‘น้ำผัก’ ทำไมกินแล้วดี เลือกวิธีกินผักแบบที่ใช่ เพื่อร่างกายที่แข็งแรง
นักกำหนดอาหารแจกสูตร “น้ำผัก” ตำลึงหวาน คอส สับปะรด เซเลอรี่ ปั่นเป็นเครื่องดื่ม ส่งพฤกษเคมีเข้าไปสยบอนุมูลอิสระตัวร้าย เสริม “ภูมิคุ้มกัน” ทางลัดการกินผักแบบง่าย หลากหลาย จบในแก้วเดียว
ยอดผู้ติดเชื้อโควิดวันพุธที่ 28 กรกฎาคม 2564 ทุบสถิติสูงสุดทุกวันที่ผ่านมา ทะลุ 16,533 ราย ขณะที่ทุกภาคส่วนกำลังพยายามควบคุมการแพร่ระบาดกันอย่างเต็มที่ เราทุกคนก็ต้องช่วยกันรับผิดชอบสังคม อย่าทำพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อย่างน้อยก็ดูแลรักษาสุขภาพส่วนตัวให้แข็งแรงกันเข้าไว้ในสถานการณ์แบบนี้
เมนูสู้โควิดวันนี้ชวนกิน ผัก กันอีกสักครั้ง
ผักมีประโยชน์มากต่อร่างกาย กระทรวงศึกษาธิการเขียนไว้ในหลักสูตรให้คุณครูพร่ำสอนมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา แต่เท่าที่สังเกตคนรอบตัวเวลาสั่งข้าวแกง ก็จะเน้น หมู ไก่ กุ้ง ทอดมัน กุนเชียง หมูยอ ร้านอาหารดังๆ ส่วนใหญ่ก็โปรโมตเมนูเนื้อสัตว์มากกว่าเมนูผัก
เพิ่งจะมาระยะหลังๆ ที่ยุคอาหารมังสวิรัติรุ่งเรือง ตามมาด้วยวีแกน ก้าวต่อไปจนถึง raw food ซึ่งได้รับความนิยมเฉพาะกลุ่ม ทุกวันนี้ภาครัฐยังคงต้องโปรโมตขอให้ประชาชน กินผักมากขึ้นเพื่อสุขภาพของตนเอง
ยิ่งมาถึงยุคโควิด-19 ผัก-ผลไม้ ได้รับการกล่าวถึงอีกครั้ง เพราะเป็นอีกทางรอดสำคัญของการทำให้ร่างกายแข็งแรงจากการ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ไว้รับมือกับการติดเชื้อ
นักกำหนดอาหารวิชาชีพ อ.แววตา เอกชาวนา โพสต์ไว้ใน blog "กินดี by แวว" เกี่ยวกับการกินผักไว้ว่า “กินผักช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน เป็นอาหารของ โพรไบโอติกส์ จุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ ลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ ป้องกันโรค NCDs”
NCDs (Non-Communicable Diseases) คือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คน ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ แต่เกิดจากการเสื่อมสภาพของร่างกาย และส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคน
เว็บไซต์ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ระบุว่า ปัจจุบันกลุ่มโรค NCDs ที่มีอัตราผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงสุด มีอยู่ 6 โรค ได้แก่ เบาหวาน หลอดเลือดสมองและหัวใจ ถุงลมโป่งพอง มะเร็ง ความดัน และ อ้วนลงพุง ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่ใน 7 อันดับโรคประจำตัวปัจจัยเสี่ยงสูงเสียชีวิต หากติดโรคโควิด-19
อ.แววตา กล่าวด้วยว่า ทุกคนรู้ว่าผักนั้นดีและมีประโยชน์ ถ้ากินทุกวันให้ได้อย่างน้อยวันละ 250 กรัม (สองขีดครึ่ง) หรือประมาณมื้อละขีดก็ยังดี
องค์การอนามัยโลกก็แนะนำให้กินผัก-ผลไม้ให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม หรือเกือบครึ่งกิโลกรัมต่อวัน แต่การจะมานั่งเคี้ยวผักวันละ 4-5 ขีดสำหรับคนบางคน โดยเฉพาะคนที่สุขภาพฟันไม่ค่อยดีแล้ว หรือผู้สูงวัย ก็อาจขาดแรงจูงใจ
อ.แววตาจึงแนะนำให้นำ “ผัก” มาปั่นทำ น้ำผักปั่น ดื่มกัน น่าจะคล่องคอดีขึ้นและแก้เครียดจากโควิด วิธีทำง่ายมาก หั่นผักทุกอย่างเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วปั่นรวมกัน โดยแนะนำไว้หลายสูตร ดังนี้
น้ำผักปั่น สูตรที่ 1 : สับปะรด ผักคอส เซเลอรี่ มะเขือเทศ
สับปะรด 250 กรัม, ผักคอส (cos salad) 70 กรัม, เซเลอรี่ 500 กรัม, มะเขือเทศ 150 กรัม
