'โควิด-19' กระจาย 77 จ. เตียง รพ. ตจว. เริ่มเต็มศักยภาพ
'ศบค.' รายงานพบผู้ติดเชื้อ 'โควิด-19' กระจายครบ '77 จังหวัด' ไม่มีจังหวัดที่มีรายงานติดเชื้อเป็นศูนย์ เตียง รพ.ในต่างจังหวัด เริ่มเต็มศักยภาพ แนะเช็กต้นทางก่อนเดินทางกลับภูมิลำเนา
วันนี้ (14 ก.ค. 64) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ 'โควิด-19' (ศบค.) แถลงรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ประจำวันว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ผู้ป่วยรายใหม่ 9,317 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 334,166 ราย หายป่วยแล้ว 233,158 ราย เสียชีวิตสะสม 2,840 ราย ข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 ผู้ป่วยยืนยันสะสม 363,029 ราย หายป่วยแล้ว 260,584 ราย เสียชีวิตสะสม 2,934 ราย
“แม้ กทม. และปริมณฑลยังเป็นก้อนใหญ่ รวมถึง 10 จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ยังมีตัวเลขสูง แต่จังหวัดที่เหลืออีก 67 จังหวัดจะเห็นว่าตัวเลขไต่ขึ้นมา รายงานจากกรมควบคุมโรค สะท้อนให้เห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตต่างจังหวัด มีการเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับรายงานยอดผู้ติดเชื้อ ตอนนี้มีการกระจาย 77 จังหวัดทั่วประเทศ และจำนวนผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูงทั่วประเทศ” พญ.อภิสมัย กล่าว
- เสียชีวิต 87 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิตรายใหม่ 87 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกทม. 55 ราย ปทุมธานี 6 ราย สมุทรปราการ 1 ราย เชียงใหม่ เชียงราย กำแพงเพชร จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตาก นครพนม ระยอง สงขลา สุโขทัย สุพรรณบุรี อุดรธานี จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 44 ราย หญิง 43 ราย อายุระหว่าง 24 – 104 ปี ค่ากลางระยะเวลา ทราบผลจนถึงเสียชีวิต 7 วัน นานสุด 55 วัน มีผู้เสียชีวิตที่บ้าน 2 ราย และพบผลบวกหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย
เน้นย้ำ ใน รพ. หรือการปกครองส่วนท้องถิ่น หากแม้ว่าผู้เสียชีวิตเหล่านี้ไม่ได้เข้าสู่ระบบของ รพ. ไม่ได้รับการรักษา ขอให้รายงานยอดเสียชีวิตที่บ้านเข้ามาด้วย เพื่อนับยอดผู้ติดเชื้อรวมด้วย
- เชื้อกระจาย 77 จังหวัด
สำหรับ 10 จังหวัดติดเชื้อรายใหม่สูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 2,332 ราย สมุทรปราการ 1,006 ราย สมุทรสาคร 577 ราย ชลบุรี 513 ราย ปทุมธานี 398 ราย นนทบุรี 347 ราย ฉะเชิงเทรา 339 ราย นครปฐม 202 ราย ปัตตานี 195 ราย และ นราธิวาส 191 ราย
ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ตอนนี้การรายงานผู้ติดเชื้อกระจายครบ 77 จังหวัด ไม่มีจังหวัดที่มีรายงานติดเชื้อเป็นศูนย์ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา พื้นที่สีเข้มมากขึ้น ที่น่าสนใจ คือ 10 จังหวัดในพื้นที่ควบคุมเข้มงวด อย่าง กทม.ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้ อย่างไรก็ตาม มีอีก 6 จังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อเกิน 100 ราย ได้แก่ ชลบุรี นครราชศรีมา ฉะเชิงเทรา มหาสารคาม ศีรษะเกษ และราชบุรี
“ซึ่งจากการรายงานสอบสวนโรค พบว่า มีส่วนหนึ่งยังมีการจัดเลี้ยง รวมกลุ่ม จัดงานวันเกิด มีการติดเชื้อในแคมป์คนงาน โรงงาน ตลาด นำไปสู่ชุมชนและครอบครัว ขอเน้นย้ำ โดยเฉพาะ 6 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเกิน 100 รายในวันนี้ แม้จะไม่ได้จัดอยู่ในจังหวัดสีแดงเข้มควบคุมเข้มงวด แต่การควบคุมต้องสูงสุดเพราะรายงานผู้ติดเชื้อสูงขึ้นต่อเนื่อง”
จะเห็นว่าหลังจากการมีการเดินทางข้ามพื้นที่ ตอนนี้การติดเชื้อแพร่กระจายครบ 77 จังหวัด และจะเห็นภาพว่า ก่อนหน้านี้ มีการรับคนกลับบ้าน เพื่อไปรักษาตัว เช่น ร้อยเอ็ด จัดรถบัสรับคนไปรักษา คันหนึ่งกว่า 30 ราย เป็นต้น
- เตียง ตจว. เริ่มเต็ม
ตอนนี้ต่างจังหวัด ประกาศมาว่างเริ่มจะเต็มศักยภาพแล้ว อาจจะไม่สามารถรองรับผู้ที่เดินทางจากพื้นที่กทม.และปริมณฑล หรือสีแดงเข็ม เพื่อกลับต่างจังหวัด เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือ ดังนั้น หากตั้งใจเดินทาง กลับบ้านไปรักษาที่ รพ. หรือพื้นที่ใกล้บ้าน อาจจะต้องตรวจสอบจังหวัดปลายทางก่อนเสมอ เพราะหลายจังหวัดไม่สมารถรับกลับได้แล้ว ต้องติดต่อก่อนล่วงหน้า
รวมทั้งฝากความเป็นห่วงมาที่ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.). ที่ทำหน้าที่ด่านตรวจ เพราะผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อตอนนี้ อาจจะพบการเดินทางข้ามพื้นที่ เพื่อกลับบ้าน ไปรับการรักษา ศบค.ชุดเล็ก มีความเป็นห่วงว่าเจ้าหน้าที่อาจจะเกิดความเสี่ยง และรวมทั้ง รพ. ที่จะต้องดูแลผู้ป่วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- เช็คยา-เตียง'โควิด19'ว่างในกทม.-ตจว.
