'รัฐสภา' เสียงข้างมาก อนุญาต 'กมธ.แก้รธน.' เปลี่ยนแปลงเนื้อหา-เดินหน้าวาระสอง

'รัฐสภา' เสียงข้างมาก อนุญาต 'กมธ.แก้รธน.' เปลี่ยนแปลงเนื้อหา-เดินหน้าวาระสอง

ส.ว.หวั่น การแก้รธน. ของกมธ.ฯ ถูกยื่นศาลรธน. หลังพบกระบวนการมีปัญหา แต่เสียงข้างมากของรัฐสภา อนุญาตให้ กมธ.แก้ไข เดินหน้าพิจารณาวาระสอง

      เมื่อเวลา 09.50 น. ที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ได้เข้าสู่การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ....  ( แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง) ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่มี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ. พิจารณาแล้วเสร็จ ต่อเนื่องจากวันที่ 24 สิงหาคม โดยเป็นวาระที่ประชุมต้องลงมติอนุญาตการแก้ไขเพิ่มเติมของกมธ. ซึ่งมีการทบทวนเนื้อหาที่ต่างจากการยื่นร่างแก้ไขและรายงาน เมื่อ 19 สิงหาคม จากที่เสนอ 9มาตราไปเป็นการปรับแก้ไข เพียง 4 มาตรา
      โดยก่อนการลงมติของรัฐสภา นายไพบูลย์ ชี้แจงว่า กมธ. ได้ปรับแก้ไขรายงานโดยได้ตัดออกหลายมาตรา เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็น อาทิ มาตรา 85 ว่าด้วยการกำหนดให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลเลือกตั้งภายใน 30 วัน , บทเฉพาะกาล ว่าด้วย กำหนดให้ออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญภายใน 120 วัน หากทำไม่แล้วเสร็จ ให้ กกต. ออกประกาศเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง ทั้งนี้กมธ. ได้คงมาตราที่เพิ่มเติม คือ มาตรา 86  เพื่อปรับตัวเลข ส.ส.​ให้สอดคล้องกับหลักการ ที่ให้มีส.ส.เขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน  และ คงบทเฉพาะกาล ในบทว่าด้วยกรณีที่มีการเลือกตั้งซ่อมจะไม่นำรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาใช้บังคับ ยกเว้นมีการเลือกตั้งทั่วไป

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในขั้นตอนที่กมธ. เสนอและได้รับการอนุญาตจากนายชวน ถูกท้วงติงจาก สมาชิกรัฐสภา และตั้งข้อสังเกตว่าอาจผิดข้อบังคับ พร้อมกับขอให้ถอนญัตติดังกล่าวออกจากระเบียบวาระ  โดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. ฐานะผู้เสนอคำแปรญัตติอภิปรายว่า การแก้ไขของกมธ.แก้รัฐธรรมนูญแบบฉุกละหุก เมื่อ 24 สิงหาคม เพื่อนำเสนอให้รัฐสภาพิจารณาไม่เห็นเนื้อหาว่าแก้อย่างไร ไม่แน่ใจว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร แต่ตนเชื่อว่าจะมีผู้ที่ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง ที่มาของ ส.ส. ดังนั้นการแก้ไขของกมธ.ฯ ควรพิจารณาในที่ประชุม ไม่ใช่ใช้มติกมธ. แก้ไขเปลี่ยนแปลง แล้วให้ที่ประชุมรัฐสภาอนุญาต ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
        ขณะที่นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนฐานะผู้แปรญัตติ พบว่า มีการแก้ไขคำแปรญัตติที่ไม่ตรงกับคำขอที่เสนอต่อที่ประชุม ดังนั้นหากการประชุมกมธ.ฯเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดระบุว่าทำได้แล้ว แต่สิ่งที่ควรทำ คือ การถอนญัตติเพื่อกลับไปแก้ไขให้สมบูรณ์ ให้เนื้อหาตรงกัน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีบทบัญญัติเป็นเฉพาะ ตนไม่ต้องการให้มีปัญหากระทบต่อสมาชิกรัฐสภาระยะยาว
        อย่างไรก็ดีนายชวน ชี้แจงยืนยัน ว่า เมื่อกมธ. แก้ไขเปลี่ยนแปลง ดังนั้นต้องขออนุญาตการแก้ไขจากที่ประชุมรัฐสภา ข้อ37  จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติ ผลปรากฎว่า เสียงข้างมาก  357 เสียงเห็นด้วยให้กมธ.ฯ แก้ไข ต่อ 42 เสียง  งดออกเสียง 86 เสียง 
        จากนั้นได้เข้าสู่การพิจารณา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่..) พ.ศ.... ในวาระสอง เมื่อ 10.20 น.