ส่องเทคโนโลยี 'วัคซีนโควิด' ไม่ได้มีแค่ 'ฉีด' แบบเดิมๆ แต่พัฒนาสู่แบบพ่น แบบผง แบบเม็ด

ส่องเทคโนโลยี 'วัคซีนโควิด' ไม่ได้มีแค่ 'ฉีด' แบบเดิมๆ แต่พัฒนาสู่แบบพ่น แบบผง แบบเม็ด

ชวนอัพเดท "วัคซีนโควิด" กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนในรูปแบบใหม่ๆ ล่าสุดพบหลายประเทศกำลังพัฒนาวัคซีนสู่รูปแบบพ่นจมูก แบบเม็ด แบบผง ในไทยเองก็เดินหน้าวิจัย "วัคซีนพ่นจมูก" เช่นกัน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก มีทีท่าว่าจะหนักขึ้น โดยเฉพาะโควิดสายพันธุ์เดลตาที่กำลังโจมตีในหลายๆ ประเทศอีกระลอก รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน จนถึงวันนี้โควิดเดลตายังคงแพร่ระบาดไม่หยุด ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความหวังเดียวของมนุษยชาติจึงหนีไม่พ้น "วัคซีนโควิด" รุ่นใหม่ ที่สามารถต่อสู้กับไวรัสกลายพันธ์ุได้

พูดถึง "วัคซีนโควิด" แล้ว หลายคนคงพอทราบข่าวแล้วว่า ปัจจุบันมีหลายบริษัทกำลังเร่งพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ๆ เพื่อให้สามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์ได้ดีขึ้น ไม่จะเป็นวัคซีนชนิด mRNA (messenger Ribonucleic Acid) และวัคซีนชนิดที่ทำจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อไวรัส (Protein subunit vaccine) ซึ่งทั้งสองชนิดนี้เป็นวัคซีนแบบของเหลวที่ใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

แต่รู้หรือไม่? ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังวิจัยและทดลองผลิตวัคซีนรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะวัคซีนของเหลวอีกต่อไป กล่าวคือ เรากำลังจะได้ใช้วัคซีนในรูปแบบใหม่ๆ เช่น วัคซีนแบบพ่นจมูก วัคซีนแบบผง และแบบเม็ด กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนส่องนวัตกรรมใหม่ๆ ในวงการวิจัยวัคซีนโควิด ว่าเรากำลังจะได้ใช้รูปแบบไหนบ้าง?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

1. วัคซีนพ่นปากและจมูก ไม่ใช่เรื่องใหม่

จริงๆ แล้วเรื่องวัคซีนพ่นจมูกไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีการรายงานข่าวเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ ในการพัฒนาวัคซีนมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 มีข้อมูลจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) เตรียมอนุมัติการใช้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รุ่นใหม่กว่า 10 รุ่น ที่จะผลิตและนำมาใช้ได้ช่วงปลายปี 2564 หรือปี 2565 

"ประกอบด้วยวัคซีนแบบเข็มเดียว วัคซีนแบบพ่นทางปากและจมูก ตลอดจนแผ่นแปะบริเวณผิวหนัง ซึ่งสามารถจัดเก็บในอุณภูมิห้องได้ สำหรับใช้ในกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถรับวัคซีนแบบปกติ เฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงตั้งครรภ์" Soumya Swaminathan หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก กล่าว

โดย WHO คาดว่า การทดสอบประสิทธิภาพทางคลินิก และกระบวนการทบทวนตามกฎหมายของวัคซีนรุ่นใหม่ 6-8 รุ่น จะแล้วเสร็จในห้วงปลายปี 2564 

162911219963

2. เช็ค! วัคซีนแบบพ่นจมูก ผลงานนักวิจัยไทย

ไม่นานนี้ มีรายงานข่าวว่าประเทศไทยเองก็กำลังวิจัยและทดลองผลิต "วัคซีนโควิด" แบบพ่นจมูกและปาก เช่นกัน โดย สวทช. ร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) แบบพ่นจมูก ออกมาได้สำเร็จ ซึ่งผ่านการทดสอบในหนูทดลองเรียบร้อยแล้ว พบว่ามีประสิทธิภาพต่อการสร้างภูมิคุ้มกันโรคที่เกิดขึ้น 

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยฯ ไบโอเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า วัคซีนโควิด-19 ชนิดพ่นจมูก เป็นวัคซีนที่พ่นละอองฝอยในโพรงจมูกผ่านเข็มฉีดพ่นยาชนิดพิเศษ ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อส่งวัคซีนไปเสริมสร้างภูมิคุ้มกันใน "เยื่อเมือก" ของระบบทางเดินหายใจส่วนบนโดยตรง

โดยปกติไวรัสโคโรนาที่ก่อโรคโควิด-19 มักจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก และก่อตัวขึ้นในโพรงจมูก ก่อนที่จะแพร่กระจายไปยัง "ปอด" จากการทดสอบพบว่า แอนติบอดีในเยื่อเมือกของระบบทางเดินหายใจส่วนบน จะสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วและดีกว่าวัคซีนแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 

ล่าสุด ทีมวิจัยไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี ไบโอเทค มีความคืบหน้าในการพัฒนาเป็นต้นแบบวัคซีนเป็นอย่างมาก ซึ่งพัฒนาเป็นวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 แบบพ่นจมูก ออกมาได้ 2 ชนิด คือ 

  • วัคซีนชนิด Adenovirus 

มีการแสดงออกของโปรตีนสไปค์ ออกแบบโดยการพ่นเข้าจมูกผ่านละอองฝอย มีการทดสอบในหนูทดลองที่ฉีดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว พบว่า หนูทดลองนอกจากไม่มีอาการป่วย ยังมีน้ำหนักขึ้นสูงกว่ากลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามอย่างเห็นได้ชัด ผลการทดสอบความปลอดภัยไม่มีปัญหา และกำลังจะทดสอบวัคซีนนี้ในอาสาสมัครมนุษย์ในรูปแบบที่สร้างจากไวรัสสายพันธุ์เดลตา ในเร็วๆ นี้

  • วัคซีนชนิด Influenza virus 

มีการแสดงออกของโปรตีน RBD ของสไปค์ ตัวนี้กำลังต่อคิวทดสอบประสิทธิภาพการคุ้มโรคโควิด-19 และได้ทดสอบในหนูทดลองแล้ว โดยการทดลองทั้งแบบพ่นเข้าจมูกผ่านละอองฝอยและแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ พบว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งในรูปแบบแอนติบอดี และ Tcell ได้สูง เช่นเดียวกัน คาดว่าจะเริ่มทดสอบในมนุษย์เฟสแรกปลายปี 2564 นี้ และต่อเนื่องเฟส 2 ในเดือนมีนาคม 2565 หากได้ผลดีจะสามารถผลิตใช้ได้ประมาณกลางปี 2565 นี้

162911220133

3. นักวิจัยสวีเดน เปิดตัววัคซีนโควิดรูปแบบผง

วัคซีนโควิดอีกรูปแบบที่น่าสนใจคือ "วัคซีนรูปแบบผง" ซึ่งมีข้อมูลจากสำนักข่าว BBC thai ระบุว่าวัคซีนรูปแบบดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นโดย Medicon Village ในเมืองลุนด์ ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสวีเดน ร่วมกับบริษัท อีโคโนโว (Iconovo) และบริษัทสตาร์ตอัพที่ชื่อ ไอเอสอาร์ (ISR) ในกรุงสตอกโฮล์ม 

