'เพื่อไทย' จัดหนัก 'รัฐบาล' ซัด 'ล็อกดาวน์' สู่ 'น็อคดาวน์' ประเทศไทย

'เพื่อไทย' จัดหนัก 'รัฐบาล' ซัด 'ล็อกดาวน์' สู่ 'น็อคดาวน์' ประเทศไทย

"พท." จัดเสวนา "จากล็อกดาวน์สู่น็อคดาวน์ประเทศไทย" พิชัย ซัด รัฐบาล ล้มเหลวทุกด้าน ชงหามาตรการฟื้นจาก "โควิด" นพ.กิตติศักดิ์ ชี้ ถ้าทำตามข้อเสนอตั้งแต่ เม.ย. ไทยไม่เดินมาถึงจุดนี้ "เผ่าภูมิ" จี้ ใช้มาตรการการเงินการคลัง ให้ชาญฉลาด ปล่อยไว้ศก.พัง

พรรคเพื่อไทย จัดงานสัมมนาจากล็อกดาวน์สู่น็อคดาวน์ประเทศไทยโดยมีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายแพทย์กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ..มหาสารคาม นายเผ่าภูมิโรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย เข้าร่วม

ทั้งนี้ นายพิชัย กล่าวว่า รัฐบาลล้มเหลวทุกด้าน เศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้วยิ่งหนัก ไตรมาสแรกของปี 2564 จีดีพีติดลบ 2.6% และไตรมาสต่อไปจะติดลบหนักขึ้น  ขณะที่หนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่93% ในปลายปีนี้  ซึ่งถือว่าสูงมาก จนสำนักข่าวบลูมเบิร์ครายงานว่าประเทศไทยประสบกับภาวะการขาดดุลแฝง คือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลทางการคลังพร้อมกัน หลังจากไม่ได้เจอสภาวะนี้มา 10 ปี เพราะรายจ่ายมากกว่ารายรับ แม้สภาวะดังกล่าวจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง ส่งผลดีต่อการส่งออก แต่ทำให้ต่างชาติไม่มีความมั่นใจต่อประเทศไทยในระยะยาวได้  จึงเสนอทางออก 5 ข้อ ได้แก่

รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมหามาตรการรองรับการฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ออกนโยบายคนละครึ่ง รัฐบาลครึ่งหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยครึ่งหนึ่ง ลงขันกันออกนโยบายเศรษฐกิจ เช่น นโยบายตัดต้นตัดดอก ต้องคิดล่วงหน้า นำเอาเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้  เช่น เร่งจองวัคซีนเทคโนโลยีใหม่ เพื่อให้ประชาชนอยู่กับโควิด-19 ให้ได้

หยุดทำร้ายประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องวัคซีนที่มีคุณภาพ ดำเนินการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่ทำร้ายประชาชนอย่างชัดเจน  เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ล้มเหลว ทำให้ประชาชนล้มตาย จำนวนมาก ทั้งที่การแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องยากซ้ำซ้อน แต่รัฐบาลทำช้าซ้ำซาก โรคจึงระบาดเพราะควบคุมการระบาดไม่ได้  การล็อกดาวน์ยาวนานขนาดนี้ หากบริหารจัดการดีความสูญเสียจะลดลงไปมาก  โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพทันต่อการกลายพันธุ์ของเชื้อโรค ต้องจัดหามาอย่างรวดเร็วและทันการณ์   ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน คนไทยได้รับวัคซีนเข็มแรก  18% เข็มสอง 6.9%  หรือเพียง 24% ขณะที่ทั่วโลกได้รับวัคซีนเฉลี่ยอยู่ที่ 31% สิงคโปร์ 77%   นอกจากนี้ควรควบคุมโรคเชิงรุกด้วย ATK อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ ถ้ารัฐบาลฟังข้อเสนอและเร่งจัดซื้อ เพื่อปูพรมตรวจและคัดแยกตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาประเทศไทยจะไม่เดินมาถึงจุดนี้

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวอีกว่า การรักษาคนไข้ ไม่ให้เกิดเหตุนอนตายที่บ้าน รัฐบาลต้องจัดการเป็นพิเศษ ตั้งวอร์รูมรับ-ส่งต่อ และกระจายการรักษาคนไข้ไปยังพื้นที่มีศักยภาพอย่างถูกวิธีด้วยระบบปิด อุปกรณ์ สถานที่ และบุคลากร รัฐจะต้องจัดสรรให้และต้องมีประสิทธิภาพ

ขณะที่นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า การล็อกดาวน์ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ล้มเหลว และกำลังนำไปสู่การพังทลายของระบบเศรษฐกิจ เป็น  6 ขั้นบันไดสู่หายนะทางเศรษฐกิจจากการล็อกดาวน์  ซึ่งได้แก่

1.ล็อกดาวน์ : ช้าและไร้ประสิทธิภาพ รัฐบาลปล่อยให้เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าระบาดทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครแล้วจึงล็อกดาวน์ และยังเป็นการล็อกดาวน์แบบเหมาเข่งซึ่งทั่วโลกไม่ทำ  โดยการล็อกดาวน์ที่หลายประเทศดำเนินการ คือการเล็งเป้าหมายในการล็อกดาวน์ ไม่ล็อกดาวน์ภาคธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ  เพราะทำให้เกิดความเสียหายในราคาสูงโดยศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทยเคยประเมินว่า ความเสียหายจากการล็อกดาวน์ครั้งนี้อยู่ที่เดือนละ 2.6 แสนล้าน หรือวันละ 8,000 ล้านบาท เมื่อความเสียหายมีราคาสูง ทุกวันจึงมีคุณค่า  การล็อกดาวน์ก็ต้องคุ้มค่าที่จะจ่าย

2.เทิร์นดาวน์ :  รัฐบาลไม่รับฟังข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ นำเสนอเป็นจำนวนมาก  เช่น พรรคเพื่อไทยเคยนำเสนอมาตรการคงการจ้างงาน ซึ่งไม่ใช่การแจกเงินทั่วไป แต่ต้องจ่ายตรงไปที่นายจ้าง เพื่อให้นายจ้างรักษางานเก่าของแรงงานไว้ให้ได้อย่างน้อย 90%   ไม่ใช่รอตกงานแล้วหางานใหม่ให้  ซึ่งต้นทุนทางงบประมาณสูงกว่า  ทั้งนี้แม้รัฐบาลจะดำเนินมาตรการคงการจ้างงาน  แต่ทำไปโดยไม่เข้าใจวิธีการอย่างแท้จริง

3.สโลว์ดาวน์ : การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ เกิดจากรัฐบาลสโลวไลฟ์ที่ออกมาตรการช้าและไม่ถูกทิศทาง เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 5 แสนล้านบาท  ยอดวงเงินน้อยมากเพียงครึ่งหนึ่งของความต้องการของระบบอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท  นับตั้งแต่ออกมาตรการซอฟต์โลนมาเป็นระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ปล่อยสินเชื่อได้เพียง 2.5 แสนล้านบาท หรือครึ่งหนึ่งของวงเงินสินเชื่อ คิดเป็น 1 ใน 4 ของความต้องการเท่านั้น

4.ชัตดาวน์ : ภาคเอกชนทยอยปิดกิจการลงเรื่อยๆ จนไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ให้กับธนาคาร เมื่อปิดกิจการก็ต้องปลดคนงาน คนงานไม่มีเงินจ่ายหนี้ ส่งผลต่อรายรับของธนาคาร

5.เบรกดาวน์ : ภาคสถาบันการเงินจะเริ่มมีปัญหาและอาจพังลง เพราะความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้น้อยลง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างความอันตรายของการให้สินเชื่อในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด ยังน้อยกว่าการไม่ให้สินเชื่อซอฟต์โลน 1 ล้านล้านบาท แล้วปล่อยให้ภาคเอกชนพังลงแบบนี้

6.น็อคดาวน์ : เมื่อสถาบันการเงิน ภาคเอกชน ตลาด ภาคครัวเรือน มีปัญหา เศรษฐกิจไทยจะถูกน็อกดาวน์  หากเปรียบเป็นมวยที่แพ้เพราะถูกหมัดน็อกจนล้มลง  เป็นความเสียหายถาวร  ห่วงโซ่การผลิต การลงทุนจากต่างประเทศ การท่องเที่ยว ชื่อเสียง ความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ  เสียหายอย่างถาวร

นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า ตอนนี้ประเทศไทย กำลังก้าวไปสู่บันไดขั้นที่ 5 แม้จะยังไม่ถึงในตอนนี้  แต่มีแนวโน้มและใกล้เคียง เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องป้องกันความเสียหายอย่างทันท่วงที สิ่งเหล่านี้ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็นความเสียทางเศรษฐกิจที่รุนแรง หากปล่อยไว้จะยิ่งไหล -  รั่ว-  พัง  รัฐบาลควรใช้มาตรการทางการเงินและมาตรการทางการคลัง ให้ตรงจุดรวดเร็ว ทันการณ์และชาญฉลาด