ผู้ว่าฯ ขอนแก่น สั่งเฝ้าระวังน้ำพองไหลเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตร
ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น สั่งเฝ้าระวังน้ำที่รั่วซึมจากลำน้ำพองไหลย้อนเข้าลำห้วยสาขา เพื่อไม่ให้น้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรหลายพันไร่ ขณะที่สำนักชลประทานขอนแก่นเตรียมพร้อมรับมือน้ำและป้องกันอุทกภัย
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 65 นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เข้าตรวจสอบบริเวณประตูระบายน้ำ D9 บ้านกุดพังเครือ ตำบลท่ากระเสริม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น หลังจากที่มีน้ำไหลย้อนสู่ห้วยดอนแก้ว ซึ่งที่บริเวณแห่งนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลท่ากระเสริม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย และศูนย์ ปภ.เขต 6 ได้นำถุงบิ๊กแบ็กมาปิดกั้น แต่ยังพบ มีน้ำรั่วซึมไหลเข้าในลำห้วยทำให้ต้องนำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งเพื่อระบายน้ำออก
นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์ ได้มีการระบายน้ำวันละ 24 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้น้ำในลำน้ำพองได้ไหลย้อนเข้าสู่ลำห้วยสาขา โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลท่ากระเสริม ขณะนี้ได้มีการนำกระสอบทราบและถุงบิ๊กแบ็คมากั้นลำห้วย เพื่อไม่ให้ น้ำได้ไหลย้อนเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนาข้าวที่เริมกำลังตั้งท้องและออกรวง พร้อมกำชับให้มีการจัดเวรยามเฝ้าระวังน้ำที่อาจทำให้ถุงบิ๊กแบ็คได้รับความเสียหาย เพราะทั้ง 3 ลำห้วย ขณะนี้น้ำมีปริมาณมาก เพราะจะต้องเฝ้าระวังเพราะน้ำในแม่น้ำชี ในจุดที่ลำน้ำพองกับแม่น้ำชีไหลมารวมกัน ขณะนี้น้ำเริ่มหนุนสูงต่อเนื่องพร้อมให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำชีและลำน้ำพอง ได้ระวังน้ำล้นตลิ่งในระยะนี้.
ขณะที่สำนักงานชลประทานที่ 6 รายงานภาพรวมสถานการณ์น้ำ ประจำวันที่ 14 กันยายน 2565 ระบุว่าจังหวัดขอนแก่น มีสถานีวัดน้ำฝนหัวงานอ่างฯ ขนาดกลาง จำนวน 14 แห่ง มีฝนตก 5 แห่ง มีปริมาณฝนตกสูงสุด 3.5 มม. ที่ อ.พล อ่างฯ ละเลิงหวาย โดยสภาพน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ ปริมาณน้ำ 1,440.83ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การ 859.16 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำไหลเข้า 67.08 ล้าน ลบ.ม. ระบาย 23.88 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 990.47 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่การให้ความช่วยเหลืออุทกภัยในเขต สชป.6 มีเครื่องสูบน้ำทั้งหมด 159 เครื่อง ลงท่าสูบช่วยเหลือ 60 เครื่อง (เกษตร 2 เครื่อง/อุปโภค 1 เครื่อง/อุทกภัย 55 เครื่อง/บ่อก่อสร้าง 2 เครื่อง) มีแผนติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำทั้งหมด 50 เครื่อง ติดตั้งพร้อมอุปกรณ์แล้ว รวมทั้งหมด จำนวน 45 ชุด เพื่อเร่งผลักดันน้ำชี บริเวณเขื่อนร้อยเอ็ด อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด จำนวน 30 ชุด และบริเวณสะพานค้อเหนือ-นางาม ต.นางาม อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด จำนวน 15 ชุด ให้การช่วยเหลืออุปโภค-บริโภค นาปี บ่อก่อสร้าง อุทกภัย ปริมาณสูบน้ำ 332,500 ลบ.ม.ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูฝน 600 ไร่โดย สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ สชป.6 มีพื้นที่อุทกภัยทั้งหมด 165,776 ไร่ จ.ชัยภูมิ 11,670 ไร่ จ.ขอนแก่น 31,394 ไร่ จ.มหาสารคาม 26,705 ไร่ จ.กาฬสินธุ์ 14,815 ไร่ จ.ร้อยเอ็ด 81,191 ไร่ภาพรวมสถานการณ์ เฝ้าระวังพื้นที่ลุ่มต่ำ 2 ฝั่งชี-ลุ่มน้ำยัง-ลำเสียวใหญ่ อย่างใกล้ชิด แนวโน้มพื้นที่อุทกภัยลดลงอย่างต่อเนื่อง