ฝ่าวิกฤติ 'โควิด-19' ขยาย 'รพ.สนาม' และ 'บับเบิล แอนด์ซีล'

ฝ่าวิกฤติ 'โควิด-19' ขยาย 'รพ.สนาม' และ 'บับเบิล แอนด์ซีล'

เมื่อการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยโควิดจากสีเขียว เป็นสีเหลือง และกลายเป็นสีแดงอย่างรวดเร็วจนระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว 'รพ.สนาม' และ 'บับเบิล แอนด์ซีล' จึงเป็นแนวทางสำคัญในการลดการระบาดและรุนแรงของโรค

สถานการณ์วันนี้ยังติดเชื้อมาก โดยเฉพาะพื้นที่ระบาดหนัก ในพื้นที่ระบาดติดเชื้อมากสอบสวนหลายกรณี ไม่สามารถตรวจสอบต้นตอของเชื้อได้ว่าติดเชื้อจากใคร ล่าสุดในพื้นที่กทม.ปริมณฑลพบว่าผู้เสียชีวิต 65 คนอาศัยในพื้นที่ระบาดสอบสวนหาต้นตอติดเชื้อไม่ได้และมีการกระจายของผู้ติดเชื้อไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั้งโครงการกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนา หรือกลับไปโดยไม่ทราบ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมาศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด – 19 เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางการดำเนินการควบคุมโรคและ ตรวจเชิงรุกในลักษณะที่เป็นกลุ่มก้อน อาทิ ในโรงงานและสถานประกอบการต่าง ๆควรพิจารณาให้การรักษาผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยภายในสถานพยาบาลของโรงงานเพื่อลดภาระของโรงพยาบาลทั่วไป

162740622279

  • พบผู้ป่วยต้องทำอย่างไร

กรณีพบว่ามีแรงงานที่เป็นคนไทยมีอาการหนัก จะประสานให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ในส่วนของแรงงานต่างด้าวกำหนดให้ใช้แนวทางการกักตัวภายในโรงงาน (Factory quarantine) เพื่อให้การรักษา โดยโรงงานขนาดใหญ่ที่มีแรงงาน 50 คนขึ้นไปจะมีสถานพยาบาลอยู่ภายในโรงงานซึ่งสามารถให้การรักษาและแยกส่วนโรงงานให้เป็นสถานที่กักตัว (Factory quarantine) ได้ 

ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยเป็นจำนวนมากในโรงงาน จำเป็นต้องดำเนินมาตรการการควบคุมการเดินทางระหว่างที่ทำงานกับที่พักอาศัยของแรงงาน และการควบคุมไม่ให้แรงงานออกไปนอกพื้นที่ (Bubble and Seal) ภายในโรงงานควบคู่ไปกับการปูพรมตรวจคัดกรองด้วย เครื่องมือ Antigen Test Kit โดยแยกกลุ่มผู้ป่วยในโรงงาน และเพื่อให้โรงงานสามารถดำเนินกิจการไปได้ และขอให้กรุงเทพมหานคร ประสานการเคหะแห่งชาติเพื่อพิจารณาสถานที่รองรับผู้ป่วยเพิ่มเติม

ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ กระทรวงมหาดไทยได้จัดเตรียมสถานที่เพื่อรองรับการส่งต่อผู้ป่วยใหม่ โดยได้ผลักดันมาตรการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation: HI) และเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงให้สอดคล้องกับสถานการณ์และมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข

162740622224

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

กรณีที่พักอยู่ที่เดียวกับสถานที่ทำงาน ให้จัดหาที่พักให้แก่พนักงาน และจัดให้มีอาหารครบ 3 มื้อ จัดทำทะเบียนและแผนผังที่พักของพนักงานเพื่อใช้สำหรับการติดตามรวมทั้งกำหนดผู้ควบคุมแต่ละหอพักที่มีพนักงานของโรงงาน โดยมีแผนการลงทะเบียนเข้า – ออกหอพักโดยใช้ QR code รายงาน      

“นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์”  ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค  กล่าวว่าสถานการณ์ภาพรวมทุกจังหวัดมีรายงานติดเชื้อทุกจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกก็มีรายงานติดเชื้อค่อนข้างมาก กระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือ โรงงานและสถานประกอบการรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าฯ แรงงานจังหวัด ต้องเร่งสื่อสาร โรงงานไหนยังไม่พบผู้ติดเชื้อให้เร่งศึกษาการควบคุมโรคแบบ 'บับเบิล แอนด์ซีล'  เตรียมความพร้อมทั้งหมด และหากโรงงานที่พบผู้ติดเชื้อแล้ว เน้นไม่ปิดโรงงาน และป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ชุมชน โดยต้องแยกกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เช่น มีโรคประจำตัว หรือหญิงตั้งครรภ์ หรือกลุ่มมีความเสี่ยงอื่นๆ

โดยต้องแยกกลุ่มออกจากกัน จัดหาเตียงสนาม/ห้องแยกกัก เป็นต้น การไม่ปิดโรงงาน เพราะมีประสบการณ์ คือ เมื่อปิดโรงงาน หลังจากนั้นการแพร่ระบาดในชุมชนจะตามมาทันที แต่การไม่ปิดโรงงาน สิ่งสำคัญต้องแยกผู้ติดเชื้อให้ได้ จัดระบบควบคุมกำกับ อย่างการเดินทาง หากไปเช้าเย็นกลับต้องมีระบบมั่นใจว่า จะไม่สัมผัสผู้อื่น ที่สำคัญขอให้พักในโรงงานดีที่สุด และต้องไม่กินข้าวร่วมกันในโรงงาน เพราะตรงนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงมาก

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่าสถานการณ์เตียงในรพ.ตอนนี้ในกลุ่มสีเหลืองและสีแดงวิกฤตมาก ในส่วนของ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ อย่าง โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลนพรัตน์ฯ เตียงสีแดงเต็มตลอด ส่วนห้องฉุกเฉินจะมีคนไข้ที่เป็นสีแดงรออยู่เป็นจำนวนมาก ล่าสุดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร “เพิ่มเตียงสีเหลือง” รพ.หลัก 188 เตียงรพ.สนาม 1,665 เตียงฮอสพิเทล 103 เตียง ศูนย์พักคอย 986 เตียงรวม 2,942 เตียง “เพิ่มเตียงสีแดง” 20 เตียง

162740578532

  • รพ.สนาม บีดีเอ็มเอส รับผู้ป่วย 100 เตียง

"พญ. เมธินี ไหมแพง" รองประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม1 BDMS และผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผยว่า BDMS ได้เข้าไปปรับปรุงพื้นที่ อาคารสถานที่จากกองทัพอากาศ เพื่อ วางระบบโรงพยาบาลสนามบีดีเอ็มเอส สนามกีฬา ทอ. (ธูปะเตมีย์)พร้อม อุปกรณ์ทางการแพทย์จัดทีมบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นตามสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้โรงพยาบาลต่างๆ ไม่สามารถจัดสรรเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้เพียงพอ

โดยโรงพยาบาลสนามบีดีเอ็มเอส สนามกีฬา ทอ. (ธูปะเตมีย์) พร้อมรองรับผู้ป่วย โควิด-19 ได้จำนวน 100 เตียง โดยรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงปานกลาง ผ่านทีมแพทย์ของโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง” มีระบบอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกแล้ว BDMS ยังได้นำหุ่นยนต์อัจฉริยะ (เฮลท์ตี้บอท) จำนวน 5 ตัว ที่จะช่วยนำส่งอาหารและยาให้แก่ผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ 

  • ใช้เทคโนโลยี ดูแลผู้ป่วย

นอกจากนั้น ยังนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดูแลรักษาเพื่อลดการสัมผัสผู้ป่วย เป็นการจัดสรรบุคลากรทางการแพทย์ที่มีอยู่จำกัดให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุด โดยทีมแพทย์ที่ประจำอยู่ ณ โรงพยาบาลสนามฯ และโรงพยาบาลในเครือข่าย BDMS จะตรวจและติดตามอาการ

รวมทั้งพูดคุยกับผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดผ่านทางหน้าจอแบบออนไลน์ สามารถบริหารจัดการตามอาการของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายรุนแรงหรือเข้าขั้นวิกฤติ (สีแดง) จะประสานงานกับโรงพยาบาลในเครือ BDMS เพื่อนำส่งผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤติไปรักษาตัวต่อทันที

162740578535

   

 

  • รัฐ - เอกชน หนุน รพ.สนาม

โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิเวชดุสิตในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และหน่วยงานต่างๆ อาทิ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน), มูลนิธิ ทองพูล หวั่งหลี และครอบครัว, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ลินเด้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท สหแพทย์เภสัช จำกัด และบริษัท วินบริดจ์ จำกัด เป็นต้น โดยได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

โดยเมื่อวันที่  27 ก.ค.ที่ผ่านมา พลอากาศเอก แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พร้อมด้วย นายแพทย์ ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ แพทย์หญิง ปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ร่วมตรวจความพร้อมโรงพยาบาลสนามบีดีเอ็มเอส สนามกีฬา ทอ. (ธูปะเตมีย์)ก่อนเปิดให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฏาคม 2564 เป็นต้นไป

  • นวัตกรรม เอสซีจี สำหรับ รพ.สนาม

ด้าน เอสซีจี ในฐานะ ผู้สนับสนุนนวัตกรรมป้องกันโควิด และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการทำโรงพยาบาลสนามบีดีเอ็มเอส ได้แก่ 

  • เตียงสนามกระดาษเอสซีจีพี 

  • ฉากกั้นซีเมนต์ไฟเบอร์สำหรับกั้นห้อง (SCG Cement Board Partition) ที่สามารถเช็ดล้าง ทำความสะอาดได้ง่าย 

  • นวัตกรรมห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ (Negative Pressure Isolation Room)  มีระบบป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ ด้วยระบบควบคุมความดันอากาศ และระบบกรองอากาศระดับ HEPA ที่ช่วยกรองอากาศให้สะอาด ปลอดภัย และสามารถติดตั้ง-รื้อถอนได้ง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก โครงสร้างทุกชิ้นแข็งแรง ใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบหลัก จึงมีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรงทนทาน

  • ชุดติดตามสุขภาพทางไกล (DoCare Tele-monitoring System) ที่ผู้ป่วยสามารถใช้วัดค่าสุขภาพของตัวเองได้รายวัน พร้อมระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อค่าสุขภาพมีความผิดปกติ โดยสามารถพูดคุย ปรึกษาแพทย์ผ่านชุดอุปกรณ์  เพิ่มความอุ่นใจในการรักษา 

162740578564  

  • วาโรการ์ด เอ๊กซ์ตราแคร์ (Varogard Extra Care) น้ำยายับยั้งเชื้อไวรัส เชื้อรา และแบคทีเรีย 99.99 % มีคุณสมบัติออกฤทธิ์รวดเร็วภายใน 1 นาที ปกป้องพื้นผิวยาวนาน 72 ชม. และเจลล้างมือไอ-โพรเท็ค นาโนพลัส (i-Protec Nano+Hand Sanitizer)

162740578621