'โอลิมปิก 2020' จารีต ‘เครื่องแต่งกาย’ ญี่ปุ่น ใน ‘Costume’ ผู้เชิญเหรียญ
แนวคิดการออกแบบ “Costume” หรือ “เครื่องแต่งกาย” ผู้เชิญเหรียญรางวัล "โอลิมปิก 2020" ซ่อนกิโมโน 12 ชั้นไว้ในเสื้อคลุมฮาโอริ
ฤดูใบไม้ผลิปี 2019 “คณะกรรมการโอลิมปิกโตเกียว” เปิดกว้างให้กับผู้สนใจออกแบบ เครื่องแต่งกายอาสาสมัครผู้เชิญเหรียญรางวัลและของที่ระลึก ในพิธีมอบเหรียญรางวัลโอลิมปิกให้กับนักกีฬาผู้ชนะเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง
ผลปรากฏว่าเครื่องแต่งกายที่ออกแบบโดย มร.โซตะ ยามากุชิ (Sota Yamaguchi) ได้รับเลือกให้ตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสำหรับอาสาสมัครผู้เชิญเหรียญรางวัลและของที่ระลึกได้สวมใส่
มร.โซตะ เป็นบรรณาธิการแฟชั่นดาวรุ่งผู้อยู่เบื้องหลังการจัดงานแฟชั่นโชว์มากมาย รวมทั้งนิทรรศการและออกแบบร้านค้า เขาให้สัมภาษณ์กับ “Tokyo2020” เว็บไซต์ทางการของการจัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิก “โตเกียว 2020 เกมส์” ว่า ในการออกแบบเครื่องแต่งกายอาสาสมัครฯ ครั้งนี้ สิ่งแรกที่เขาคิดก็คือการวางคอนเซปต์ เพื่อออกแบบเครื่องแต่งกายครั้งนี้ก็คือการวางคอนเซปต์
โดยคอนเซปต์ที่มร.โซตะ กำหนดไว้ก็คือ ‘a new style in formal wear’ การใส่สไตล์ใหม่ๆ ให้กับเสื้อผ้าพิธีการ(ของญี่ปุ่น)
“มองย้อนกลับไปเมื่อครั้งโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ที่เคยจัดในญี่ปุ่น สตรีผู้เชิญถาดเหรียญรางวัลสวมชุดกิโมโนเมื่อครั้งจัดการแข่งขันที่โตเกียว ปี 1964 และโอลิมปิกฤดูหนาวที่นาโงยะ ปี 1998 ผมมีความเคารพในจารีตประเพณี แต่ผมก็ยังดิ้นรนแสวงหาด้วยความคิดที่ว่า บางทีการดำเนินตามจารีตอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ดังนั้นผมจึงตัดสินใจที่จะลองทำสิ่งท้ายทายใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็ยังเชิดชูกิโมโนและเครื่องแต่งกายญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม” มร.โซตะ กล่าว
สิ่งที่ มร.โซตะ พยายามทำก็คือ ผสมผสานข้อดีของเสื้อผ้าที่แสดงถึง ‘จิตวิญญาณแบบชาวญี่ปุ่น’ และ ‘ความคล่องตัวแบบตะวันตก’ เข้าด้วยกัน เนื่องจากเสื้อผ้าแบบชาวญี่ปุ่นและของชาวตะวันตกมี ‘นัยแห่งการออกแบบ’ ที่แตกต่างกัน
“เสื้อผ้าของชาวตะวันตกสวมลงบนกล้ามเนื้อและเนื้อหนังของร่างกาย แพทเทิร์นจึงออกแบบตามส่วนโค้งส่วนเว้าของผู้สวมใส่ จึงสวมใส่ได้พอดีตัวและคล่องตัว ในทางตรงกันข้าม เสื้อผ้าของชาวญี่ปุ่นสวมลงบนกระดูก ส่วนที่รองรับเสื้อผ้าคือไหล่ จากนั้นใช้วิธีมัดรอบเอว จึงทำให้เกิดพื้นที่ว่างระหว่างร่างกายและเสื้อผ้า เพราะพื้นที่ว่างตรงนี้ รูปทรงของเสื้อผ้าจึงเปลี่ยนไปตามการเคลื่อนไหวของร่างกายหรือสัดส่วนร่างกายผู้สวมใส่ ปรากฏเป็นความงามของเครื่องแต่งกายให้กับผู้สวมใส่ ผมคิดว่าน่าจะดีถ้าได้สร้างสรรค์สไตล์ที่ร่วมกันระหว่างญี่ปุ่นและตะวันตก ผสานข้อดีของสองวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน”
ดังนั้น ในการแปลงคอนเซปต์ที่วางไว้ให้เป็นจริง ดีไซเนอร์จึงตัดสินใจเลือกหยิบวัฒนธรรมการสวมใส่เครื่องแต่งกายญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม คือ Kasane (การซ้อนเป็นชั้นๆ) Ori (การพับ) Musabi (การมัด) และ Some (การย้อม) มาประยุกต์ให้เหมาะสมกับเทศกาลกีฬาร่วมสมัย
เครื่องแต่งกายที่แสดงถึงจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นที่มร.โซตะเลือกนำมาประยุกต์คือ ความประณีตสุดพิถีพิถันของเครื่องแต่งกายพิธีการระดับ junihitoe (จูนิฮิโตเอะ) หรือกิโมโนราชวงศ์ชั้นสูงแห่งราชสำนักญี่ปุ่นในสมัยนาระที่มีผ้าซ้อนทับกันถึง 12 ชั้น
แต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคมในญี่ปุ่น การใส่เสื้อผ้าซ้อนทับกัน 12 ชั้น ไม่ใช่เรื่องที่ดี ทั้งร้อน ทั้งหนัก ลำบากในการเคลื่อนไหว และอาสาสมัครฯ ก็มีความแตกต่างกันทั้งกลุ่มอายุและเพศด้วยความร้อนของอากาศ
ดังนั้น เขาจึงเลือก Haori (ฮาโอริ) เสื้อคลุมเปิดลำตัวสไตล์ดั้งเดิมของญี่ปุ่น มาแทนเครื่องแต่งกายแบบกิโมโน แล้วลดทอนการซ้อนทับกัน 12 ชั้นให้เหลือเป็นสัญลักษณ์แค่ 2 ชั้น ประดับไว้ตรงคอเสื้อคลุม
ในอดีต “ฮาโอริ” เป็นเสื้อคลุมทับชุดเกราะของนักรบยุคเซ็งโงกุ (Sengoku) แต่ไม่มีแขนเสื้อ เพื่อป้องกันความหนาวเย็นของอากาศ มีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่สวมใส่ ต่อมาในสมัยเอโดะ สตรีเริ่มสวมใส่ฮาโอริโดยสวมคลุมชุดกิโมโนอีกที การใส่ฮาโอริถือเป็นการบ่งบอกฐานะความมั่งคั่งของชนชั้นกลางภายหลังที่เศรษฐกิจภายในประเทศเฟื่องฟู ปัจจุบันถือเป็นเครื่องแต่งกายพิธีการของญี่ปุ่น
ฮาโอริ หรือเสื้อคลุมสำหรับงานกีฬาครั้งนี้ ตัดเย็บจากเนื้อผ้าซึ่งทอจากเส้นด้ายโพลีเอสเตอร์รีไซเคิลที่เรียกว่า Ecopet เป็นเนื้อผ้าที่ทอขึ้นเป็นพิเศษเพื่อให้มีรูป ‘วงกลม’ ต่อเนื่องกันไปทั้งผืน กว่าจะได้ลายผ้านี้ทั้งดีไซเนอร์และช่างทอผ้าชาวญี่ปุ่นผ่านการลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง พวกเขาช่วยกันย้อมสีเส้นด้ายด้วยสีครามแบบญี่ปุ่นที่มีความอ่อน-เข้มต่างกัน 6 เฉด เพื่อให้ลายวงกลมที่เกิดขึ้นมีสีแตกต่างจากสีพื้นของเนื้อผ้า
