‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘อ่อนค่า’ ที่32.82บาทต่อดอลลาร์
แนวโน้มค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ในไทย ที่ยังไม่ถึงจุดเลวร้ายสุด กดดันนักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ในไทย และการฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลก คาดเงินอ่อนค่าระยะสั้น มองกรอบเงินบาทวันนี้32.75-32.90บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.82 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.80 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.75-32.90 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า จากปัจจัยหลัก คือ ปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ในไทย โดย หากสถานการณ์การระบาดในไทยยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น และเรามองว่า จุดเลวร้ายสุดของการระบาดยังมาไม่ถึง ทำให้ เราคงประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติก็ยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย ซึ่งแรงเทขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติยังคงกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้
ขณะเดียวกัน การอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาท อาจทำให้ผู้นำเข้าต้องรีบกลับเข้ามาแลกซื้อเงินดอลลาร์ หรือ สกุลเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนที่ผู้นำเข้ามักจะมีภาระจ่ายเงินออกเป็นสกุลเงินดอลลาร์หรือสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมจากบรรดาผู้นำเข้าที่เร่งเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์หรือสกุลเงินต่างประเทศ จะทำให้โดยรวมค่าเงินบาทยังมีแนวรับที่สำคัญอยู่ในโซน 32.70-32.80 บาทต่อดอลลาร์
ขณะที่แนวต้านสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่รอทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ ดังนั้น ค่าเงินบาทอาจผันผวนในกรอบที่กว้างขึ้นจากเดิมได้
นอกจากนี้ ปัญหาการระบาด โควิด-19 ทั่วโลก ที่กดดันแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจ ยังคงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องระวังเพราะหากผู้เล่นในตลาดเริ่มกังวลมากขึ้น เงินดอลลาร์ก็ยังสามารถแข็งค่าขึ้นต่อได้ จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Asset) ทำให้ เงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในระยะสั้นนี้
แม้ว่า ผู้เล่นในตลาดจะความกังวลปัญหาการระบาดของโควิด -19 ทั่วโลก ทว่า ความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรวมถึง แนวโน้มผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่อาจออกมาแข็งแกร่ง ได้หนุนให้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนกล้าที่จะเข้าไปซื้อสินทรัพย์เสี่ยง หลังจากที่ตลาดการเงินปรับฐานไปในวันก่อน หรือ Buy on Dip โดยในฝั่งสหรัฐฯดัชนี Dowjones พลิกกลับมาปิดตลาด +1.62% หนุนโดยกาปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวขึ้นราว +1.52% เช่นกัน ขณะที่ หุ้นในกลุ่มเทคฯ ก็รีบาวด์ขึ้นเช่นกัน หลังบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 1.20% ขณะที่ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังรายงานผลการดำเนินงานของหุ้นกลุ่มเทคฯ ที่อาจขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ ดัชนี Nasdaq ปิดบวกราว +1.57%
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป รีบาวด์ขึ้น +0.71% จากแรงซื้อหุ้น Buy on Dip เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯโดยผู้เล่นในตลาดกลับมาทยอยซื้อหุ้นในกลุ่ม Cyclical คืน หนุนให้ หุ้นเกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินรีบาวด์กลับขึ้นมาบ้าง Safran +2.82%, Airbus +2.34%ส่วนหุ้นกลุ่มการเงินก็รีบาวด์เช่นกัน ท่ามกลางความหวังว่า งบการเงินในไตรมาสที่ 2 จะออกมาสดใส Intesa Sanpaolo +1.94%, BNP Paribas +1.89% ซึ่งภาพดังกล่าว สอดคล้องกับมุมมองของเรา ที่เชื่อว่า การปรับฐานหุ้นยุโรปเป็นเพียงแค่การปรับฐานในระยะสั้น เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงแนวโน้มผลกำไรหุ้นยังสามารถขยายตัวได้ดี ทำให้หุ้นยุโรปจะกลับมาปรับตัวขึ้นต่อได้ไม่ยาก
ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ ยังไม่ค่อยมั่นใจต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ บอนด์ยีลด์10ปี สหรัฐฯยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 1.22% ซึ่งเรามองว่า ภาพดังกล่าว สอดคล้องกับทิศทางของเงินดอลลาร์ที่ยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven asset) เพื่อหลบความผันผวนของตลาดในระยะสั้น โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 92.97 จุด กดดันให้สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) ทรงตัวที่ระดับ 1.178 ดอลลาร์ต่อยูโร เช่นเดียวกับ เงินปอนด์ (GBP) ที่ยังอยู่ ณ ระดับ1.363 ดอลลาร์ต่อปอนด์
สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในฝั่งเอเชีย ผ่านการติดตามทิศทางยอดการส่งออกและยอดการนำเข้า โดยเรามองว่า แม้ว่าปัญหาการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จะส่งผลให้เศรษฐกิจในฝั่งเอเชียมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะสั้น อย่างไรก็ดี การส่งออกที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจะยังคงเป็นเครื่องยนต์สำคัญต่อการเติบโตเศรษฐกิจเอเชีย ตามภาพเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยในเดือนมิถุนายน ยอดการส่งออก(Exports) ของญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะโตกว่า 40%y/y หนุนโดยความต้องการสินค้าเทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง ยานยนต์และชิ้นส่วน เช่นเดียวกันกับในฝั่งไทย ภาคการส่งออกยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย โดยในเดือนมิถุนายน ยอดการส่งออก (Exports) อาจจะโตกว่า 38%y/y หนุนโดยความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์, แผงวงจร IC, ยานยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงสินค้าเกษตร ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) ก็มีแนวโน้มขยายตัวกว่า 50%y/y ตามราคาสินค้าพลังงานที่อยู่ในระดับสูงและความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตและส่งออกต่อ ทั้งนี้ โดยรวมดุลการค้า (Trade Balance) ยังคงเกินดุลไม่น้อยกว่า 540 ล้านดอลลาร์
นอกเหนือจากรายงานยอดส่งออก ตลาดจะติดตามสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 ที่ยังมีความรุนแรงอยู่ ซึ่งปัญหาการระบาดในหลายพื้นที่ทั่วโลกจะยังคงกดดันมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกทำให้ผู้เล่นในตลาดไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเต็มที่ อย่างไรก็ดี เรามองว่า รายงานผลประกอบการขอบริษัทจดทะเบียนที่เริ่มกลับมาเป็นที่สนใจของบรรดาผู้เล่นในตลาด อาจพอช่วยพยุงให้ตลาดไม่ได้ปรับฐานรุนแรงมากนักจากความกังวลปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ทั้งนี้ ความรุนแรงรวมถึงระยะเวลาของการปรับฐานอาจขึ้นกับสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 ในแต่ละภูมิภาค