เตรียมมาตรการ เร่งฟื้นฟู 'ภาวะถดถอยการเรียนรู้' ของเด็กในยุคโควิด-19

เตรียมมาตรการ เร่งฟื้นฟู 'ภาวะถดถอยการเรียนรู้' ของเด็กในยุคโควิด-19

กสศ.จับมือ สพฐ. เร่งทำงานเชิงรุกแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงชั้นรอยต่อ ในช่วงโควิด-19 พร้อมเตรียมมาตรการเร่งฟื้นฟู 'ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้'  หลังกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลกลุ่มนักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มรอยต่อ (ชั้นอนุบาล 3,ป. 6 และ ม.3) ภายใต้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จากนักเรียนที่ได้รับเงินสนับสนุน 800 บาท จำนวน 294,454 คน มีนักเรียนที่ระบุว่าจะไม่เรียนต่อ 5,871 คน โดยกลุ่มนักเรียนในสังกัด สพฐ. 286,390 คน ระบุว่าจะไม่เรียนต่อ 5,654 คน

อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ระบุว่าจะเรียนต่อในภาคเรียนที่ 1/2564 พบว่ามีรายชื่อศึกษาต่อในฐานข้อมูลนักเรียนรายบุคคลจำนวน 214,202 คน หรือคิดเป็น 78.9% ของกลุ่มที่ระบุว่าจะเรียนต่อ และไม่พบข้อมูลในระบบ 57,590 คน หรือ 21.1% นอกจากนี้ในส่วนของกลุ่มที่แจ้งว่าจะไม่เรียนต่อมีเด็กที่เปลี่ยนใจกลับมาเรียนต่อ 1,428 คน หรือ 25% ของกลุ่มที่ระบุว่าจะไม่เรียนต่อ

162824247879

ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า ฐานข้อมูลสารสนเทศนี้จะเป็นเป้าหมายสำคัญที่ช่วยกำหนดทิศทางของ กสศ.ในการออกสองมาตรการ คือมาตรการป้องกัน-มาตรการแก้ไขปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างเป็นระบบ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการสำรวจข้อมูลนักเรียนเพิ่มเติมทั้งในส่วนของเด็กที่ระบุว่าจะเรียนต่อแต่สุดท้ายไม่ได้เรียนต่อ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์และวางแผนการทำงานช่วยเหลืออย่างเป็นระบบต่อไป

  • จัดโปรแกรมฟื้นฟู 'ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้' 

โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนที่จบชั้น ม.3 จากข้อมูลของกลุ่มที่ระบุว่าจะเรียนต่อ 65,101คน แต่มีรายชื่อศึกษาต่อในฐานข้อมูลนักเรียนรายบุคคลว่าเรียนต่อ ม.4 จำนวน 34,212 คน หรือ 53% ขณะที่ 30,889 คน หรือ 47% ไม่มีรายชื่อในระบบฐานข้อมูลนักเรียนรายบุคคลของ สพฐ.

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นในส่วนของนักเรียนที่จบชั้น ม.3 การนำเด็กนักเรียนกลับเข้าระบบการศึกษาอาจต้องมี การเตรียมมาตรการสนับสนุนสร้างแรงจูงใจให้กลับมาเรียนในชั้น ม.4 หรือสถานศึกษาสายอาชีวศึกษาต่อได้ เช่น จัดโปรแกรมฟื้นฟู ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss Recovery) เพื่อชดเชยช่วงเวลาที่ต้องขาดเรียนไปอย่างน้อย 2-3 เดือน

“การทำงานต่อไป กสศ.และหน่วยจัดการศึกษา จะต้องเน้นรูปแบบการทำงานในเชิงรุก โดยไม่รอจนได้ข้อมูลที่รายงานเข้ามาว่าสุดท้ายเด็กหลุดจากระบบการศึกษาแล้วค่อยเข้าไปช่วยเหลือซึ่งอาจจะไม่ทันการณ์ หรือทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้ยากกว่ายังอยู่ในระบบแล้วให้ความช่วยเหลือ ดังนั้น จึงต้องเพิ่มการเก็บข้อมูลให้บ่อยขึ้น มีข้อมูลสารสนเทศที่เป็นเรียลไทม์มากขึ้น เพื่อให้เห็นสถานการณ์ของกลุ่มเด็กเปราะบาง ตั้งแต่ก่อนที่เด็กจะหลุดจากระบบการศึกษา และที่หลุดออกไปแล้ว ” ดร.กฤษณพงศ์ กล่าว

162824249393

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในฐานะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข กล่าวว่า หน่วยงานต้นสังกัด อย่าง สพฐ. อปท. ตชด. มีความห่วงใยนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัส โควิด- 19 ทั้งในส่วนของรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของแต่ละพื้นที่ความปลอดภัยในการดำเนินงาน ตลอดจนกลุ่มจำนวนนักเรียนยากจนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจมีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงโควิด – 19 ซึ่ง

  • เสริมมาตรการเร่งฟื้นฟู 'ภาวะถดถอยการเรียนรู้' ของเด็ก

สพฐ.ติดตามเฝ้าระวังและให้ความช่วยเหลือนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษาทุกคน ที่ตั้งใจลงพื้นที่คัดกรองนักเรียน ถึงแม้มีสถานการณ์โควิด-19 ครูหลายคนยังทำหน้าที่ช่วยเหลือคัดกรองเด็กจนมีตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งหมดล้วนมาจากความทุ่มเท ความเสียสละ แม้วันหยุดก็ยังลงไปในพื้นที่ทำงาน เพื่อช่วยเหลือกลุ่ม นักเรียนยากจนพิเศษ ให้ได้เรียนได้เข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาค

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า สำหรับภาคเรียนที่ 1/2564 กสศ.ได้จัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียน ทุนเสมอภาค กลุ่มเดิมสังกัด สพฐ.เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ในระดับชั้นอนุบาล คนละ 2,000 บาท ระดับชั้นประถมศึกษา– ม.ต้น คนละ1,500 บาท รวมนักเรียนทั้งหมด 896,087 คน ครอบคลุมสถานศึกษา จำนวน 27,512 แห่ง จำนวนเงินกว่า1,388 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าครองชีพ

162824250643

ค่าเดินทางในการมาเรียน เป็นหลักประกันเพื่อป้องกัน เด็กหลุดออกนอกระบบ ถึงแม้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวจะไม่มากแต่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระให้แก่ครัวเรือนของ นักเรียนยากจนพิเศษ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ยากจนที่สุดได้ เพราะเมื่อ ครอบครัวของเด็กนักเรียนกลุ่มนี้เผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ที่เข้ามาซ้ำเติมความยากจน ย่อมมีผลกระทบทำให้เด็กยากจนพิเศษมีโอกาสหลุดออกนอกระบบการศึกษามากขึ้นเช่นกัน

ดร.ไกรยส กล่าวว่า จากการติดตามผลการบันทึกข้อมูลนักเรียนยากจน (แบบ นร.01) ณ วันที่ 23 ก.ค. 2564 สถานศึกษาได้บันทึกขอรับเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนมาแล้วประมาณ1.4 ล้านคน คิดเป็นร้อย79 ของจำนวนที่จะต้องคัดกรองทั้งหมด เพื่อดำเนินการคัดกรองความยากจนตามขั้นตอนของ กสศ. สำหรับสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงและยังไม่สามารถดำเนินการคัดกรองความยากจนได้ กสศ.จะเปิดระบบให้บันทึกอีกครั้งระหว่างวันที่ 3 ส.ค.- สิ้นภาคเรียนที่ 1/2564 และจะพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือในภาคเรียนที่ 2/2564 ต่อไป