- เช็กความพร้อม ก่อน 'กลับภูมิลำเนา' กักตัว-รักษาโควิด-19
- ยอด 'โควิด-19' วันนี้ ตายสูง! พบเสียชีวิต 87 ราย ติดเชื้อเพิ่ม 9,317 ราย
- 17% ผู้ป่วยวอล์คอินมา รพ. ผลเป็นบวก
ยกตัวอย่าง พื้นที่ กทม. พบว่า กลุ่มที่วอล์คอินมา รพ. 17% เป็นผู้มีผลติดเชื้อเป็นบวก รพ.ซึ่งมีคลินิกคัดกรอง ผู้ที่อาจจะเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ประวัติเสี่ยง อาจจะมีการตรวจอย่างเข้มงวด และขอให้คงความเข้มงวดอยู่ เพราะกทม. เจอ 17% เป็นผลบวกถือว่าสูง ด้วยความเป็นห่วงความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์
- ส่งทีม CCRT 69 ทีม ดูแล 68 ชุมชน
สำหรับใน พื้นที่ กทม. มีคลัสเตรอ์เฝ้าระวัง 130 คลัสเตอร์ วันนี้มีการพูดถึงทีมเคลื่อนที่เร็วแบบเบ็ดเสร็จ Covid-19 Comprehensive Response Team (CCRT) 69 ทีม โดย 15 ก.ค. 64 จะมีทีมลงพื้นที่ครั้งแรก ประกอบด้วย ทีมจากศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักงานเขต ฝ่ายความมั่นคง NGO อาสาสมัครสาธารณสุข และ อาสาสมัครชุมชน ซึ่งตรงนี้จะระดมลงพื้นที่ 69 ชุมชน และจะทำให้มากขึ้น ให้ครบ 200 ชุมชน
สอดคล้องกับนโยบายของ ผอ. ศบค. อยากเห็นการร่วมดูแลผู้ป่วย โดยทีมที่มีการผสมผสาน ทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน และ NGO ในการดูแลผู้ป่วย เป้าหมายมีการทบทวนรายงานในช่วงวันที 15 – 17 ก.ค. โดยจะมีการายงานความคืบหน้าให้ทราบ
- ผลตรวจ Antigen test kit เป็นลบ ! ต้องตรวจซ้ำ
โดยหลักการทีมนี้จะเร่งระดมตรวจ ค้นหา ผู้ติดเชื้อในชุมชน และนำไปสู่กระบวนการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) สถานแยกกักในชุมชน (Community Isolation) จะมีการตรวจโดยใช้ Antigen test kit ลงพื้นที่ให้พี่น้องประชาชน เข้าถึงการตรวจอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว หากพบผลบวกจะมีการนำเข้าสุ่ระบบการรักษาอย่างรวดเร็ว แยกผู้ป่วยออกจากชุมชน เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ของเชื้อ
หากผลตรวจเป็นลบ อย่าพึ่งนิ่งนอนใจ เพราะการใช้ Antigen test kit อาจจะยังไม่มีความแม่นยำเพียงพอ โดยเฉพาะหากเพิ่งได้รับเชื้อในช่วง 1-2 วัน และเครื่องมือตรวจ Antigen test kit อาจจะยังไม่ไวพอที่จะตรวจเจอ ดังนั้น หากผลตรวจเป็นลบ อาจจะต้องตรวจซ้ำ ใน 3-5 วัน โดยบุคลากรที่ลงพื้นที่ จะให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ และขอความร่วมมือกับสื่อมวลชน
เพราะมาตรการ การแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) สถานแยกกักในชุมชน (Community Isolation) บางทีพี่น้องประชาชนอาจจะมีความสับสน และ Antigen test kit ใช้อย่างไร จะมีรายงานของกระทรวงสาธารณสุข เพราะการใช้เครื่องมือเหล่านี้ ต้องเน้นย้ำให้พี่น้องประชาชนปลอดภัย เพราะฉะนั้น บางเรื่องที่ยังมีข้อถกเถียงหรือยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน ต้องขออภัยด้วย เพราะต้องแน่ใจว่าเครื่องมืออุปกรณ์การตรวจจะมีมาตรฐานเพียงพอสำหรับพี่น้องประชาชน
- เร่งฉีดวัคซีน สูงวัย กทม. ให้ได้ 50%
ยอดฉีดวัคซีนวันที่ 13 ก.ค. 64 จำนวน 13,230,681 โดส โดยเน้นย้ำพื้นที่ระบาด กทม. ซึ่งมีประชากรกว่า 7.699,174 ล้านคน ฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว 3,357,841 คน คิดเป็น 43.61% เข็มที่ 2 ฉีดไป 917,624 คน คิดเป็น 11.92% ยังต้องระดมฉีดให้มากขึ้น โดย กรมควบคุมโรค ได้เน้นย้ำว่า จะมีการกระจายวัคซีนกทม. ในสัปดาห์นี้ และต้นสัปดาห์หน้า 5 แสนโดส และจะเพิ่มให้ได้ 1 ล้านโดสภายใน 2 สัปดาห์
หากดูกลุ่มเป้าหมายของ กทม. กลุ่มผู้สูงอายุ ที่เป็นนโยบายหลัก กทม. มีการฉีดวัคซีนกลุ่มสูงอายไปแล้ว 1,699,072 คน เข็มที่ 1 จำนวน 518,259 คน คิดเป็น 30.50% และ เข็มที่ 2 จำนวน 33,104 คน คิดเป็น 1.95% และบุคคลที่มีโรคประจำตัว 771,439 คน แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 340,995 คน คิดเป็น 44.20% และ เข็มที่ 2 จำนวน 50,553 คน คิดเป็น 6.55%
“อย่างที่เน้นย้ำตลอดว่า หลังการฉีดวัคซีนต้องรออย่างน้อย 2 สัปดาห์ กว่าที่ร่างกายจะเกิดภูมิคุ้มกัน ดังนั้น การเร่งระดมฉีดกลุ่มสูงอายุมากที่สุดให้ได้อย่างน้อย 50% เป็นความหวังว่าอัตราการป่วยหนักหรืออัตราตายของกทม.จะลดลง เน้นย้ำให้ผู้สูงอายุ เข้ารับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด ใน 1-2 สัปดาห์นี้”
- เดลต้า กระจาย 104 ประเทศ
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 188,580,962 ราย อาการรุนแรง 78,809 ราย รักษาหายแล้ว 172,407,437 ราย เสียชีวิต 4,065,340 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อไปว่า จะเห็นว่ายอดการติดเชื้อทั่วโลก กระโดดจาก 3 แสนกว่า เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา เพิ่มเป็น 5 แสนกว่าราย โดยประเทศ 3 อันดับแรก ประเทศที่ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด คือ บราซิล สเปน และอินโดนีเซีย ขณะทีอัตราการเสียชีวิต อันดับหนึ่ง คือ บราซิล อินโดนีเซีย รัสเซีย เพราะบราซิล เร็วๆ นี้มีการแข่งขันฟุตบอลโกปาอเมริกา ทำให้เกิดการรายงานผู้ติดเชื้อ และมีกำหนดผู้เข้าชมการแข่งขันว่าต้องมีเอกสารยืนยันการฉีดวัคซีนครบ ก็กลับพบว่ามีคนเอาเอกสารปลอมมายืนยันทำให้มีการแพร่ระบาดรุนแรง
- เพื่อนบ้านไทย ยังระบาดหนัก
สำหรับ ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 59 ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซียมีผู้ติดเชื้อ 11,079 ราย เมียนมา 4,047 ราย กัมพูชา 830 ราย เวียดนาม 2,301 ราย ในการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญพบว่า มีความเป็นไปได้ว่า จากการที่ทั่วโลกมีการกลับมาแพร่ระบาดอย่างก้าวกระโดดในหลายพื้นที่ น่าจะมาจากสายพันธุ์เดลต้า ที่มีถิ่นกำเนิดจากอินเดีย
ก่อนหน้านี้ ในไทย มีการติดเชื้อ สายพันธุ์ G ซึ่งมีต้นเนิดจากจีน ซึ่งสายพันธุ์อัลฟ่า จากอังกฤษ มีความไวกว่าสายพันธุ์ G กว่า 1.7 เท่า และขณะที่สายพันธุ์เดลต้า ก็ไวกว่าอัลฟ่า 1.4 เท่า 1 คนมีการแพร่กระจายอย่างน้อย 6 คน ดังนั้น สายพันธุ์เดลต้า เป็นคำอธิบายว่าทั่วโลกและไทย มีการติดเชื้อมากขึ้น เพราะติดง่าย แพร่ะกระจายเร็ว องค์การอนามัยโลก รายงาน 6 ก.ค. 64 ว่า สายพันธุ์เดลต้า แพร่ระบาด 104 ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย