โพเดียม ‘โอลิมปิก 2020’ สวยงามมากกว่าที่ตามองเห็น

โพเดียม ‘โอลิมปิก 2020’ สวยงามมากกว่าที่ตามองเห็น

โพเดียม “โอลิมปิก 2020” ญี่ปุ่นโชว์ศักยภาพ “สังคมสีเขียว” ผสมผสานเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่เข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมประจำชาติ คืนค่า “ขยะพลาสติก” ผ่านวงการกีฬา

โพเดียม (podium) หรือ “แท่นยืน” สำหรับรับเหรียญรางวัลในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก Tokyo 2020 Games ครั้งนี้ญี่ปุ่นผลิตขึ้นจาก พลาสติกรีไซเคิล ซึ่งถือครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิก และเป็นหนึ่งในชิ้นงานรูปแบบใหม่ที่ญี่ปุ่นต้องการแสดงให้เห็นว่า “สังคมกีฬา” ก็มีส่วนสนับสนุนความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน

แท่นยืนสำหรับรับเหรียญรางวัลนี้ผลิตขึ้นจาก พลาสติกใช้แล้ว และ เศษซากพลาสติกในทะเล โดย “คณะกรรมการโอลิมปิกโตเกียว” เปิดเป็นแคมเปญสาธารณะให้คนญี่ปุ่นทั่วประเทศมีส่วนช่วยกันรวบรวม แล้วนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิล เพื่อผลิตเป็น “โพเดียม” หรือแท่นยืนรับเหรียญรางวัล

การออกแบบ “แท่นยืน” เป็นการผสมผสาน “เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่” เข้ากับ “วัฒนธรรมดั้งเดิม” ของญี่ปุ่นเอง

162751771217

มร.อาซาโอะ โทโคโละ กับลูกบาศก์พลาสติกรีไซเคิลที่ใช้ประกอบเป็นแท่นยืนรับเหรียญรางวัล

ผู้ออกแบบโพเดียมนี้คือ มร.อาซาโอะ โทโคโละ (Asao Tokolo) สถาปนิกชาวญี่ปุ่นซึ่งทำงานในหลากหลายสาขา ทั้งศิลปะ  สถาปัตยกรรม และการออกแบบ เขายังเป็นผู้ชนะการออกแบบ ตราสัญลักษณ์ประจำการแข่งขัน กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ปี 2020 หรือ Tokyo 2020 Games

รูปลักษณ์ของ แท่นยืนรับเหรียญรางวัล ได้รับการออกแบบให้มีความสัมพันธ์กับความหมายเดียวกันกับที่เขาซ่อนไว้ใน “ตราสัญลักษณ์ Tokyo 2020 Games” นั่นก็คือ diversity and inclusion ซึ่งมีความหมายว่า ‘ความหลากหลายที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว’

มร.อาซาโอะ ประยุกต์โครงสร้างลายตารางสี่เหลี่ยมแบบญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า ichimatsu moyo (อิชิมัตสึ โมโย) มาใช้ในการออกแบบ “ตราสัญลักษณ์ Tokyo 2020 Games” โดยสร้าง รูปทรงสี่เหลี่ยมสีน้ำเงินเข้มหลายขนาด มาเรียงต่อกันจนเกิดเป็นภาพห่วงโอลิมปิกรูปวงกลม

162752155921

ichimatsu moyo ศิลปะการนำรูปสี่เหลี่ยมมาเรียงต่อกันจนเกิดเป็นตราสัญลักษณ์ "โตเกียว 2020 เกมส์"

“อิชิมัตสึ โมโย” เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยเอโดะ (Edo period, ค.ศ.1603-1868) คือการนำรูปสี่เหลี่ยมมาเรียงต่อกันและสามารถสร้างเป็นภาพต่างๆ ได้ไม่รู้จบ

ในอดีตลวดลายลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่า “ทางเดินแห่งก้อนหิน” เนื่องจากลวดลายดูคล้ายการนำ “ก้อนหิน” มาฝังบนพื้นดินเพื่อใช้เป็นทางเดิน

ต่อมาลวดลายนี้ได้รับการตั้งชื่อตามชื่อนักแสดงละครคาบูกิผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้น มร.อิชิมัตสึ ซาโนะกะวะ (Ichimatsu Sanogawa) ซึ่งนิยมสวมใส่เครื่องแต่งกายโบราณที่มีลวดลายลักษณะนี้ และทำให้ภาพที่เกิดจากการเรียงลายตารางสี่เหลี่ยมได้รับความนิยมไปทั่ว

