‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘อ่อนค่า’ ที่32.85 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’ วันนี้เปิด‘อ่อนค่า’ ที่32.85 บาทต่อดอลลาร์

แนวโน้มค่าเงินบาทยังอ่อนค่า จากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในไทยที่ยังไม่ถึงจุดเลวร้ายสุด กดดันนักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ในไทย แต่หากตลาดคลายกังวลไม่ต้องถือสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างดอลลาร์ เงินบาทไม่น่าอ่อนค่าเร็วทะลุ33บาทต่อดอลลาร์ ยังมองกรอบเงินบาทวันนี้32.75- 32.90บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.85 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อย

จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.84 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.75-32.90 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรายังมองไม่เห็นโอกาสที่เงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าได้ในเร็วนี้ เนื่องจากปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ในไทยยังมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น และเรามองว่า จุดเลวร้ายสุดของการระบาดยังมาไม่ถึง ทำให้ เราคงประเมินว่า นักลงทุนต่างชาติก็ยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้นไทย ซึ่งแรงเทขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติยังคงกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้

อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นนี้ หากตลาดคลายกังวล ปัญหาการระบาดโควิด-19 ทั่วโลก ก็อาจทำให้ เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดไม่จำเป็นต้องถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Asset) เพื่อหลบความผันผวนในตลาดซึ่งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ก็อาจทำให้ เงินบาทไม่อ่อนค่าหนัก ทะลุ 33 บาทต่อดอลลาร์ได้เร็ว

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการมีความไม่มั่นใจต่อแนวโน้มค่าเงิน เรามองว่า ควรใช้จังหวะที่ความผันผวนของเงินบาทไม่ได้สูงมาก หลังจากที่เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่ไม่กว้างนัก ในการพิจารณาใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงค่าเงินที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ Options เพื่อช่วยให้การบริหารความเสี่ยงมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ความหวังแนวโน้มผลประกอบการบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่อาจออกมาแข็งแกร่งและดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ได้หนุนให้ ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าทยอยซื้อสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น (Buy on Dip) โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี Dowjones ปิดตลาด +0.83% หนุนโดยกาปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวขึ้นราว +0.82% เช่นกันขณะที่ หุ้นในกลุ่มเทคฯ ก็ปรับตัวขึ้นจากแนวโน้มผลประกอบการที่อาจเติบโตได้ดีมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หนุนให้ ดัชนี Nasdaq ปิดบวกราว +0.92%

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็ปรับตัวขึ้น +1.78% โดยได้รับแรงหนุนจากความหวังรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้เล่นในตลาดกลับมาทยอยซื้อหุ้นในกลุ่มCyclical คืน หนุนให้ หุ้นเกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินปรับตัวขึ้น Safran +4.55%, Airbus +4.38% นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มการเงินก็ปรับตัวขึ้นรับแนวโน้มผลกำไรออกมาดีโดดเด่น เช่นกัน Santander +3.91%, BNP Paribas +3.15% ซึ่งภาพดังกล่าว สอดคล้องกับมุมมองของเรา ที่เชื่อว่า การปรับฐานหุ้นยุโรปเป็นเพียงแค่การปรับฐานในระยะสั้น เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงแนวโน้มผลกำไรหุ้นยังสามารถขยายตัวได้ดี ทำให้หุ้นยุโรปจะกลับมาปรับตัวขึ้นต่อได้ไม่ยาก

ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มทยอยขายทำกำไรการถือครองบอนด์ระยะยาวออกมาบ้าง ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย 4bps สู่ระดับ ยังคงทรงตัวใกล้ระดับ1.28% นอกจากนี้ ภาพของตลาดการเงินที่กังวลต่อปัญหาการระบาดของโควิด-19 ลดลง ได้ทำให้ ผู้เล่นในตลาดมีความต้องการถือเงินดอลลาร์ เพื่อหลบความผันผวนลดลงตามด้วย ส่งผลให้ เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก  โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 92.80 จุด หนุนให้สกุลเงินหลัก อาทิเงินยูโร (EUR) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.179 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนเงินเยน (JPY) ก็กลับมาอ่อนค่าลงสู่ ระดับ 110.2 เยนต่อดอลลาร์

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยตลาดมองว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.5 แสนราย ต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤติโควิด-19

ส่วนทางด้านฝั่งยุโรป เรามองว่า ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 ทั่วยุโรปที่ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นรวดเร็ว จะส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประเมินว่า นโยบายการเงินยังมีความจำเป็นที่จะต้องผ่อนคลายต่อไป เพื่อช่วยพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเรามองว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate ไว้ที่ระดับ-0.50% พร้อมกับ เดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการทำคิวอีต่อไป ทั้งนี้ เรามองว่า ECB ก็มีโอกาสทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ในปีหน้า ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง หนุนโดยการลงทุนขนานใหญ่ผ่าน EU Recovery fund ที่จะเริ่มทยอยเบิกจ่ายและลงทุนได้ในไตรมาสที่ 3 นี้

และในฝั่งเอเชีย ปัญหาการระบาดของ COVID-19 จะทำให้บรรดาธนาคารกลางส่วนใหญ่ในเอเชียเลือกที่จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดย เรามองว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (7-Day Reverse Repo) ไว้ที่ระดับ 3.50% สอดคล้องกับการปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปีนี้เหลือ +3.8% อย่างไรก็ดี เรามองว่า BI มีแนวโน้มทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ในครึ่งหลังปีหน้า หากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจและการประชุมธนาคารกลางดังกล่าว ตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการขอบริษัทจดทะเบียนที่เริ่มกลับมาเป็นที่สนใจของบรรดาผู้เล่นในตลาด อาจพอช่วยพยุงให้ตลาดไม่ได้ปรับฐานรุนแรงมากนักจากความกังวลปัญหาการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ความรุนแรงรวมถึงระยะเวลาของการปรับฐานอาจขึ้นกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในแต่ละภูมิภาค