มร.โซตะตั้งใจให้รูปวงกลมนี้สื่อความหมายถึง ‘ความสามัคคี’ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายหนึ่งของการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
นอกจากใช้ตัดเย็บฮาโอริ เนื้อผ้านี้ยังใช้ตัดเย็บเป็นกางเกงขายาวสำหรับผู้เชิญเหรียญรางวัลฝ่ายชาย ส่วนผู้เชิญเหรียญรางวัลฝ่ายหญิงสวมใส่กระโปรงตัดเย็บด้วยผ้าย้อมสีครามแบบญี่ปุ่น เพิ่มรายละเอียดด้านหลังกระโปรงด้วยการจับจีบ (pleated) ให้เป็นสัญลักษณ์ของ ohikizuri หรือการขลิบริมผ้าของชายกิโมโน
สำหรับ ‘เสื้อเชิ้ตตัวใน’ ตัดเย็บจากเนื้อผ้าที่ทอด้วยเส้นใยระบายอากาศได้ดี ใช้วิธีย้อมไล่เฉดสีทีละตัว เพื่อให้เฉดสีบนตัวเสื้อเข้ากับสรีระของผู้สวมใส่เฉพาะคน ทุกคนถึงจะสวมเสื้อแบบเดียวกัน ทว่าแต่ละคนยังคงฉายบุคลิกของตัวเอง
มร.โซตะเลือกโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่มีคุณภาพในเมืองฮะนะมะกิ (Hanamaki) ในจังหวัดอิวาเตะ (Iwate) ไม่เพียงแต่ตั้งใจช่วยฟื้นฟูธุรกิจในเขตที่เคยประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 แต่โรงงานเย็บผ้าในย่านนี้ตอบโจทย์เรื่องฝีมือการตัดเย็บ ค่าใช้จ่าย และเวลาส่งมอบของ
อีกหนึ่งองค์ประกอบของเครื่องแต่งกายชุดนี้คือ รองเท้า เป็นรองเท้าแตะรัดส้นสไตล์ตะวันตกอย่างชัดเจน ดูไม่เข้ากับสไตล์เสื้อผ้า
ในเรื่องนี้ ดีไซเนอร์ให้เหตุผลว่า เขาลองนึกถึงการแข่งขันกีฬาทางน้ำ เช่น เซิร์ฟ พิธีมอบเหรียญรางวัลเกิดขึ้นบนชายหาด ไม่สะดวกเลยที่จะสวมรองเท้าเกี๊ยะญี่ปุ่นเดินบนชายหาด เมื่อทบทวนดูแล้ว รองเท้าแตะรัดส้นแบบตะวันตก น่าจะสะดวกกับทุกสถานที่ในพิธีมอบเหรียญรางวัลสำหรับกีฬาทุกประเภท
“เราทำงานด้วยกันเป็นทีม ร่วมกับช่างหัตถกรรมและบุคลากรโรงงาน เพื่อตัดเย็บเครื่องแต่งกายอย่างพิถีพิถัน ผมหวังจริงๆ ว่าพิธีมอบเหรียญรางวัลจะเป็นนาทีที่น่าจดจำสำหรับทุกคนที่มีส่วนร่วม หากเครื่องแต่งกายทำให้ผู้ทำงานภาคสนามสวมใส่สบายและคล่องตัว ขณะเดียวกันก็ยังมีความเป็นตัวของตัวเอง รู้สึกภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันและไม่เสียสมาธิกับพิธี ผมก็จะมีความสุขมาก” มร.โซตะ กล่าว
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ : olympics.com
* * * * *
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โพเดียม ‘โอลิมปิก 2020’ สวยงามมากกว่าที่ตามองเห็น
‘ญี่ปุ่น’ รีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ 78,985 ตัน ทำ ‘เหรียญ’ รางวัล ‘โอลิมปิก’ 2020