'หมอชนบท'ลงพื้นที่ 'ตรวจโควิด' 26 จุดในกทม.พบผู้ป่วยจำนวนมากจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่
'โควิด 19' ของไทยในขณะนี้เรียกว่า วิกฤตขั้นสุด ทั้ง เตียงเต็ม ไอซียูล้น วัคซีนไม่เพียงพอ ผู้ป่วยต้องนอนรอเตียง รอความตายที่บ้าน ข้างถนน จะได้ 'ตรวจโควิด' สักครั้งก็แสนยากเย็น
หลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทางรอดของการลดการแพร่ระบาดที่มีผู้ป่วยรายใหม่ วันละทะลุไป 20,000กว่าราย ต้องตรวจคัดกรองค้นหา ‘ผู้ป่วยโควิด 19’ ให้ได้เร็วที่สุด และแยกคนกลุ่มนี้มาจากคนปกติ
- ตรวจ‘Antigen test kit’เป็นบวกก็ไม่มีเตียงรักษา
ทว่าในทางปฎิบัติกลับทำไม่ได้แม้ว่าให้มีการตรวจเชิงรุกในชุมชน โดยอนุญาตให้ใช้ ‘Antigen test kit’ ตรวจเบื้องต้น ประชาชนสามารถตรวจเองได้ และเมื่อผลออกมาเป็นบวกก็ต้องไปตรวจในรูปแบบ RT-PCR ในโรงพยาบาลอีกครั้ง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการได้รับการรักษา
แม้ล่าสุด สธ.ปรับแนวทางใหม่หากผลตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท เป็นบวกเข้ารักษา Home Isolation ทันที แต่หากไม่ได้ให้ทำการตรวจคอนเฟิร์ม RT-PCR ระหว่างรอให้ส่งรายงานกลุ่มนี้เป็น Probable case แต่หากผลยืนยันเป็นบวกให้รายงานเป็น Confirm case
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ให้สัมภาษณ์ กรุงเทพธุรกิจว่า การแพร่ระบาดโควิด 19 ในพื้นที่กทม.ค่อนข้างรุนแรง และกลุ่มแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ต้องรับภาระอย่างหนัก ซึ่งรัฐในปัจจุบันแทบจะล้มเหลว ระบบสาธารณสุขก็ไม่ไหว ทุกคนต้องดูแลกันและกัน ทีมแพทย์จากชนบทได้เข้ามาช่วยปฏิบัติการรับมือ ซึ่งได้ลงพื้นที่ชุมชนกทม. จำนวน 2 รอบ และครั้งนี้เป็นรอบที่ 3 มาตั้งแต่วันที่ 4-10 ส.ค. ซึ่งวันนี้จะเป็นวันสุดท้าย
โดยรอบแรก มี ทีมแพทย์จากชนบท ทั้งหมด 6 ทีม ใช้เวลา 3 วัน สามารถตรวจคัดกรองโควิด 19 ได้ประมาณ 19,000 คน พบผู้ป่วยติดเชื้อ 1,700 ราย หรือประมาณ 9 % ซึ่งได้ช่วยชุมชนไปส่วนหนึ่งเท่านั้น ขณะที่ผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก ไม่ได้เข้ารับการรักษาที่ไหน เนื่องจากรพ.รัฐในกทม.ทุกแห่งขอให้คนไข้ไปตรวจ RT-PCR ก่อน ซึ่งมีรพ.เอกชนรับตรวจ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่าย 4,000-5,000 บาท ทำให้หลายคนไม่มีเงินไปตรวจ และต้องนอนที่บ้านเหมือนเดิม
- นอนรอเตียงที่บ้านตามยถากรรม
ต่อมารอบสอง ทีมแพทย์จากชนบท ทั้งหมด 15 ทีมใช้เวลา 3 วัน พบว่าสามารถตรวจคัดกรองได้ 30,000 คน มีผู้ติดเชื้อ 5,000 ราย หรือ 17 % ซึ่งในรอบนี้ ได้มีการตรวจ RT-PCR ร่วมด้วย แต่สุดท้ายก็ไม่มีรพ.ไหนรับเข้าไปรักษา เพราะเตียงทุกโรงพยาบาลเต็มหมด รวมถึงรพ.สนาม ขณะที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม.ก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร เนื่องจากศูนย์พักคอยในกทม.มีไม่เพียงพอ ทุกคนก็ต้องนอนรอเตียงที่บ้านเหมือนเดิม และการนอนบ้านไม่ได้รับการรักษา ทำให้หลายคนนอนตามยถากรรม และหลายคนต้องเสียชีวิตอย่างที่เป็นข่าว
ส่วนรอบที่ 3 นี้ มาทั้งหมด 40 ทีม 400 กว่าคน โดยปักหลัก26จุดตรวจ กระจายทั่วกรุงเทพมหานคร รวมปริมณฑล จังหวัดนครปฐมและสมุทรปราการอีก2จุดบริการ เป้าหมายตรวจคัดกรอง 5 หมื่นราย คาดหมายว่าจะพบผู้ติดเชื้อ 5 พันราย เข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาล ซึ่งตอนนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมากจนกลายเป็นเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในชุมชน
