คร. ย้ำ ไล่ลูกจ้าง 'ติดเชื้อโควิด' ออก อาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. โรคติดต่อ
กรมควบคุมโรค แนะ เจ้าของบ้าน หอพัก สถานประกอบการ พบผู้ติดเชื้อโควิด 19 ให้รีบแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ โดยเร็ว ย้ำ ผู้ประกอบการไล่ลูกจ้าง 'ติดเชื้อโควิด' ออก ผิดพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558
วันนี้ (25 กรกฎาคม 2564) นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าวปรากฏในสื่อออนไลน์ ว่ามีลูกจ้างคนหนึ่งถูกนายจ้างไล่ออกจากงานและที่พัก พร้อมภรรยาและบุตร หลังไปแจ้งผลการตรวจพบเชื้อโควิด เพื่อให้นายจ้างได้รับทราบ เพราะกลัวผู้ร่วมงานติดเชื้อด้วย นั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า การไล่ผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยโควิด 19 จะทำให้เกิดผลเสีย และอาจเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เนื่องจากอาจทำให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายออกไปในวงกว้างยากต่อการควบคุมโรค
อาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ หากพบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคโควิด 19 ให้เจ้าของ บ้านเช่า หอพัก หรือเจ้าของสถานประกอบการ รีบแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งอาจเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ปฏิบัติงาน ในพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทราบและเริ่มการสอบสวนควบคุมโรคโดยเร็ว ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนทุกคนร่วมมือกันปฏิบัติตาม และร่วมกันเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐ เพื่อช่วยให้ผู้ติดเชื้อไม่ว่าจะมีอาการป่วยปรากฏแล้วหรือยังไม่มีอาการก็ตาม ได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐาน มีความปลอดภัย และลดโอกาสแพร่เชื้อต่อไปยังผู้อื่น
"ตามพ.ร.บ. พ.ศ.2558 ม.34 เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรค เมื่อเกิดโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระราดหรือมีเหตุสงสัยว่าได้เกิดโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดในเขตพื้นที่ใด ให้เจ้าหน้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่นั้น มีอำนาจดำเนินการเองหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ดำเนินการ ตาม วรรค 7 ห้ามผู้ใดเข้าไปหรือออกจากที่เอกเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจพง.โรคติดต่อ (ม.52) ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
- ผู้ดูแลบ้าน - สถานประกอบการ ต้องแจ้งเรื่องอย่างไร
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการแจ้งข้อมูลต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เมื่อพบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคโควิด 19 ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558
กรณีที่ผู้แจ้งเป็นเจ้าบ้านหรือเป็นผู้ควบคุมดูแลบ้าน ให้แจ้งชื่อที่อยู่ของตนเอง ความสัมพันธ์กับผู้ที่ป่วยหรือสงสัยว่าป่วยเป็นโรคติดต่ออันตราย พร้อมแจ้งชื่อ อายุ เพศ สัญชาติ ที่อยู่ปัจจุบันของผู้ป่วย แจ้งวันเริ่มป่วย และอาการสำคัญที่ปรากฏด้วย
ในกรณีที่เป็นเจ้าของหรือผู้ควบคุมสถานประกอบการ ให้แจ้งชื่อ ที่อยู่ สถานที่ทำงานของตนเอง แจ้งความสัมพันธ์กับผู้ที่ป่วย แจ้งชื่อ อายุ เพศ สัญชาติ ที่อยู่ปัจจุบัน และอาการสำคัญของผู้ป่วยด้วย โดยสามารถแจ้งข้อมูลดังกล่าวไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือสำนักอนามัย กทม. หรือสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค หรือโรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน
- การ 'หาเตียง' ให้ 'ผู้ป่วยโควิด'
ส่วนการหาเตียงให้ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยที่มีหลักประกันสุขภาพ ติดต่อกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) โทร. 1330 หรือกรณีเป็นผู้ประกันตน แจ้งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) โทร. 1506 จะมีเจ้าหน้าที่ประเมินอาการเบื้องต้น ถ้ามีอาการไม่รุนแรง จะแนะนำให้แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ก่อน โดยจะจัดส่งชุดเวชภัณฑ์ดูแลรักษาโรคเบื้องต้นไปให้ที่บ้าน
- ไม่สามารถแยกกักที่บ้าน ต้องทำอย่างไร
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยไม่สามารถแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ได้ เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจขั้นยืนยันผลด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง หากผลเป็นบวกหรือติดเชื้อ จะทำการส่งตัวเข้าศูนย์พักคอย (Community Isolation) เพื่อให้ผู้ป่วยเข้ามาอยู่ในความดูแลของบุคลากรทางการแพทย์และรับยาได้ทันที
โดยในส่วนของศูนย์พักคอยฯ จะมีใบยินยอม (consent form) ให้ผู้ป่วยกรอกรายละเอียดข้อมูลก่อนเข้ารับการรักษาในศูนย์พักคอย หรือในกรณีที่ผู้ป่วยเดินทางไปตรวจที่หน่วยบริการ ซึ่งทำการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit แล้วมีผลเป็นบวกที่แสดงว่าติดเชื้อ จะทำการส่งตัวเข้าศูนย์พักคอยก่อน โดยไม่ต้องรอผลตรวจตรวจ RT-PCR ระหว่างนี้ให้แยกอยู่ไม่ปะปนกับผู้ป่วยยืนยันรายอื่นๆ
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้จัดเตรียมศูนย์พักคอย เพื่อรองรับผู้ป่วยตามนโยบายของ ศบค. โดยมีเป้าหมายกำหนดให้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมี 50 สำนักงานเขต ต้องมีเขตละ 1 ศูนย์ ศูนย์ละ 100 เตียง และหากเป็นไปได้ บางเขตมีได้ 2 ศูนย์ ซึ่งจะได้เตียงผู้ป่วยเพิ่มอีก 5,000 เตียง หรือหากทุกเขตใน กทม. มี 2 ศูนย์พักคอยในแต่ละเขต เราจะได้เตียงผู้ป่วยเป็น 10,000 เตียง ซึ่งตอนนี้ กทม.เปิดศูนย์พักคอยรองรับแล้ว 49 เขต ในพื้นที่ 47 เขต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทร.0 2245 4964