การผลิตวัคซีนชนิดนี้ ทำโดยใช้โปรตีนที่สร้างขึ้นมาใหม่ โดยเลียนแบบให้เหมือนกับโปรตีนของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 (ต่างกับวัคซีนแบบฉีดของหลายยี่ห้อที่ใช้ RNA หรือ DNA จากไวรัส มาถอดรหัสพันธุกรรมให้ได้เป็นโปรตีนชนิดนี้) ซึ่งวิธีการใช้งานวัคซีนรูปแบบนี้ คือ แกะวัคซีนออกจากแผ่นพลาสติก ใส่มันไว้ในปาก แล้วหายใจลึกๆ เพื่อสูดมันเข้าไป

คุณสมบัติโดดเด่นของวัคซีนชนิดผง คือ สามารถทนอุณหภูมิสูงได้ถึง 40 °C ทำให้สามารถกระจายวัคซีนได้ง่ายมาก โดยไม่ต้องใช้ระบบขนส่งแบบความเย็น และสามารถให้วัคซีนแก่ประชาชนโดยไม่ต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งต่างจากวัคซีนแบบของเหลวหรือแบบฉีด ที่ต้องเก็บรักษาในที่อุณหภูมิต่ำ (บางยี่ห้อต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำถึง -70 °C ไม่เช่นนั้นวัคซีนจะสูญเสียประสิทธิภาพ)

นอกจากนี้ เทคโนโลยีวัคซีนชนิดผงยังช่วยคนที่กลัวเข็มฉีดยาได้ด้วย อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าวัคซีนชนิดของเหลว เพราะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในตู้แช่แข็งที่ต้องใช้ในการเก็บรักษาวัคซีน

4. อิสราเอล พัฒนาวัคซีนโควิดแบบเม็ด

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวจากอิสราเอลว่า นาดาฟ คิดรอน ซีอีโอของบริษัทออราเมด (Oramed) ได้คิดค้นวัคซีนแบบเม็ดสำหรับรับประทานขึ้นมา ซึ่งการจ่ายวัคซีนไม่ต้องมีบุคลากรทางการแพทย์มาฉีดให้ และสามารถจัดส่งถึงบ้านเรือนได้โดยตรง ช่วยลดภาระด้านโลจิติกส์ลงได้มาก และยังช่วยลดขยะทางการแพทย์อย่างเข็มและหลอดฉีดพลาสติกได้ด้วย

โดยบริษัทออราเมดได้ตั้งบริษัทใหม่ชื่อ ออราแวกซ์ (Oravax) เพื่อผลิตวัคซีนต้านโควิดแบบรับประทานโดยตรง พวกเขาใช้เทคโนโลยีการผลิตแคปซูลแบบเดียวกับแคปซูลอินซูลินสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน โดยใช้สารเคลือบแคปซูลคุณภาพสูง ช่วยให้ละลายช้า มีตัวยับยั้งเอนไซม์โปรตีนเอสในลำไล้เล็ก ไม่ให้ย่อยอินซูลิน และมีตัวกระตุ้นการดูดซึมอินซูลินเข้าไปในกระแสเลือด

ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิกระยะสุดท้ายกับผู้ป่วยจำนวนมากในสหรัฐ คาดว่าจะทราบผลได้ในเดือนกันยายน 2565

ส่วนประสิทธิภาพในการต่อต้านโควิด-19 นั้น วัคซีนแบบเม็ดชนิดนี้จะเลียนแบบโครงสร้างสำคัญ 3 อย่างของเชื้อไวรัส ประกอบด้วย 1)โปรตีนส่วนที่เป็นหนามแหลม (spike protein) 2)โปรตีนส่วนที่เป็นเปลือกหุ้ม (envelope protein) และ 3)โปรตีนส่วนที่เป็นเยื่อบุผิว (membrane protein) การเลียนแบบโครงสร้างหลายส่วน รวมถึงส่วนที่กลายพันธุ์น้อย ทำให้ได้วัคซีนที่สามารถต้านทานไวรัสได้หลายสายพันธุ์ 

---------------------

อ้างอิง : 

aseanthai.net

nstda.or.th

bbc.com/thai

tna.mcot.net