162752161695

ศิลปะ "อิชิมัตสึ โมโย” จากตราสัญลักษณ์โอลิมปิก 2020 สู่ "โพเดียม"

การนำ รูปสี่เหลี่ยมมาเรียงต่อกันจนเกิดเป็นภาพต่างๆ ได้ไม่รู้จบ หรือ “อิชิมัตสึ โมโย” จึงมีความหมายถึง “ความเป็นนิรันดร์” ซึ่งสอดคล้องกับ คอนเซปต์ของการจัดโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ของญี่ปุ่น ที่ต้องการถ่ายทอดแนวคิดการลงมือทำเพื่อ “ความยั่งยืน” ของสิ่งแวดล้อม

162751976695

ตราสัญลักษณ์กีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 32 “Tokyo 2020 Games” เกิดจากการนำรูป 12 เหลี่ยมมาเรียงต่อกัน

จริงๆ แล้ว มร.อาซาโอะ สร้างกราฟิก รูปทรง 12 เหลี่ยม เรียงต่อกันเป็นวงกลมรูปห่วงโอลิมปิก แต่ที่เห็นเป็นเพียง “รูปสี่เหลี่ยม” เนื่องจากมองแค่ภาพหน้าตัด แต่ภาพโปสเตอร์จริงที่ได้รับการเก็บไว้ที่ “พิพิธภัณฑ์โอลิมปิกสากล” ในกรุงโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จะเป็นภาพที่แสดงให้เห็นลายเส้นของรูปทรง 12 เหลี่ยมแบบสามมิติอย่างน่าทึ่งและสวยงาม

มร.อาซาโอะจำลอง “รูปทรง 12 เหลี่ยม” มาใส่ไว้ใน ทรงลูกบาศก์ ซึ่งผลิตด้วยพลาสติกรีไซเคิล แล้วนำมาเรียงต่อกันเป็น แท่นยืนรับเหรียญรางวัล โดยได้รับความช่วยเหลือจาก ศาสตราจารย์ ฮิโรยะ ทานะกะ (Professor Hiroya Tanaka)  แห่งมหาวิทยาลัยเคโอ (Keio) สถาบันการศึกษาชั้นนำที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น ช่วยเปลี่ยนรายละเอียดงานดีไซน์ของเขาให้ออกมาเป็น ต้นแบบตัวอย่างที่ทำด้วยพลาสติกรีไซเคิล โดยใช้เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติ เราจึงเห็น โพเดียม หรือ ‘แท่นยืนรับเหรียญรางวัล’ มีลวดลายช่องเล็กช่องน้อยเป็นโพรงเหมือนรูพรุนอย่างที่ปรากฏ

162752025386

ขั้นตอนการผลิตลูกบาศก์พลาสติกรีไซเคิลเพื่อทำโพเดียม

162752045773

ขั้นตอนการทำ “ลูกบาศก์พลาสติกรีไซเคิล” เพื่อนำไปประกอบเป็นโพเดียม

ในระยะเวลา 9 เดือน ญี่ปุ่นรวบรวมพลาสติกใช้แล้วและเศษซากพลาสติกในทะเลได้ 24.5 ตัน  ถ้าเทียบเป็น “ขวดน้ำยาซักผ้า” ก็จะอยู่ในราว 400,000 ขวด  

ญี่ปุ่นนำพลาสติกใช้แล้ว 24.5 ตันมารีไซเคิลเป็น “พลาสติกทรงลูกบาศก์” ตามการออกแบบของมร.อาซาโอะ แล้วนำมาประกอบเป็น แท่นยืนรับเหรียญรางวัล ได้จำนวน  98 แท่นเพื่อใช้ใน “โตเกียว 2020 เกมส์”

แท่นยืนรับเหรียญแต่ละแท่น หนักเพียง 1.5 กิโลกรัม เบาพอที่เด็กๆ จะเคลื่อนย้ายได้ ดังนั้นในพิธีมอบเหรียญรางวัล แต่ละแท่นจะได้รับนำมาเรียงต่อกันด้านซ้ายและด้านขวาสำหรับผู้ได้รับเหรียญเงินและเหรียญทองแดง ขณะที่ตรงกลางจะวางแท่นซ้อนกันสองชั้นสำหรับรางวัลเหรียญทอง