“ทีมแพทย์จากชนบท ได้ร่วมกับทีมภาคประชาชนในกทม. ทีมอาสาสมัคร ที่เข้ามาช่วยคัดกรองผู้ป่วย ซักประวัติ ให้คำแนะนำต่างๆ ขณะเดียวกันเมื่อผู้ป่วยที่ยังไม่ได้เตียง ต้องกลับไปนอนรอที่บ้านก็จะมีทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวอาสา ที่จะเข้ามาช่วยเช็คระบบ ติดตามผู้ป่วยโดยทีมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ วันละ 2 ครั้ง ช่วยหาเตียง และหายาฟาวิพิราเวียร์ให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งการทำงานในความเป็นจริง ทุกจุดมีความทะลักทุเล ไม่ได้สวยหรูอย่างตามภาพที่รัฐนำเสนอ แต่จะเห็นข่าวการเสียชีวิตที่บ้านทุกวัน ตราบใดที่ไม่มีรพ.รองรับผู้ป่วย” นพ.สุภัทร กล่าว
- ทุกรพ.ผู้ป่วยสีเหลืองสีแดงเต็ม
ผู้ป่วยวันละเพิ่ม 15,000 ราย ต้องการเตียงและดูแลทางการแพทย์ประมาณ 3,000 คน โดยเฉพาะในกทม. คาดว่าต้องการเตียง 1,000-1,500 เตียง แต่ตอนนี้ผู้ป่วยจะเอาเตียงรพ.ไหน เมื่อทุกรพ.มี ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง และสีแดงเต็มไปหมด
นพ.สุภัทร กล่าวต่อว่ายิ่งมีผู้ป่วยรายใหม่ ผู้ป่วยอาการหนักกลุ่มสีเหลือง สีแดงจำนวนมาก ยิ่งเป็นโจทย์ยากของเมืองหลวง สิ่งที่จะทำให้ผ่านวิกฤตเหล่านี้ไปได้ คงต้องสู้อย่างเต็มที่ และต้องพยายามเปิดทุกพื้นที่ เป็นโรงพยาบาลสนามให้มากกว่านี้ นำค่ายทหาร พื้นที่ในกองทัพต่างๆ มาเป็นรพ.สนาม เปลี่ยนจากโรงเรียน สถานศึกษาในกทม. เป็นรพ.สนาม และเริ่มจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ให้แก่ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือมีปัจจัยเสี่ยง เพื่อลดอาการความรุนแรงของโรค ไม่เป็นผู้ป่วยอาการหนัก
- วิสัยทัศน์กทม.ไม่เชื่อมโยงการทำงาน
“ทฤษฎีที่ทุกคนบอกว่าหาตรวจให้เจอไวดีที่สุด ซึ่งถ้าเป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวให้กักตัวรักษาที่บ้าน ส่วนกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง ให้ไปรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งในทางทฤษฎีนั้นดีมาก แต่ในการบริหารจัดการไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะการบริหารจัดการของภาครัฐ ศักยภาพและความเร็วในการจัดการของผู้บริหารประเทศ ไม่ได้รวดเร็วเท่ากับการแพร่ระบาดของโควิด 19” ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าว
ขณะที่วิสัยทัศน์ของกทม.เอง ยังไม่มีการเชื่อมโยงการทำงาน และไม่มีกำหนดธงอย่างชัดเจนว่าจะจัดการอย่างไร ตอนนี้รัฐบาลต้องปักธงแล้วว่าจะกำหนดเพิ่มเติมอีก 1 แสนเตียง และไม่ใช่เตียงที่บ้าน เพราะขณะนี้ภาพรวมของกทม.ต้องการเตียง 50,000 เตียงเพื่อรองรับผู้ป่วย
จากการลงพื้นที่ ตรวจโควิด 19 ทั้ง 2 รอบ รอบละ 3 วัน จากทีมแพทย์100 กว่าคน สามารถคัดกรองได้ 50,000 คน
นพ.สุภัทร กล่าวต่อไปว่า การทำงานของ ทีมแพทย์ชนบท จะเน้นการใช้เครือข่ายในการทำงาน โดยมีภาคประชาชนมาร่วมมากว่า 2 เท่า ทั้งช่วยลงทะเบียน แจ้งผล และช่วยทุกอย่าง ทำงานโดยไม่มีรถตรวจเชื้อชีวนิรภัย แต่ทำงานได้มากถึง 3-4 เท่า และทำงานไม่มีเวลาราชการ บางพื้นที่ตรวจคัดกรองถึงเที่ยงคืน มีธงชัดเจนว่าจะคัดกรองผู้ป่วยให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งธงแบบนี้ กทม.ไม่ชัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: นายกฯ เร่งจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่ม ระดมแผนส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา
เปิดแนวทางรักษา 'ผู้ป่วยโควิด 19' ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงสูงอายุ
'ตรวจโควิด' เช็คด่วน! กทม.เปิดปฏิทินตรวจเชิงรุก 3 เขต 26 ก.ค.- 1 ส.ค.นี้
- คัดกรอง1ล้านเชื่อว่าพบผู้ป่วย1แสน
ดังนั้น กทม.ต้องเริ่มต้นในการกล้าประกาศธง ตั้งแต่การคัดกรอง ตรวจโควิด 19 ว่าจะต้องคัดกรองจำนวนเท่าไหร่ เช่น คัดกรองให้ได้ 1 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่า 1 ล้านคน หากพบผู้ป่วย 1 แสนคนหรือ 10% และแยกคนเหล่านี้มาจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ได้มาก เพราะผู้ป่วยโควิด 19 ประมาณ 80%จะเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ซึ่งสามารถรักษาอยู่ที่บ้านได้ และอีกประมาณ 20% ผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องการเตียง
“ตอนนี้มีแต่วัด มัสยิด ลานชุมชน ใต้ทางด่วน ข้างถนนที่จะเป็นจุดตรวจโควิด 19 แต่ไม่เคยเห็นการอนุญาตให้ใช้โรงเรียน หรือค่ายทหาร มาเป็นจุดตรวจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นวิธีคิด และการทำงาน หากรวมพลังอย่างเต็มที่ เตียง 20,000 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วย ไม่น่าจะมีปัญหา ต้องทำให้ทุกคนที่เป็นผู้ป่วยโควิด 19 ได้รับการดูแล รักษา ซึ่งการดูแลไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล ใครที่เป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวก็ต้องได้รับการดูแลที่บ้านอย่างดี ต้องมีธงชัด มีการเช็ตระบบใหม่” นพ.สุภัทร กล่าว
- ส่งผู้ป่วย 'กลับภูมิลำเนา' ดี แต่การปฎิบัติสวนทาง
นโยบายการจัดส่งผู้ป่วยโควิดกลับภูมิลำเนา เป็นการแก้ปัญหาที่ดีมาก เมื่อกทม.เตียงล้น และต่างจังหวัดก็มีศักยภาพในการช่วยดูแล แต่ทั้งนี้ ก็ต้องคำนึงถึงความยากลำบากในการเดินทาง ซึ่งบางคนต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง และต้องดูความพร้อมของรพ.ปลายทางให้ชัดเจน
นพ.สุภัทร กล่าวด้วยว่าการบริหารจัดการในกทม.เชื่อว่ากระทรวงสาธารณสุขทำเต็มที่ แต่อาจจะทำอะไรได้น้อย เพราะกทม.มีบุคลิกพิเศษ และเขตอำนาจไม่ได้ชัดเจน แตกต่างกับพื้นที่ในต่างจังหวัด รพ.ต่างจังหวัด
อย่าง โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ตอนแรกมี 40 เตียงในการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ด้วยจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นก็ขยายเตียงได้ 140 เตียง และตอนนี้มีการขอความร่วมมือไปยังโรงเรียน ค่ายทหารรวมกัน จัดตั้งรพ.สนามแห่งละ 100-150 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ที่จำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
หากมากกว่านี้ก็จะขยายเตียงรองรับเพิ่มอีก แต่ทั้งหมดที่ทำได้ เพราะทุกคนในชุมชนให้ความร่วมมือกัน อีกทั้งได้ขอความร่วมมือกับภาคประชาชน อสม. ให้ความรู้ ติดตามสื่อสาร ให้ ผู้ป่วยโควิด หรือผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สามารถวัดความดัน เช็คระดับน้ำตาลได้ด้วยตนเอง ทุกคนต้องช่วยกัน
“ผมเชื่อว่าถ้ามีการตรวจโควิด 19 ในกทม.ทุกคน จะมีผู้ป่วยติดเชื้อมากกว่า 5 แสนคน หรือ 1 ล้านคน ตอนนี้คนที่เดินไปเดินมากับเรา ไม่มีใครรู้ว่าเป็นโควิดหรือไม่ ดังนั้น สิ่งที่อยากให้ทุกคนร่วมมือกัน ตอนนี้ คือ ช่วยกันดูแลผู้ป่วยโควิด คนป่วยโควิดไม่น่ากลัว ถ้าใส่หน้ากากให้ดี ล้างมือให้ ไม่แตะไม่สัมผัสกัน โอกาสเป็นโควิด 19 ต่ำกว่า ถ้าคนในชุมชน คอนโด คนข้างบ้านเป็นโควิด 19 คนที่ไม่เป็นโควิด 19 ต้องทำหน้าที่ ให้เขาโอนเงินให้เรา และเราไปซื้อข้าวซื้อน้ำให้เขา คอยสื่อสาร ช่วยเหลือดูแลกัน เพราะนี่จะเป็นทางรอดเดียว เราจะพึ่งรัฐอย่างเดียวไม่ได้”นพ.สุภัทร กล่าวทิ้งท้าย