ปรับสูตร! ยกเลิกซิโนแวค 2 เข็ม หันฉีด เข็ม 1 'ซิโนแวค' ต่อด้วย 'แอสตร้าฯ'
คกก.โรคติดต่อแห่งชาติ มีข้อสรุป "เลิกฉีดซิโนแวค 2 เข็ม" ปรับสูตรฉีดใหม่ เป็น "ซิโนแวค" เข็ม 1 ต่อด้วย "แอสตร้าเซนเนก้า" เข็ม 2 หวังป้องกันโควิด "สายพันธุ์เดลตา" ส่วนบุคลากรการแพทย์ด่านหน้า ให้ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า เป็นบูสเตอร์โดส
อัพเดทประเด็นการฉีดวัคซีน "ซิโนแวค" 2 เข็ม ซึ่งประสิทธิภาพการป้องกันโควิด-19 ไม่ดีนัก โดยเฉพาะกับโควิดสายพันธุ์ "เดลตา" ที่กำลังระบาดมากขึ้นในประเทศไทยนั้น ล่าสุด วันที่ 12 ก.ค.2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แถลงผ่านเฟซบุ๊ค ไลฟ์ กระทรวงสาธารณสุข ภายหลังการประชุมคณะกรรมกมารโรคติดต่อแห่งชาติ
ประเด็นหนึ่ง คือ เรื่องการปรับแผนการฉีดวัคซีน เป็นการฉีดวัคซีนแบบ "ไขว้ชนิด" ซึ่ง คณะกรรมการโรคติกต่อฯ เห็นชอบ ให้มีการฉีดวัคซีนสลับชนิด โดยเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค และเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อประสิทธิภาพ ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา ให้เพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น โดยให้โรงพยาบาลสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า
สำหรับประเด็นการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือ "บูสเตอร์โดส" สำหรับบุคลการทางการแพทย์ด่านหน้า ซึ่งส่วนใหญ่ฉีดซิโนแวคครบโดสไปแล้ว 2 เข็มนั้น ได้มีการอนุมัติให้ฉีด "เข็ม 3" ห่างจาก เข็ม 2 ในระยะ 3-4 สัปดาห์ โดยบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน 2 เข็มแรก เกิน 4 สัปดาห์แล้วจึงให้กระตุ้นได้เลย
วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันสูงและเร็วที่สุดต่อบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อจากการทำงานประจำในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งเชื้อสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์เป็นเดลตานั้น มีความจำเป็นที่จะต้องต้องบูสเตอร์โดสให้กับุคลากรทางการแพทย์ด่าหน้า เพื่อให้เกิดความมั่นใจและปลอดภัยแก่บุคลากรจะได้ดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ "บูสเตอร์โดส" ที่จะให้แก่บุคลากรการแพทย์นั้นจะเป็น "แอสตร้าเซนเนก้า" เป็นหลัก เนื่องจากมีข้อมูลวิชาการระบุว่าการให้วัคซีนคนละชนิดเป็นเข็มกระตุ้น มีผลดีต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในบุคคลเพื่อป้องกันโรคโควิด-19เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ จากการเปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 11 ก.ค.64 กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) ได้เปิดเผยกรณีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อและประวัติการรับวัคซีน ตั้งแต่ 1 เม.ย.-10 ก.ค.2564 พบว่า ในจำนวนบุคลากรการแพทย์ที่ติดเชื้อทั้งสิ้น 880 ราย มีจำนวนถึง 618 ราย ที่ติดเชื้อแม้จะได้รับวัคซีนครบ 2 โดส ซึ่งจากแนวโน้มการพบผู้ติดเชื้อในบุคลากรการแพทย์มากขึ้น จึงนำมาสู่การทบทวนเรื่องการปรับแผนการฉีดวัคซีนแก่บุคลากรทางการแพทย์ใหม่ข้างต้น