หลัง'ล็อกดาวน์'คาดยอดติด'โควิด19'สูงสุดช่วงต.ค.
สธ.เผยโมเดลคาดการณ์โควิด 19 หลังล็อกดาวน์ ยอดรายใหม่รายวันสูงสุดได้ถึง 3 หมื่นราย ช่วงต้นต.ค. ระบุรัฐเพิ่ม 3 มาตรการเข้มกดตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่-เสียชีวิตให้ต่ำที่สุด
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 30 ก.ค. 2564 ในการแถลงสถานการณ์โควิด 19 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า การคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์โรคโควิด19ที่จะเกิดขึ้นไปข้างหน้า โดยหากไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ และมาตรการเข้มข้นใดๆ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันจะสูงเกิน 4 หมื่นราย และจุดสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณวันที่ 14 ก.ย. แต่หลังจากมีมาตรการล็อกดาวน์แล้ว การคาดการณ์ไปในช่วง 3-4เดือนข้างหน้า จึงมี 4 ลักษณะ คือ
1.หลังจากมีมาตรการล็อกดาวน์ ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งการอยู่บ้านมากที่สุด มาตรการ Work From Home หยุดกิจกรรมชุมนุมของกลุ่มคน เป็นต้น โดยคาดว่าการมาตรการล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อได้ 20% เป็นเวลานาน 1 เดือน ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันจะอยู่ที่ 3 หมื่นกว่าราย จุดสูงสุดอยู่ที่ประมาณต้นเดือน ต.ค.
2.คาดว่าการมาตรการล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อได้ 25% เป็นเวลานาน 1 เดือน สถานการณ์ก็จะใกล้เคียงกับแบบที่ 1
3.คาดว่าการมาตรการล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อได้ 20% เป็นเวลานาน 2 เดือน จะทำให้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือ 2 หมื่นกว่าราย
และ4.คาดว่าการมาตรการล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อได้ 25% เป็นเวลานาน 2 เดือน จะทำให้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ก็จะลดลง
สำหรับการคาดการณ์ผู้เสียชีวิตต่อวัน หากไม่มีมาตรการล็อกดาวน์หรือไม่มีมาตรการใดๆ จะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คนต่อวัน จุดสูงสุดประมาณวันที่ 28 ก.ย. เมื่อมีมาตรการล็อกดาวน์ช่วงปลายเดือน ก.ค. ตัวเลขผู้เสียชีวิตไม่เกิน 400 รายต่อวัน จุดสูงสุดอยู่ที่ราว 26 ต.ค. ในกรณีมาตรการล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพตั้งแต่ 20-25% อย่างไรก็ตาม หากล็อกดาวน์นานขึ้น จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันจะลดลง และจุดสูงสุดจะอยู่ประมาณกลางเดือนพ.ย.
“ตามมาตรการที่ทางรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการ คือ มีมาตรการต่างๆ ทั้งล็อกดาวน์ ค้นหาผู้ป่วย มาตรการเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์ หากใช้ 3 มาตรการรวมกันจะทำให้มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่วันละ 100 กว่าราย ซึ่งเป็นสิ่งที่พยายามทำอยู่ แต่ปัจจุบันก็ยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและติดเชื้อในหมู่ประชาชนค่อนข้างกว้างขวางโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคกลาง เพราะฉะนั้น ความร่วมมือของประชาชน ลดกิจกรรมไม่จำเป็นอยู่บ้านมากที่สุด เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ และกลุ่มเสี่ยงไปรับวัคซีน เป็นต้น จะช่วยการป้องกันการแพร่เชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลงได้”นพ.โอภาสกล่าว
เมื่อถามถึงการประเมินมาตรการล็อกดาวน์ นพ.โอภาส กล่าวว่า หากไม่ทำมาตรการล็อกดาวน์เลยตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจะสูงกว่านี้ ดังนั้น มาตรการล็อกดาวน์จึงสำคัญในการลดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต แต่การล็อกดาวน์ ประสิทธิภาพแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่าย จะสังเกตเห็นว่ามาตรการล็อกดาวน์ครั้งนี้ หน่วยราชการต่างๆ ทำงานที่บ้านจำนวนมาก ศูนย์การค้ามีการปิด มีไม่กี่อย่างที่เปิด เช่น การไปรับการรักษาพยาบาล การไปฉีดวัคซีน การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ เพราะฉะนั้น ความร่วมมือของประชาชนจึงสำคัญ จากแบบจำลองก็ชัดเจนว่า หากได้รับความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจะลดลง
“มาตรการล็อกดาวน์ ไม่ได้แปลว่า ล็อกดาวน์วันนี้ผู้ติดเชื้อจะลดลงทันที การติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอีกระยะหนึ่ง มาตรการในช่วงต้นจะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มสูงเกินไป จากนั้นอีก 2-4 สัปดาห์มาตรการล็อกดาวน์จะเห็นผลชัดขึ้นในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงมา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะประเมินเรื่องนี้เป็นระยะ และสธ.จะนำเสนอศบค.ต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว