ถึงเวลาเข็นกฎหมาย 'ทรมาน' เมื่อคดีรีด 2 ล้านประจานตำรวจ
เปิด ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย กำหนดความผิด โทษหนัก จนท.รัฐ มาตรการป้องกัน เยียวยา ผู้ถูกกระทำทรมาน
กรณีปรากฎภาพการทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดด้วยวิธีโหดจนเสียชีวิต ขณะพยายามรีดเงิน 2 ล้านบาทใน จ.นครสวรรค์ ที่เป็นหลักฐานกล่าวหา "ผู้กำกับโจ้" พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ผู้กำกับการ สภ.เมืองนครสวรรค์ รวมทั้งตำรวจอีกหลายนาย โดยมีตำรวจบางส่วนได้ส่งเรื่องร้องเรียนมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะเกรงจะมีความผิดด้วย จึงกลายเป็นเรื่องเปิดโปงกันเอง
สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการใช้ “วิธีทรมาน” ที่ไม่เคยหายไปจากสังคมไทย โดยเฉพาะกรณีที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เสียงเรียกร้อง “ปฏิรูปตำรวจ” ที่ยังไปไม่ถึงไหน ดังขึ้นมาอีกระลอก
ทว่า มีประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ ที่อาจถูกมองข้ามไป โดยเฉพาะ "ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ….." ที่กำหนดความผิด บทลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงมาตรการป้องกันและการเยียวยาผู้ถูกกระทำทรมาน
ร่าง พ.ร.บ.นี้ยังค้างคาอยู่ในกระบวนการรัฐสภาเพื่อตราเป็นกฎหมาย โดยถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ต้นปี 2564 ในเดือนมกราคม เป็นร่างของกระทรวงยุติธรรม และยังมีร่างของพรรคการเมืองอีก 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างของพรรคพลังประชารัฐร่วมกับพรรคก้าวไกล ร่างของพรรคประชาชาติ และร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เข้าคิวรอ
เนื่องจากตั้งแต่เปิดสมัยประชุมสภาฯ มีเรื่องพิเศษเร่งด่วนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงทำให้วาระประชุมปกติ ร่างกฎหมายอื่นยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณา
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา ได้มีความเคลื่อนไหวของเครือข่ายญาติผู้เสียหายจากกรณีอุ้มหาย ซ้อมทรมาน องค์กรสิทธิมนุษยชน รวมตัวกันไปทวงถามประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย และขอให้เร่งรัดพิจารณา ผ่านเป็นกฎหมายโดยด่วนที่สุด เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ปราศจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง จากกรณีอุ้มหาย “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์”
ความจำเป็นของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ฉบับกระทรวงยุติธรรมระบุถึงที่มาที่ไปไว้ว่า เนื่องจากปัจจุบันยังมีการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเกิดขึ้นอยู่ และมีการร้องเรียนไปยังสหประชาชาติโดยเฉพาะประเด็นการงดเว้นโทษ (Impunity) ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งยังไม่มีการกำหนดความผิด บทลงโทษ รวมถึงมาตรการป้องกันและการเยียวยากรณีการกระทำทรมาน และกระทำให้บุคคลสูญหายไว้ในกฎหมาย
กระทั่งกลางปีที่แล้ว ครม.มติเห็นชอบร่างของกระทรวงยุติธรรม เมื่อ 23 มิ.ย.2563 บทนำที่สะท้อนถึงสภาพปัญหา และความจำเป็นต้องตรากฎหมายว่า
การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่อาจยกเว้นให้กระทำได้ ไม่ว่าสถานการณ์ใดๆ ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับ จึงต้องมีบทบัญญัติที่กำหนดฐานความผิดเป็นการเฉพาะ และมีมาตรการป้องกันและปราบปราม มาตรการเยียวยา ผู้ได้รับความเสียหาย และมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามข้อบทในอนุสัญญาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยให้เทียบเท่าสากล
ประเด็นสำคัญ ในร่างพ.ร.บ.นี้ มีการกำหนดฐานความผิด การกระทำทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย มาตรการป้องกัน การเยียวยาผู้เสียหาย และการดำเนินคดีสำหรับความผิดดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น
กำหนดฐานความผิดการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยกำหนดให้ไม่เป็นความผิดทางการเมือง ซึ่งสามี ภรรยา บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้เสียหายสามารถดำเนินการฟ้องร้องคดีได้
กำหนดให้ความผิดตามพ.ร.บ.ในเรื่องนี้เป็น “คดีพิเศษ” ตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีอำนาจหน้าที่สอบสวนเป็นหลัก เว้นแต่กรณีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษตกเป็นผู้ต้องหา ให้ตำรวจเป็นผู้มีอำนาจสืบสวนแทน
กำหนด “ระวางโทษความผิด” ฐานกระทำทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย เช่น ผู้ใดกระทำความผิดฐานกระทำทรมานหรือกระทำให้บุคคลสูญหาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท หากกรณีผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 1-3 แสนบาท และกรณีผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2-4 แสนบาท
ผู้ใดมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด มีโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น และผู้ใดสมคบเพื่อกระทำความผิด มีโทษหนึ่งในสามของความผิดนั้น
ในกฎหมายฉบับนี้ ยังได้กำหนดโครงสร้างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ให้ รมว.ยุติธรรม เป็นประธานโดยตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นรองประธาน มีคณะกรรมการประกอบด้วยปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมสอบสวนพิเศษ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม อัยการสูงสุด นายกสภาทนายความ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน 4 คน ด้านการแพทย์ 1 คน ด้านจิตวิทยา1 คนเป็นกรรมการ ให้อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นกรรมการและเลขานุการ
รัฐบาลพยายามสัญญาว่าภายในปี 2565 ร่างกฎหมายที่ค้างในสภาฯ จะเร่งผ่านกระบวนการออกมาใช้ให้ได้ทั้งหมด ฉะนั้นประเด็นร้อนที่เกิดขึ้น จึงเป็นสัญญาณเตือนอีกครั้งว่า ได้เวลาเข็นกฎหมายจำเป็นออกมาเคลียร์ปัญหาเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบนอกรีตแล้วหรือยัง