- สับปะรด มีสารพฤกษเคมีสีเหลือง คือมีสารเบต้าแคโรทีน ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด เสริมภูมิคุ้มกันในร่างกาย ลดอาการท้องผูก ลดเสมหะในลำคอ และอุดมด้วยวิตามซี
- เซเลอรี่ เป็นผักที่มีสารโพลีฟีนอล ซึ่งเป็นตัวช่วยป้องกัน DNA ถูกทำลาย มีโซเดียมอินทรีย์ช่วยปรับสมดุลกรด-ด่างในเลือด และมีโพแทสเซียมสูง ช่วยขยายหลอดเลือด ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด
อ.แววตาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “น้ำผักปั่นสูตรนี้ช่วยป้องกันความดันโลหิตสูง สูตรนี้สำหรับ 5-6 แก้ว ได้ปริมาณผักผลไม้แก้วละ 160-190 กรัม วันไหนๆ รีบ ทำสูตรนี้รับรองว่ากินผักผลไม้ได้เพียงพอ” และเพิ่มเติมเคล็ดลับเพื่อสุขภาพดีอีกว่า “เพิ่มวิตามินซีให้น้ำผัก บีบมะนาวผสมลงไปก่อนดื่มนะคะ”
น้ำผักปั่น สูตรที่ 2 : ฝรั่ง คอส เซเลอรี่ มะม่วงเบาสุก
- ฝรั่ง เป็นผลไม้ที่วิตามินซีสูงมาก ช่วยชะลอวัยและริ้วรอย ที่สำคัญช่วยลดไขมันในเลือด เสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกาย
- มะม่วงเบา รสชาติเปรี้ยวโดดเด่น มีวิตามินซีสูง และยังมีวิตามินเอกับเบต้าแคโรทีน แต่เนื้อกรอบจึงนิยมกินดิบ ถึงสุกแล้วก็ยังมีรสอมเปรี้ยวอยู่มากกว่าหวาน ช่วยให้น้ำผักปั่นมีรสชาติอมเปรี้ยวอมหวานชวนดื่ม
สำหรับสูตรนี้ อ.แววตา มีคำแนะนำว่า ฝรั่ง คอส เซเลอรี่ มะม่วงเบา กับคุณสมบัติที่เนื้อสัตว์ไม่มี นั่นก็คือ วิตามินซี เบต้าแคโรทีน ใยอาหาร คลอโรฟิลด์ นอกจากแก้เครียดจากโควิด สูตรนี้ช่วยลดความดันโลหิต
น้ำผักปั่น สูตรที่ 3 : ฝรั่ง มะเขือเทศ คอส ตำลึงหวาน
- สูตรนี้เพิ่ม ตำลึงหวาน อ.แววตาบอกช่วยเพิ่มเบต้าแคโรทีนและธาตุเหล็ก ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน มูลนิธิชัยพัฒนา ระบุว่า ใบตำลึงหวานมีสรรพคุณช่วยสมานลำไส้ ลดไข้ บำรุงเลือด บำรุงกำลัง บำรุงสายตา
ผักและผลไม้ เป็นอาหารที่อุดมไปด้วย วิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร และ สารต้านอนุมูลอิสระ หรือสารพฤกษเคมีต่างๆ ซึ่งผักและผลไม้แต่ละชนิดจะมีปริมาณสารอาหารแตกต่างกัน จึงควรเลือกกินให้หลากหลาย และกินให้หลากสี ควบคู่กันไป
เว็บไซต์ สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สารพฤกษเคมี (phytonutrients หรือ phytochemicals) เป็นสารที่พบได้ทั่วไปในพืช โดยพืชจะสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อป้องกันตัวเองจากเชื้อโรค แมลง และให้สีสสันกับพืช โดยสารพฤกษเคมีมักพบมากตามเม็ดสีของพืช มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน และต้านการอักเสบ ตลอดจนมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง
อ.แววตา ให้ข้อเตือนใจไว้ด้วยว่า “การกินคืออาวุธ โลกอยู่ยาก เพราะโรคมากขึ้น การกินผักและผลไม้ จะเพิ่มสารพฤกษเคมีในร่างกายของเราให้มีปริมาณเพียงพอทุกวัน เป็นการขับเคลื่อนภูมิคุ้มกันให้มีฤทธิ์ทำลายล้างอนุมูลอิสระ สารต่อต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ที่มีมากในผักและผลไม้จะไปโอบอุ้ม อนุมูลอิสระ (free radicals) ให้ลดพลังทำลายล้างร่างกายลง”
พร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่า “อิเล็กตรอนที่เดียวดายของอนุมูลอิสระ ซึ่งชอบวิ่งไปจับเซลล์ดีทำลาย จะมีความคงที่ ไม่จุ้นจ้าน หยุดเผือก หยุดแทรกแซง โลกสงบ สยบทุกโรค ถ้าลดอนุมูลอิสระในร่างกายได้” ดีแน่แค่กินผักผลไม้ ไม่ว่าจะกินรูปแบบไหน ผักปั่นหรือผักกับข้าว หรือสลัด
เลือกวิธีกินผักแบบที่ใช่ เพื่อร่างกายที่แข็งแรง
* * * * * *
เมนูสู้โควิดที่คุณอาจสนใจ
‘กระชาย’ น้ำผึ้ง ‘มะนาว’ สูตรเร่งด่วนฉบับ ‘แพทย์แผนไทย’ อยู่คอนโดก็ปลูก 'กระชาย' ได้
พุดดิ้งใบบัวบก : ขนมเป็นยา ทำได้เองที่บ้าน