี้

- เตรียมหลอดใส่น้ำยาสกัด ที่ให้มาพร้อมกับชุดตรวจ

- นำก้านไม้เก็บตัวอย่างที่ใช้ swab แหย่เข้ารูจมูก หมุน 3-4 ครั้ง แล้วค้างไว้ 3 วินาที

- นำก้านไม้ที่ swab แล้ว ใส่ในหลอดน้ำยาสกัด แล้วหมุนก้านในน้ำยา 5 รอบ

- ดึงไม้ออกจากหลอด แล้วปิดจุกฝาที่มีลักษณะเป็นหัวหยอดน้ำยา

- หยดน้ำยาที่ผสมกับสารคัดหลั่งแล้ว ลงไปที่แผ่นทดสอบ 3-5 หยด (หรือตามจำนวนที่ชุดตรวจกำหนด)

- รออ่านผลตรวจประมาณ 15-30 นาที *ห้ามอ่านผลก่อนหรือหลังเวลาที่กำหนดไว้*

- อ่านผลตรวจ >>

  • ขึ้น 2 ขีด = บวก (พบเชื้อ)
  • ขึ้น 1 ขีดที่ช่อง C = ลบ (ไม่พบเชื้อ)
  • ขึ้น 1 ขีดที่ช่อง T = ทำการตรวจผิดพลาด ต้องตรวจใหม่และใช้ชุดตรวจอันใหม่

162608899933

4. หากขึ้นผลบวกต้องไปตรวจด้วยวิธี RT-PCR เพื่อยืนยันอีกครั้ง

5. เมื่อตรวจเสร็จแล้ว อุปกรณ์การตรวจต่างๆ ต้องแยกทิ้งเป็นขยะติดเชื้อ ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนทิ้งลงถังขยะ และล้างมือให้สะอาดหลังการตรวจเชื้อ

-----------------------

อ้างอิง : 

อย.(pca.fda.moph.go.th)

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

กระทรวงสาธารณสุข แถลงแนวทางการใช้ Antigen Test Kit