เลียบค่ายยุทธวิธี 'คาร์ม็อบ' ปลุกเร้า 'สิงหา' เดือด
"คาร์ม็อบ" กำลังเร่งขยายเป็นยุทธิวิธีล้อหมุน เดินหน้าขับไล่นายกฯ ปลุกเร้ากดดันรัฐบาลตลอดเดือน ส.ค.
ดีเดย์อาทิตย์ 1 ส.ค. สมบัติ บุญงามอนงค์ นัดจัดกิจกรรม "คาร์ม็อบ" ครั้งที่ 3 ตลอดแนวถนนวิภาวดี-รังสิต เพื่อเคลื่อนขบวนกดดันขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกฯ รัฐมนตรี โดยใช้สัญลักษณ์เปิดไฟกระพริบและบีบแตรส่งเสียงดังตลอดเส้นทาง
ที่ผ่านมาการจัด "คาร์ม็อบ" ทั้ง 2 ครั้งถือว่าเข้าเป้าในยุทธวิธีการบริหารจัดการในสถานการณ์ "โควิด" ระบาดในกรุงเทพฯ เมื่อการเลือกใช้ยานพาหนะส่วนตัวมาจัดเป็น "คาร์ม็อบ" ปิดช่องลดความเสี่ยงต่อการระบาดมากกว่าม็อบบนถนน
ยิ่งจำนวนผู้เข้าร่วมเริ่มขยับมากกว่าเดิมในแต่ละครั้ง เป็นสิ่งที่ "บก.ลายจุด" มั่นใจว่าการจัดคาร์ม็อบครั้งที่ 3 จะขยายแนวร่วมจากกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลในพื้นที่ต่างจังหวัดเข้ามาในกรุงเทพฯให้มากกว่าเดิม จากการสลับรับช่วงจาก "ม็อบถนน" เพื่อสลับกิจกรรมให้กระแสการต่อต้านรัฐบาลยังเดินหน้าต่อไป
หากย้อนไปถึงการจัด "คาร์ม็อบ" ครั้งแรกใช้เส้นทางสัญลักษณ์ทางการเมืองบนถนนราชดำเนิน จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า แล้วกลับมาสิ้นสุดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
จากนั้น "คาร์ม็อบ" ครั้ง 2 เริ่มต้นถนนราชดำเนินอีกครั้ง แล้วใช้เส้นทางตามแนวที่ทำการพรรคการเมืองรัฐบาลตั้งแต่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรครวมพลังประชาชาติไทย และในครั้งที่ 3 ถูกปักหมุดใช้เส้นทางถนนวิภาวดี-รังสิตเริ่มในเวลา 13.00 น. ไปสิ้นสุดช่วง 4 โมงเย็น
สำหรับยุทธวิธีคาร์ม็อบเลือกใช้ "วิภาวดี-รังสิต" นั้น ถือว่าล็อกเป้าเส้นทางสำคัญเชื่อมต่อถนนในกรุงเทพฯ กับภาคกลาง ภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งเป็นถนนเส้นหลอดเลือดใหญ่ในกรุงเทพฯ มีจุดเริ่มต้นที่แยกใต้ทางด่วนดินแดง ไปบรรจบกับถนนพหลโยธินที่ทางแยกต่างระดับอนุสรณ์สถานแห่งชาติ รวมระยะทางยาวกว่า 23.5 กิโลเมตร
โดยเฉพาะเป้าการเคลื่อนขบวนครั้งนี้ "สมบัติทัวร์" ต้องการขยายแนวร่วม "ไร้รอยต่อ" จากม็อบต่างจังหวัดเข้าสู่เมืองกรุง บนเส้นทางถนนวิภาวดี-รังสิต ไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวในส่วนภูมิภาค ซึ่งนัดหมายจัดกิจกรรม "แฟรนไชส์คาร์ม็อบ" อย่างน้อย 10 กลุ่มไปพร้อมกัน อาทิ
กลุ่มลำพูนปลดแอก มี 2 จุดนัดหมาย ลานหน้าธนาคารกรุงเทพ บ้านธิ เวลา 16.00 น. และหน้าสถานีรถไฟลำพูน 16.30 น. กลุ่ม Korat No เผด็จการ นัดหมายเวลา 15.30 น.ที่ประตูชุมพล หลังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี กลุ่มขอนแก่นพอกันที และสมัชชานักศึกษาอีสาน เวลา 16.00 น. ที่บึงแก่นนคร
กลุ่มคนคอนจะไม่ทน รวมพล 14.00 น. ที่หัวถนน มุ่งหน้าศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช กลุ่มรังสิตพะยอมเก๋า นัดหมายหน้า ม.รังสิต เวลา 11.00 น. มุ่งหน้าถนนวิภาวดี-รังสิต กลุ่ม Protect Freedom และกลุ่มราษฎรนครปฐม นัดหมายเดินทางจากจังหวัดนครปฐม มุ่งหน้ากรุงเทพมหานคร นัดหมาย 11.00 น. ที่องค์พระปฐมเจดีย์ มุ่งหน้าถนนวิภาวดี-รังสิต
กลุ่มคนลำปางจะไม่ทน นัดระดมพลที่หอนาฬิกา 16.00-18.00 น. ใส่เสื้อดำขับไล่ร่วมไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตด้วยขับรถเปิดไฟกระพริบบีบแตรไล่ประยุทธ์ สหพันธ์นักเรียนเพชรบูรณ์ นัดหมายรวมขบวนรถหน้าลานองค์พระพุทธมหาธรรมราชา เวลา 15.00 น. เคลื่อนขบวนเวลา 16.00 น. กลุ่มอุดร พอกันที นัดหมายเวลา 16.00 น. ที่ทุ่งศรีเมือง กลุ่มราษฎรกำแพงเพชร นัดหมาย 16.00 น. ที่วงเวียนต้นโพธิ์
สำหรับพัฒนาการชุมนุมที่เปลี่ยนแปลงมาถึง "คาร์ม็อบ" แต่หากย้อนไปในรอบ 30 ปี เปลี่ยนฉากทัศน์มากมายตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภา 35 ซึ่งได้รับการเรียกขานเป็น "ม็อบมือถือ" จากนั้นถึงปรากฎการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ในปี 2549 ขึ้นชื่อว่าเป็น "ม็อบมือตบ" หรือของกลุ่มเสื้อแดงในปี 2552-2553 ถูกเรียก "ม็อบตีนตบ" มาถึงการชุมนุมกลุ่ม กปปส.ในปี 2556 ใช้นกหวีดเป็นสัญลักษณ์การชุมนุมจนถูกเรียกว่า "ม็อบนกหวีด"
กระทั่งการเคลื่อนไหวในปี 2563-2564 มีการขับเคลื่อนการชุมนุมจากหลายแนวมร่วมเพื่อต่อต้านรัฐบาล "ประยุทธ์" โดยเชื่อมโยงสัญลักษณ์แต่ละกลุ่มด้วยการชู "สามนิ้ว" จนมาถึงการเคลื่อนไหวสถานการณ์ระบาดของโควิด โดยใช้ยานพาหนะเคลื่อนไหวในยุทธ์วิธี "คาร์ม็อบ"
หากเจาะไปถึงยุทธวิธี "คาร์ม็อบ" ในกรุงเทพฯ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในรูปแบบใหม่การจัดประท้วง แต่เกิดขึ้นมาแล้วหลายต่างประเทศทั่วโลก เพื่อ "ปรับ" รูปแบบเคลื่อนไหวให้รองรับกับสถานการณ์โควิดที่ระบาดอย่างหนักในแต่ละประเทศฝั่งยุโรปและอเมริกา
เห็นได้ชัดจากการประท้วงในสหรัฐฯ ในการต่อต้านการเหยียดสีผิวและเรียกร้องความยุติธรรมให้ "จอร์จ ฟลอยด์" ชายชาวอเมริกันผิวดำที่เสียชีวิตจากการจับกุมจากการกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งชาวอเมริกันในหลายเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ อาทิ วอชิงตันดีซี แคลิฟอร์เนีย มีการใช้รถยนต์เคลื่อนไหวแสดงออก
หรือการชุมนุม "คาร์ม็อบ" ในประเทศสเปนเมื่อกลางเดือนพ.ค.2563 มีประชาชนชาวสเปนในกรุงมาดริด นำโดยพรรค VOX ออกมาประท้วงต่อตานการล็อกดาวน์ในสถานการณ์โควิดในประเทศ พร้อมทั้งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี "เปโดร ซานเชซ" ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาการระบาดได้ ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งได้กำหนดให้ผู้ประท้วงขับรถผ่านเมืองใหญ่ๆ โดยไม่ต้องออกจากรถเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม
สำหรับการก่อตัวชุมนุมในประเทศไทย ในกระแสกดดันถาโถมรัฐบาลตั้งแต่กลางปี 2563 ต่อเนื่องถึงกลางปี 2564 จากท่าทีนายกฯไม่ตอบรับข้อเรียกร้องในการลาออกจากตำแหน่ง ทำให้ที่ผ่านมาแกนนำแนวร่วมหลายกลุ่มยังเดินหน้าใช้เป็น "ชนวน" ปลุกการเคลื่อนไหวต่อเนื่องไปถึงสัญลักษณ์การเคลื่อนไหวใหญ่ในเดือน ต.ค.
ไม่ใช่แค่ท่าที "เมินเฉย" ต่อข้อเรียกร้องที่มีต่อรัฐบาลเพียงอย่างเดียว แต่ปัญหาการแก้ไขสถานการณ์โควิด รวมถึงแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจากกรรมาธิการ มีหลายงบประมาณที่กำลังถูกจับตาว่าเป็นไปตามความเหมาะสมในวิกฤติประเทศขณะนี้หรือไม่ กำลังยังถูกขยายไปเป็นภาพใหญ่ของการชุมนุม
การเคลื่อนไหวทั้งออนไลน์-ออนไซต์ซึ่งกำลังขยายตัว ยังไม่นับรวมท่าที "กลุ่มพลังเงียบ" หลายวงการทยอยออกตัว Call out เพื่อกดดันรัฐบาลต่อการบริการประเทศในสถานการณ์โควิดระบาดอย่างหนัก ตั้งแต่กลุ่ม ศิลปิน ดารา นักแสดง หรือกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดคนในสังคม โดยเฉพาะกลุ่ม "พลังเงียบ" ยังเป็นกองหนุนสำคัญที่ทุกกลุ่มการชุมนุมต้องการขยับเป็นแนวร่วม
ดีเดย์ 1 ส.ค.ข้ามเดือนใหม่ในรูปแบบ "คาร์ม็อบ" กำลังเร่งขยายเป็นยุทธิวิธีล้อหมุนเดินหน้าขับไล่นายกรัฐมนตรีในครั้งต่อๆ ไป ปลุกเร้ากดดันรัฐบาลตลอดเดือน ส.ค.