ปิดตำนานรถไฟฟ้า 14 ปี 2 ส.ค.นี้เปิดนั่งสายสีแดง

ปิดตำนานรถไฟฟ้า 14 ปี  2 ส.ค.นี้เปิดนั่งสายสีแดง

อีกหนึ่งโครงข่ายระบบรางที่ประชาชนคุ้นตา และรอคคอยการใช้บริการมานาน รถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต และบางซื่อ - ตลิ่งชัน

เพราะหากนับจากจุดสตาร์ทโครงการ ตั้งแต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดำเนินการในปี 2550 ขณะนี้ก็รวมระยะเวลามากว่า 14 ปี

โดยไทม์ไลน์สำคัญของรถไฟชานเมืองสายสีแดง

22 พ.ค. 2550 ครม.มีมติ ให้ ร.ฟ.ท. ดำเนินโครงการ เนื่องจากเป็นโครงข่ายที่เชื่อมต่อกันที่สถานีรถไฟบางซื่อ โดยกำหนดให้ช่วงบางซื่อ-รังสิต มีการนำเสนอ ครม.พิจารณาอีกครั้ง เมื่อแบบรายละเอียดแล้วเสร็จส่วนช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ให้ ร.ฟ.ท.ประกวดราคางานโยธา งานวางราง งานรื้อย้าย และงานก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟ ได้ในทันที (ไม่รวมงานระบบไฟฟ้าเครื่องกล)

16 ต.ค.2550 ครม.อนุมัติให้ ร.ฟ.ท. ดำเนินโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ภายใต้กรอบวงเงิน 59,888 ล้าบาท (ประกอบด้วย งานโยธา งานระบบไฟฟ้าเครื่องกล ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ไม่รวมการจัดซื้อขบวนรถ) โดยรัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งสิ้น และให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินการประกวดราคาได้ทันทีเมื่อแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ

18 มิ.ย.2551 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการปรับแบบรายละเอียดระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต รวมสถานีรถไฟบางซื่อ

4 ก.ค.2551 องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation : JICA) ได้ลงนามบันทึกข้อหารือ ร่วมกันระหว่างสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง (สบน.) และ ร.ฟ.ท. นำไปสู่การจัดหาแหล่งเงินกู้

12 ธ.ค.2551 ร.ฟ.ท.ดำเนินการประกวดราคางานในช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และลงนามในสัญญาก่อสร้าง ภายใต้กรอบวงเงิน 8,748.4 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี

16 ธ.ค. 2551 ร.ฟ.ท. ได้หารือกับ JICA และ สบน. ได้ข้อสรุปว่าให้ ร.ฟ.ท. ประกวดราคางานระบบไฟฟ้าเครื่องกล และงานจัดหาตู้รถไฟฟ้าของช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ไปพร้อมกัน

4 มี.ค. 2556 ร.ฟ.ท.เริ่มดำเนินการก่อสร้างรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต หลังได้รับความช่วยเหลือด้านเงินกู้ JICA ดำเนินการประกวดราคาจนได้ผู้รับจ้างในสัญญาที่ 1 และ 2 รวมทั้งที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง และที่ปรึกษาบริหารโครงการ ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี

           

อย่างไรก็ดี จากไทม์ไลน์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง เริ่มติดเครื่องงานก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ในช่วงปี 2551 และมาแล้วเสร็จในปี 2555 แต่ด้วยเงื่อนไขของการกำหนดประกวดราคางานระบบไฟฟ้าเครื่องกล และงานจัดหาตู้รถไฟฟ้าของช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ไปพร้อมกัน ทำให้ส่วนของรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน กลายเป็นสัญลักษณ์ของโครงการที่ไม่สามารถเปิดใช้ได้มากว่า 8 ปี

จนกระทั่ง ร.ฟ.ท.ได้ผลักดันงานโยธาส่วนของช่วงบางซื่อ-รังสิต ในปี 2556 และสัญญาอื่นๆ มาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับสัญญางานระบบไฟฟ้าเครื่องกล และงานจัดหาตู้รถไฟฟ้า ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ มีกิจการร่วมค้า MHSC (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd. บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) เป็นคู่สัญญา นำส่งขบวนรถไฟจากญี่ปุ่นมาถึงประเทศไทย ทดสอบระบบ และเตรียมเปิดทดลองให้ประชาชนใช้บริการฟรีในวันที่ 2 ส.ค.นี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า ในวันที่ 2 ส.ค.นี้ กระทรวงคมนาคม จะจัดพิธีเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน (Soft Opening) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งจะเป็นพิธีเปิดในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข

อย่างไรก็ดี กระทรวงฯ จะเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการฟรีประมาณ 3 เดือน (ส.ค.-ต.ค.2564) ก่อนจะเปิดให้บริการแบบเก็บค่าโดยสารในเดือน พ.ย.นี้ โดยในการให้บริการนั้นจะต้องอยู่ภายใต้มาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนประกาศของกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เรื่อง มาตรการพึงปฏิบัติการจัดการระบบขนส่งทางราง ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ฉบับที่ 11 ด้วย เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวก และความปลอดภัย  

“ตอนนี้กระทรวงฯ เตรียมความพร้อมในทุกด้านแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของขบวนรถไฟฟ้าที่จะให้บริการ ซึ่งที่ผ่านมาการรถไฟฯ ได้ทดสอบเดินรถทั้ง 2 เส้นทางอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการฝึกซ้อมเพื่อรับมือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ ซึ่งพบว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย  และพร้อมแล้วที่จะเปิดให้ประชาชน”