162752000887

โพเดียมหนัก 1.5 กิโลกรัมที่สามารถนำมาเรียงต่อกันเพื่อเพิ่มระยะห่างให้กับนักกีฬาได้อย่างง่ายๆ

ในสถานการณ์ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวด แท่นยืนรับเหรียญรางวัลเหล่านี้ยังสามารถ เพิ่มระยะห่างให้กับนักกีฬา ได้ด้วยการนำแท่นมาเรียงต่อกัน เหมือนที่เห็นในพิธีรับเหรียญรางวัลเทควันโดหญิง เหรียญทองเหรียญแรกของประเทศไทย ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก “โตเกียว 2020 เกมส์”

ในการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกที่จะจัดแข่งขันต่อไป แท่นยืนรับเหรียญรางวัลนี้ก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ ด้วยการปรับให้อยู่ในระนาบเดียวกันได้ทั้งหมด เพื่อความสะดวกของนักกีฬา

162752066773

สัญลักษณ์กีฬาโอลิมปิก ทำด้วย “อลูมิเนียม” จากของใช้ในครัวเรือนที่เสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

สำหรับ สัญลักษณ์กีฬาโอลิมปิก 5 ห่วงคล้องกัน  ที่ประดับบนแท่นยืนรับเหรียญรางวัล ยังคงไว้ซึ่งหลักการ “สังคมสีเขียว” โดยผลิตขึ้นจากการรีไซเคิลขยะประเภท อลูมิเนียม จากของใช้ในครัวเรือนที่เสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางตะวันออกของญี่ปุ่น

มร.อาซาโอะยังใส่รายละเอียดเรื่อง สี ไว้ในแท่นรับเหรียญรางวัลรีไซเคิล โดยใช้ สีย้อมครามแบบญี่ปุ่น (Japanese indigo colour) ซึ่งเป็นสีที่มีความหมายถึง “ชัยชนะ” ของนักรบในยุคศึกสงครามเซ็งโงกุ (ค.ศ.1573-1590) และเป็นสีที่ชาวญี่ปุ่นทั่วไปใช้กันอย่างแพร่หลายต่อมาในยุคเอโดะ

แต่ด้วยกระบวนการขึ้นรูปด้วย ‘เส้นใยผสมสี’ ของเครื่องพิมพ์สามมิติที่มีความสั่นสะเทือน ทำให้ สีครามของลูกบาศก์พลาสติกรีไซเคิล มีความเข้มไม่เสมอกันเหมือนการพิมพ์ลงบนผ้าหรือภาพวาด

162752147622

สีโพเดียมจะแตกต่างกันไปบ้างตามแสงสว่างของแต่ละสถานที่

ดังนั้น ‘แท่นยืนรับเหรียญรางวัลรีไซเคิล’ จึงจะมี สีครามที่จะดูแตกต่างกันไปบ้าง ขึ้นอยู่กับแสงที่ตกกระทบลงมา และภาพแท่นยืนรับเหรียญรางวัลที่ มร.อาซาโอะ ตั้งตารอดูว่าจะออกมาในลักษณะใด คือเมื่อแท่นนี้วางอยู่ใกล้ สระว่ายน้ำ สถานที่ที่มีแสงสว่างมากสะท้อนจากผืนน้ำ

ดูด้วยตาอาจไม่หวือหวา แต่ถ้าได้ทราบถึงความตั้งใจและความหมายของการผลิต ทุกครั้งที่นักกีฬาก้าวขึ้นรับเหรียญรางวัล นอกจากยินดีกับความสามารถของนักกีฬา ผู้ชมน่าจะแอบแบ่งใจมอง “แท่นยืนรับเหรียญรางวัล” ปีนี้ด้วยรอยยิ้ม

-----------------------------------

ข้อมูลและภาพจาก : olympics.com

* * * * * *

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

‘ญี่ปุ่น’ รีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ 78,985 ตัน ทำ ‘เหรียญ’ รางวัล ‘โอลิมปิก’ 2020

'โอลิมปิก 2020' จารีต ‘เครื่องแต่งกาย’ ญี่ปุ่น ใน ‘Costume’ ผู้เชิญเหรียญ