กรมทรัพย์สินทางปัญญาจับมือ 10 สถาบันการศึกษาตั้งศูนย์ TISC

กรมทรัพย์สินทางปัญญาจับมือ 10 สถาบันการศึกษาตั้งศูนย์ TISC

กรมทรัพย์สินทางปัญญา จับมือ 10 สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ สร้างเครือข่ายศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีนวัตกรรม ยกระดับการเข้าถึงข้อมูลและนวัตกรรมทั่วโลก นำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา   เปิดเผยว่า   กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการเครือข่ายศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีนวัตกรรม(TISC Thailand ) ระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา  และ 10 สถาบันอุดมศึกษา (Virtual Conference) ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  ซึ่งจะเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในการเข้าถึงกลุ่มนักประดิษฐ์นักวิจัย และผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสถาบันอุดมศึกษาไทยในเวทีโลก

162883370738

กรมทรัพย์สินทางปัญญา เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในครั้งนี้จะเป็นการเดินหน้าที่สำคัญของวงการทรัพย์สินทางปัญญาไทยในการสร้างนักประดิษฐ์และนักวิจัยที่มีคุณภาพ สร้างผลงานสิทธิบัตรและนวัตกรรมของไทยที่มีมูลค่า พร้อมสร้างรายได้เข้าประเทศผ่านการซื้อ-ขายสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และที่สำคัญเครือข่ายที่เข้มแข็งระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญากับสถาบันการศึกษาจะสามารถพัฒนาต่อยอดเป็นกิจกรรมอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อวงการทรัพย์สินทางปัญญาและเศรษฐกิจของไทยอย่างแน่นอน

“เป้าหมายสำคัญของการจัดตั้งศูนย์ TISC นอกจากมุ่งสร้างเครือข่ายส่งเสริมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ยังมีการให้คำปรึกษา วิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยี ขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และเชื่อมโยงนวัตกรรมสู่ภาคธุรกิจ"

สถาบันการศึกษาทั้ง 10 สถาบันมีหน่วยบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและหน่วยบ่มเพาะทรัพย์สินทางปัญญา มีศักยภาพในการให้บริการในระดับต่างๆ อยู่แล้ว เมื่อปรับมาเป็นศูนย์ TISC จะได้รับการสนับสนุนจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เบื้องต้นมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี ทำให้สถาบันการศึกษาสามารถยกระดับขยายบริการได้เต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น เทียบเท่า TISCs ทั่วโลก ที่เปิดให้บริการ ณ ปัจจุบัน 10 บริการ อาทิ ระบบการสืบค้นฐานข้อมูลสิทธิบัตร กว่า  200 ประเทศ  รวมถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญา( DIP) ของไทย การบริการสืบค้นข้อมูลด้วยโปรแกรมใหม่ล่าสุด Inspire แบบ On-Demand Searches การให้คำปรึกษาและวางแผนการบริหารจัดการด้านทรัพย์สินทางปัญญา ระบบการประมวลเทรนด์เทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสืบค้นข้อมูลเชิงลึก เป็นต้น

 

 

นายวุฒิไกร กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ TISC นี้นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย จะช่วยให้มหาวิทยาลัยยกระดับคุณภาพของงานวิจัย จากการใช้ระบบข้อมูลทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก สามารถยื่นจดทะเบียนทรัพย์สิน  ทางปัญญาให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัย ผลักดันงานวิจัยเพื่อสร้างเศรษฐกิจและเทคโนโลยีนวัตกรรมด้วยทรัพย์สินทางปัญญาให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยการอนุญาตให้ใช้สิทธิผ่านช่องทางต่างๆ พร้อมทั้งสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีมูลค่าสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและอุตสาหกรรม  มุ่งเน้นการบูรณาการในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เกิดระบบนิเวศน์ของนักคิด นักการตลาด และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระดับนานาชาติ  ซึ่งปัจจุบันศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TISC) มีอยู่ 80 ประเทศทั่วโลก เช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เป็นต้น เป็นเครือข่ายในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ของนักวิจัยและนักนวัตกรรม จาก 900 ศูนย์ 

สำหรับสถิติการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งการละเมิดเครื่องหมายทางการค้า  ละเมิดลิขสิทธิ์และละเมิดสิทธิบัตรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมศุลกากร ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย.ปี  2564 พบว่ามีจำนวน   3,744,342 ชิ้น 1,194 คดี