ประกาศ ประมวล 'จริยธรรม' สำหรับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล

ประกาศ ประมวล 'จริยธรรม' สำหรับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ประมวล "จริยธรรม" สำหรับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประมวลจริยธรรมสำหรับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ความว่า โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 76 วรรคสาม บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้น ๆ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว และพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 มาตรา 5 ได้กำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติอย่างมีคุณธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อใช้เป็นหลักสำคัญในการจัดทำประมวลจริยธรรมของหน่วยงานของรัฐ

เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น อาศัยอำนาจตามมาตรา 6 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 ระเบียบคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม ว่าด้วยหลักกณฑ์การจัดทำประมวลจริยธรรม ข้อกำหนดจริยธรรม และกระบวนการรักษาจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2563 ประกอบกับมติที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม (ก.ม.จ.) ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 มีมติให้กรมการปกครองในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน จัดทำประมวลจริยธรรมสำหรับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนันและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการประพฤติปฏิบัติตน ดังนี้ 

ข้อ 1 ประมวลจริยธรรมสำหรับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2 กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน พึงปฏิบัติตนเพื่อรักษาจริยธรรม ดังต่อไปนี้

1. ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประกอบด้วย

  • เคารพและเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ แสดงออกถึงความภูมิใจในชาติและรักษาผลประโยชน์ของชาติ ปฏิบัติตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ เคารพในความแตกต่างของการนับถือศาสนา
  • ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยมีจิตสำนึกความเป็นประชาธิปไตย และดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง ทั้งในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และระดับท้องที่
  • สนับสนุนการปฏิบัติงานของส่วนราชการ องค์กรอิสระหรือองค์กรที่รับผิดชอบในการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม ตามที่กฎหมายกำหนด

 2. ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่ ประกอบด้วย

  • ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ตรงไปตรงมาตามกฎหมาย และตามทำนองคลองธรรม โปร่งใส เปิดเผยข้อมูล และตรวจสอบได้ ไม่แสดงออกถึงพฤติกรรมที่มีนัยเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐได้โดยไม่ต้องร้องขอ
  • มีจิตสำนึกที่ดีโดยคำนึงถึงประเทศชาติ สังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
  • ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบ รับผิดชอบในสิ่งที่ได้กระทำ มีความพร้อมรับการตรวจสอบ และพร้อมที่จะแก้ไขเมื่อเกิดข้อบกพร่อง

3. ยึดมั่นในอุดมการณ์นักปกครอง กล้าตัดสินใจและยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม ประกอบด้วย

  • ยึดมั่นในอุดมการณ์นักปกครอง มุ่งมั่นบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อให้ประชาชนทุกข์น้อยลง และสุขมากขึ้น ด้วยความจริงใจ เสียสละ ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติงาน
  • ยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง กล้าคัดค้านในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ยอมกระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม กล้าเปิดเผยหรือรายงานการทุจริตประพฤติมิชอบต่อผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ

4. คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และมีจิตสาธารณะ ประกอบด้วย

  • แยกเรื่องส่วนตัวออกจากตำแหน่งหน้าที่ และยึดถือประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ เหนือกว่าประโยชน์สวนตน
  • ละเว้นจากการแสวงประโยชน์ที่มิชอบโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่และไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม
  • มีจิตสาธารณะ เสียสละ ร่วมแรงร่วมใจดูแลรักษาสาธารณสมบัติ เพื่อประโยชน์ของหมู่บ้าน ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

 

5. มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน ประกอบด้วย

  • ปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ของงาน อย่างมีวิสัยทัศน์ มีประสิทธิภาพ คุณภาพ รวดเร็วทันต่อเวลาและสถานการณ์ คำนึงถึงประโยชน์และความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรของประเทศชาติ
  • ปฏิบัติงานเชิงรุกเข้าถึงประชาชนและพื้นที่ โดยศึกษางานที่รับผิดชอบให้เกิดความเข้าใจชำนาญอย่างถ่องแท้ และปฏิบัติงานโดยไม่จำกัดเวลา สถานที่ และเงื่อนไขอื่นใด
  • ปรับปรุงกระบวนการทำงาน วิธีการทำงาน  และใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม

6. ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ ประกอบด้วย

  • เคารพและให้เกียรติประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาค เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมกันของบุคคล

 

  • ให้บริการและช่วยเหลือประชาชน ที่มาติดต่อขอรับบริการอย่างเท่าเทียมด้วยความสุภาพ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี

7. ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ ประกอบด้วย

  • ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี สร้างความเชื่อถือศรัทธาแก่ประชาชน ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ตามหลักคุณธรรม 4 ประการ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  หลักศาสนา และวิถีวัฒนธรรมมาใช้ในการปฏิบัติงานและดำเนินชีวิต
  • มีความเป็นผู้นำ และเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม

8. เสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาตนเอง หมู่บ้าน ชุมชน และประชาชน ประกอบด้วย

  • ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพและขีดความสามารถในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
  • พัฒนาหมู่บ้าน ชุมชน และประชาชน โดยคำนึงถึงพื้นฐานทางขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิสังคม ภูมิปัญญาในท้องถิ่น และความสอดคล้องกับปัญหาในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน