84 ปี เจตนา นาควัชระ ครูของนักวิจารณ์ : การฟังคนอื่นคือ สิ่งที่ดีที่สุด

84 ปี เจตนา นาควัชระ ครูของนักวิจารณ์ : การฟังคนอื่นคือ สิ่งที่ดีที่สุด

ครบรอบ 84 ปี "ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ" นักวิจารณ์ชั้นเซียน ที่ลูกศิษย์หลายรุ่นมาร่วมสนทนาออนไลน์ ซึ่งความเห็นที่แตกต่างไม่ใช่ปัญหา แต่จะนำไปใช้กับชีวิตอย่างไร นอกจากนี้ยังพูดถึงที่มาของหนังสือคุณปู่แว่นตาโต 

"ผมเองเป็นครูภาษาต่างประเทศ การได้ทำงานกับคนหลายๆ วัย เป็นกำไรชีวิต ทำให้ผมเห็นมุมมองของคนอื่น แล้วก็พยายามเข้าใจคนอื่น เมื่อผมเรียนจบกลับมาจากเยอรมัน 

งานชิ้นแรกที่ผมได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ คือ จดรายงานการประชุมนานาชาติด้านการศึกษา ผมต้องพยายามฟังคนจากหลายชาติ บางชาติฟังยากมาก ผมฟังไม่ออก มีฝรั่งมาช่วย ฝรั่งก็ฟังไม่ออก ในที่สุดผมก็สรุปตามที่ผมต้องการ

 

สิ่งที่ดีที่สุดที่ผมได้รับตั้งแต่งานชิ้นแรกก็คือ การที่ผมฟังคนอื่นอย่างใจจดใจจ่อ เข้าใจว่าเขาต้องการจะสื่อความอะไร จากนั้นผมมาแปลงเป็นภาษาของผมเอง ที่มันเป็นดินแดนกลางที่คนอื่นๆ เข้าใจได้ด้วย 

แต่ไม่ได้หมายความว่าผมได้สลายตัวตนไปโดยสิ้นเชิง ผมยังมีตัวตนของผมอยู่ แต่เป็นตัวตนที่เปิดรับโลกภายนอก เปิดรับประสบการณ์ของมนุษย์คนอื่น มีความเคารพต่อความเห็นคนอื่น สิ่งเหล่านี้เล็กๆ น้อยๆ เราน่าจะเรียนรู้"

ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ และอดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เป็นต้นแบบตัวละครในหนังสือ “คุณปู่แว่นตาโต” กล่าวในสนทนาออนไลน์ “84 ปี เจตนา นาควัชระ : เปิดประตูสู่สวนกุหลาบคุณปู่แว่นตาโต” ที่จัดขึ้นโดย เพจ TRF Criticism เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564

162806399818 อาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง กับ ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ 

คุณปู่แว่นตาโต

เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่ ชมัยภร แสงกระจ่าง นักประพันธ์, นักวิจารณ์, อาจารย์, ประธานชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ พ.ศ.2515 ผู้จัดตั้งกลุ่มวรรณกรรมพินิจ พ.ศ. 2521 ได้แต่งขึ้นจากประสบการณ์ที่ได้ร่วมงานในโครงการวิจัยของ อาจารย์เจตนา นาควัชระ และมองเห็นบางอย่างที่น่าจะนำมาถ่ายทอดเป็นหนังสือ

“หัวใจสำคัญของเรื่องคุณปู่แว่นตาโต อยากจะให้เรียนรู้เรื่องศิลปะสี่แขนง ที่คิดว่า เด็กๆ นักวิจัยในเรื่องน่าจะถ่ายทอดได้ เป็นหนังสือที่ทำขึ้นมาด้วยความรู้สึกเห็นภาพน้องๆ ในโครงการวิจัยที่เขาดูแล อ.เจตนาอย่างดี ก็เลยเอาน้องๆ เข้าไปอยู่ในเรื่องด้วย ในเรื่องจะมีตัวละครที่เป็นเด็กๆ มีบ้านของคุณปู่ เราก็ถอดเรื่องที่อาจารย์พูด แล้วให้เด็กๆ เล่าแบบนั้น ทำให้เกิดโครงเรื่องสองชั้นขึ้นมา คือ ชั้นที่เป็นเด็กและชั้นที่เกิดการเรียนรู้กับผู้วิจัย”

การเรียนรู้ของคนต่างวัย

การสนทนาครั้งนี้ มีนักวิจัยที่เคยร่วมงานและเป็นต้นแบบตัวละครในเรื่อง มาร่วมพูดคุยด้วยมากมาย อย่าง รศ.ดร.ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์ อาจารย์สาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เป็นโครงการวิจัย ที่ถูกบังคับให้ทุกคนมาประชุมบ่อยมาก แทบทุกอาทิตย์เลย

“ไม่ได้ประชุมเล่นๆ แต่เหมือนเรียนปริญญาเอกที่มีความเข้มข้น มีวิชาการเยอะ บางครั้ง อาจารย์อธิบายมโนทัศน์ในใจให้พวกเราฟัง หรือเล่าความหลังที่เชื่อมโยงมาสู่ความรู้ เป็นนัยยะเชิงทฤษฎี แล้วให้พวกเราไปคิดต่อยอด นัยยะในแขนงของแต่ละท่าน พวกเราต้องมาคุยกันแล้วก็วิจารณ์แล้วก็แลกเปลี่ยนความรู้กัน เป็นมนุษย์สัมผัสมนุษย์ขั้นปรมัตถ์สูงสูด ซึ่งงานประจำเราก็หนักมาก อาจารย์ก็มอบการบ้านเยอะ 

ส่วน บวรพงศ์ ศุภโสภณ นักวิจารณ์ดนตรี กล่าวว่า เวลาแสดงความคิดเห็นอะไรบางอย่างที่ไม่ตรงกับอาจารย์เจตนา ไม่เคยเป็นปัญหา

“อาจารย์จะพูดในมุมที่บางคนในสาขานั้นก็ไม่ได้เห็นด้วย แล้วเขาก็แย้ง มันทำให้เกิดพลังทางปัญญา แต่ต้องอยู่บนรสนิยมและฐานของความรู้ที่ถูกต้อง การมีมุมมองทางศิลปะทางดนตรีที่ไม่ตรงกัน กล้าที่จะโยนความคิดนั้นออกมาให้คนอื่นได้รับรู้ ทำให้เกิดการถกเถียง อาจารย์เป็นแบบอย่าง ทำให้เห็นว่าการวิจารณ์ดนตรีควรจะมีสัดส่วนยังไง”

การเรียนรู้ของคนต่างสาขา

โครงการวิจัยที่เป็นต้นแบบที่มาของหนังสือคุณปู่แว่นตาโตเล่มนี้นั้น มีผู้เข้าร่วมหลากหลายรุ่นด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ อาจารย์, นักวิชาการ, นักวิจารณ์วรรณกรรม ผู้ไม่เคยร่วมงานกับโครงการวิจัยมาก่อน

“งานศิลปะไม่ใช่กวีนิพนธ์อย่างเดียว พอได้รับการเข้าร่วมงานวิจัย ก็เหรอหรามากเพราะเคยเขียนแต่ตำรา คำที่งงมากคือ ‘สังเคราะห์’ คืออะไร รู้จักแต่ ‘วิเคราะห์’ อ.เจตนาก็ไม่เคยตอบมาตรงๆ การเรียนรู้กับเพื่อนร่วมงานต่างสาขาเป็นความรู้ เป็นประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ การทำงานร่วมกันเป็นทีมก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง 

คนอายุน้อยกว่าสามารถแสดงความคิดเห็นได้ อาจารย์แสดงให้เห็นถึงการวิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นของคนที่เป็นเด็กรุ่นหลังแล้วก็เถียงกับอาจารย์ได้ มันเป็นสิ่งที่เติบโตงอกงามในตัวเรา"

162806409320 นอกจากนี้ อ.รื่นฤทัย ยังได้เรียนรู้เรื่องการทำงาน การจัดการที่ต่างไปจากที่ตัวเองเคยทำมาอีกด้วย

"ได้เรียนรู้เรื่องวิธีการจัดการ เตรียมงานล่วงหน้าตลอด เช่น ไปคิดมาได้แล้ว 6 เดือนข้างหน้าจะทำอะไร ทำให้เกิดเป็นนิสัยของเราในเวลาต่อมา การทำงานกับอาจารย์่ช่วยลดอัตตาของตัวเองลงมาก เราเขียนหนังสือมาเยอะ มาทำงานวิจัย ยังต้องถูกตรวจทั้งเนื้อหาแล้วก็ภาษา อาจารย์ไม่เคยตรวจแก้ให้ แต่จะตั้งคำถามว่าทำไม ให้เราไปคิด แล้วแก้ไขเอง

ยังมีเรื่องการ ‘ซ้อมจับเวลา’ อย่างเอาจริงเอาจัง แม้เราจะแสดงผลงานของเราต่อสาธารณชน เราก็ต้องซ้อม จะได้ไม่กินเวลาคนอื่น ได้เรียนรู้สร้างบุคลิกของตัวเราให้เป็นนักวิชาการที่ไม่ใช่แค่รับผิดชอบงานของตัวเอง แต่ต้องรับผิดชอบงานของคนอื่นด้วย

สิ่งหนึ่งที่ประทับใจอย่างยิ่ง อาจารย์จะเตือนเราตลอด ต้องใช้เงินในการวิจัยอย่างประหยัด ทุกบาททุกสตางค์เราใช้โดยยึดว่า นี่คือเงินภาษีประชาชน สิ่งที่เราทำคือตอบแทนให้กับแผ่นดิน มันตอบแทนเล็กน้อย แต่ผลที่ได้มันยิ่งใหญ่กว่านั้น โครงการวิจัยของที่อื่นอาจจะมองเป็นตัวเงิน 

แต่โครงการวิจัยของอาจารย์คือ งานยิ่งใหญ่กว่าตัวเงินที่ได้รับมาตลอด นี่คือสิ่งที่ได้รับมาจากอาจารย์ และได้รับการปลูกฝังโดยทางอ้อม นอกเหนือจากความรู้ต่างๆ บนโต๊ะอาหาร ก็เป็นการสอนนอกระบบ”

162806416178 คุณปู่แว่นตาโต 

การเรียนรู้ในตัวเอง

ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ กล่าวว่า ตัวละครคุณปู่แว่นตาโตในนวนิยาย คือการยืนยันจุดยืนของตัวเอง

“นิยายเรื่องคุณปู่แว่นตาโต แสดงให้เห็นชัดว่าเราเป็นตัวของตัวเองและเกิดความมั่นใจในตัวเอง ไม่ได้อย่างเด็ดขาด ถ้าเราไม่ได้ปะทะสังสรรค์ทางความคิด ได้แลกเปลี่ยน ได้เปลี่ยนความคิดตัวเอง ยอมรับความคิดคนอื่น ที่เราคิดว่ามีเหตุมีผล มันเหนือเรา ถ้าไม่ยอมรับสิ่งนั้น โลกมันเดินไปข้างหน้าไม่ได้

นิยายเรื่องนี้ช่วยยืนยันจุดยืนของผม ที่ว่า ทฤษฎีที่มันกลายรูปไปเป็นมโนทัศน์ต่างๆ นั้น มันต้องมาจากประสบการณ์จริง ประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับตัวงานศิลปะ ซึ่งเป็นงานต้นแบบ ประสบการณ์ที่ได้มีการอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีทวิวัจน์(การสนทนาโต้ตอบกัน)อันเข้มข้น แล้วจากนั้นกลั่นออกมาให้เป็นมโนทัศน์”

การถกเถียงคือสิ่งสำคัญ

อาจารย์เจตนายังบอกอีกว่า การได้พูดคุยกัน ถกเถียงกัน เป็นสิ่งที่ดี ทำให้เห็นมุมมองที่ต่างออกไปจากตัวเอง

“การที่คนอื่นมองเรา มาจากความคิดของเขาเอง จากการปะทะสังสรรค์ จากการที่ได้ค้านเรา จากการที่ได้มีทวิวัจน์กับเรา มันทำให้เรารู้จักตัวเองดีขึ้น โลกแห่งการเรียนรู้ในปัจจุบัน เป็นโลกที่กว้างใหญ่ไพศาล บทบาทของคนอื่น ยิ่งมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นทุกที

สภาวะอุดมศึกษาในปัจจุบัน กฎระเบียบมันรัดมือ จนเราทำอะไรไม่ได้ เวลาเราเสนออะไรไป มันมีสูตรสำเร็จที่เขาตั้งมา นี่เป็นสิ่งที่อันตราย จุดนี้ผมคงไม่ถอย ที่ว่ามนุษย์ยังคงต้องเป็นศูนย์กลางในการวินิจฉัยอะไรอยู่อีก

มันไม่ใช่สิ่งที่เขาพยายามจะยัดเยียดให้กันนะ การศึกษาในปัจจุบัน มันมีมโนทัศน์ที่ชาวตะวันตกเขาตั้งไว้แล้ว เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ซึ่งมันไม่จริง 

ผมเขียนหนังสือมาหลายเล่มแล้ว ผมพยายามจะพิสูจน์ว่า มันไม่มีกระแสหลัก ในวิชาอย่างเรา มันมีหลายๆ กระแสเดินเคียงข้างกันไป ถ้าเราไม่รับรู้กระแสอื่นๆ ในที่สุดเราจะเป็นคนที่แคบมากๆ "

162806455542 อาจารย์เจตนา นาควัชระ Cr.Chetana Nagavajra

งบการวิจัยมาจากภาษีประชาชน

อาจารย์เจตนา ทำงานวิจัยมาตลอด และทำหลายๆ โครงการ  โดยใช้จ่ายทุกอย่างเฉพาะที่จำเป็น

“เรื่องเราเอาเงินหลวงมาใช้ในงานวิจัย ผมสำนึกตลอดเวลาว่า เรากำลังใช้เงินหลวง งานที่ได้ มันเกินกว่าเงินที่ใช้ ทุกครั้งที่ผมไปสนทนากับนักเรียนทุนที่กำลังจะไปต่างประเทศ เขาเชิญผมในฐานะที่ผมเป็นนักเรียนทุน ผมพูดว่า "ทุนนั้นใช้หมด แต่บุญคุณใช้ไม่หมด"

ผมออกจากบ้าน(เมืองไทย)เมื่ออายุ 17 กลับมาถึงบ้านอายุ 28 หลวงเลี้ยงผมมาตลอดเวลา คำว่า 'เงินหลวง' แปลว่า Public Money ผมต้องสำนึกบุญคุณอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าผู้ที่จ่ายภาษีนิรนามทั้งหลาย ทำให้ผมได้รับการศึกษาที่ดี ถ้าไม่ได้เงินหลวง พ่อผมเป็นครูใหญ่ ร.ร.มัธยม แม่เป็นแม่บ้าน มีลูก 6 คนเรียนหนังสือพร้อมกัน 6 คน พ่อผมต้องไปกู้เงินเขามา แต่ผมได้เรียนหนังสือที่ดีเพราะเหตุนี้”

อาจารย์เจตนายังบอกอีกว่า โลกของเราจะดีขึ้น เพราะการสร้างสรรค์ทำสิ่งที่ดีงามให้แก่กันระหว่างมนุษย์ด้วยกัน

“การที่เราทำอะไรบางอย่าง ปัญญามนุษย์จะช่วยจรรโลงให้โลกนี้อยู่ได้ ณ เวลานี้ที่ผมกำลังพูดอยู่ มีคนไทยที่กำลังจะตายด้วยโควิดทุกวันร้อยกว่าคน ที่เรามาพูดกันวันนี้ ไม่ใช่สิ่งบันเทิง นวนิยายที่เราพูดถึง ลึกๆ แล้วมีเนื้อหาสาระชี้ให้เห็นว่า เรากำลังพยายามแสวงหาบางอย่าง ‘สมบัติแห่งปัญญา’ ที่มาจากงานศิลปะ มาจากปัญญามนุษย์ มาจากการปะทะสังสรรค์ของมนุษย์ 

เราจะมอบสิ่งนี้ประสบการณ์ชั้นสอง ประสบการณ์ชั้นหนึ่งคือการสร้างสรรค์ศิลปะ แม้จะเป็นประสบการณ์ชั้นสองเราก็คิดว่าได้ตอบแทนบุญคุณผู้เสียภาษีอากรนิรนามแล้ว บุญคุณนั้นใช้ไม่หมด”

........................

ผู้สนใจฟังคลิปการสนทนาได้ที่ https://www.facebook.com/thaicritic/videos/536789894184546