มาตรการทางกฎหมาย เพื่อลดคาร์บอนเครดิตทางทะเล | ณัชชา สุขะวัธนกุล
น่านน้ำของไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ถูกใช้ประโยชน์จากกิจกรรมทางทะเลหลากหลายส่วนแตกต่างกันไป ตามความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ เอกลักษณ์และอัตลักษณ์ และประเพณีทางการค้า
บ้างเป็นพื้นที่ที่รัฐชายฝั่งที่มีอำนาจการผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจทางน้ำ บ้างก็เป็นพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างรัฐ
กิจกรรมทางทะเล (Ocean & Marine Activities) ตัวอย่างเช่น กิจกรรมการขนทางทะเล (Sea Transportation) กิจกรรมประมงไทย ( Fisheries ) กิจการท่าเรือไทย (Port Authority) กิจการแสวงหาประโยชน์ทรัพยากรทางทะเล (Marine Natural Resources Exploitation) และการท่องเที่ยวทางน้ำ (Marine Tourism)
ในปัจจุบันประเทศไทยเองยังได้พัฒนาข้อตกลงหรือมีความร่วมมือกันระหว่างรัฐภายใต้กรอบของความตกลง สนธิสัญญาและกรอบของกฎหมาย ในด้านหลักเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ซึ่งถูกรังสรรค์นโยบายนี้ขึ้นโดยธนาคารโลก (World Bank) เพื่อกระตุ้นให้แต่ละรัฐหันมาแสวงหาความมั่งคั่งทางทะเลมากขึ้น
เมื่อพิจารณาประเด็นในด้านการท่องเที่ยวทางทะเล (Marine Tourism) จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมา อัตราส่วนเม็ดเงินเศรษฐกิจที่หลั่งไหลเข้ามาจากการท่องเที่ยวทางน้ำ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั้งจากภายในและภายนอกประเทศแม้ว่าจะอยู่ในช่วงของสภาวะโรคอุบัติใหม่ก็ตาม
แต่อย่างไรก็ดีสภาพระบบนิเวศใต้ทะเลอันครอบคลุมไปถึงความสมบูรณ์ของแนวปะการัง สัตว์ทะเลและคุณภาพของน้ำทะเล ยังคงถูกรบกวนอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะมีช่วงเวลาได้ฟื้นฟูบ้างในระดับหนึ่งจากช่วงที่การท่องเที่ยวชะลอตัวลงในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา
ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทางทะเลจากกิจกรรมท่องเที่ยวทางทะเลตลอดกระบวนการ และในทุกประเภทของการท่องเที่ยวทางทะเลจะสร้างร่องรอยและการสะสมของคาร์บอนไดออกไซด์ (Blue Carbon Foot Print) ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลและมหาสมุทร
ในปริมาณที่มีนัยสำคัญต่อการใช้ประโยชน์ทางทะเล ตามหลักเศรษฐกิจสีน้ำเงิน อันอาจส่งผลต่อการผลักดันยุทธศาสตร์เศรษฐกิจทางทะเลใต้อีกด้วย
ในปัจจุบันแนวนโยบายและมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและการกำกับดูแลการท่องเที่ยวทางน้ำต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทางทะเลมีกำหนดไว้อยู่ในหลักกฎหมายพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวอาทิเช่น กลุ่มพระราชบัญญัติแห่งกรมอุทยานแห่งชาติ ในส่วนอุทยานแห่งชาติทางทะเล
กลุ่มพระราชบัญญัติในด้านการเดินเรือ ประเภทของเรือนำเที่ยวและที่ควบคุมด้านมลพิษทางทะเลจากการใช้เรือ กลุ่มกฎหรือประกาศกระทรวงอันควบคุมเรื่องการใช้ครีมกันแดดและสารต่าง ๆ ในพื้นที่ท่องเที่ยวทางน้ำและเขตอุทยาน
กลุ่มมาตรการทางกฎหมายซึ่งควบคุมเรื่องการรบกวนปะการัง สัตว์ทะเล การลักลอบจับปลาและตกหมึกขณะท่องเที่ยวทางน้ำ และยังอาจกล่าวรวมถึงกลุ่มพระราชบัญญัติควบคุมมัคคุเทศก์และการนำเที่ยว รวมถึงส่วนหนึ่งของการพักผ่อนและสันทนาการทางทะเลคือ ที่พักอาศัย โรงแรมและกฎหมายซึ่งควบคุมผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวทางน้ำอีกด้วย
จะเห็นได้ว่ากิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลใต้ แม้ว่าจะสามารถสร้างเม็ดเงินและขับเคลื่อนเศรษฐกิจทางน้ำอย่างมาก หากแต่สิ่งที่เกิดผลขึ้นคู่ขนานกันไปกับความก้าวหน้าและการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล
กล่าวคือ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทางทะเล คาร์บอนเครดิตที่สะสมอยู่ในทะเลและปริมาณสารพิษ สิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่มหาสมุทรได้ซึมซับเอาไว้
อาทิเช่น คราบน้ำมันจากเรือนำเที่ยว การทิ้งสมอของเรือนำเที่ยวทำลายปะการัง การทำลายระบบนิเวศใต้ทะเลโดยนักท่องเที่ยวเองไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
การปล่อยน้ำเสียมาเป็นมลพิษและขยะทะเล การบริหารจัดการที่พักอาศัยของเจ้าสำนักโรงแรม รวมไปถึงการควบคุมพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวมิให้รบกวนสัตว์ทะเลและกระทำละเมิดต่อกฎหมายของกรมอุทยานขณะท่องเที่ยวทางทะเล
ปัจจัยข้างต้นล้วนแต่เป็นสาเหตุและสารตั้งต้นของปัญหาการสะสมของคาร์บอนเครดิต ภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ในระยะยาว
แต่เมื่อพิจารณาถึงกฎหมายและแนวนโยบายของประเทศไทยในการลดปริมาณคาร์บอนเป็นการเฉพาะ จะพบว่ากฎหมายมีหลากหลายประเด็นและถูกบังคับใช้โดยองค์กรและหน่วยงานที่กระจายอำนาจและแตกต่างกันออกไป
นอกเหนือจากนั้นการชูนโยบายสนับสนุน Green Tourism ทางทะเลยังไม่ชัดเจนออกมาจากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นการเฉพาะ ส่งผลให้ความพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวทางทะเลและควบคู่ไปกับความพยายามด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลยังไม่เป็นผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร
เป็นที่น่าสังเกตและพิจารณาว่าในปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย ตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้ มีการจัดการประเด็น “Blue Carbon Footprint” และการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวและการพักผ่อนหย่อนใจทางทะเลได้เป็นอย่างดี ผ่านแนวนโยบาย “Korean Blue Carbon 2030-2050 Law and Policy” และมาตรการทางกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งออกโดย Korean Ministry of Ocean and Fisheries
ประกอบไปด้วยกฎหมายและแนวนโยบายดังนี้ Sustainable fisheries, building fishing village structures, Building a world-leading marine logistics system, Fostering a dynamic new marine economy, Clean oceans, creating safe coasts ทั้งยังสอดคล้องกับหลักการสร้างความมั่งคั่งทางทะเล (Blue Economy) ของธนาคารโลกอันเป็นแนวนโยบายสากลเป็นอย่างมาก
อีกทั้งแนวนโยบายและหลักกฎหมายเหล่านี้มีการตราและกำหนดออกมาจากหน่วยงานหลักเพียงแห่งเดียว กระบวนการของการบังคับใช้ในส่วนกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลในพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไปจึงประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
ด้วยความร่วมมือจากงานการท่องเที่ยวทางทะเลจากองค์กร หน่วยงานท้องถิ่นในทุกมิติของการท่องเที่ยวทางทะเลในประเทศเกาหลีใต้
เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน พิจารณามาตรการและแนวนโยบายที่ส่งเสริมการลดคาร์บอนเครดิตทางทะเล จากกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลในประเทศไทยยังไม่ปรากฎเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนนัก
ทั้งในมุมมองของกฎหมายและแนวนโยบาย ปัญหาและอุปสรรคอาจจะอยู่ที่ความไม่เฉพาะเจาะจงของข้อปฏิบัติและบทบัญญัติทางกฎหมาย ที่จะระบุลึกลงไปถึงการจัดการการดูดซับคาร์บอนเครดิตในห้วงมหาสมุทรของไทย (Marine Absorb of Blue Carbon Management)
จึงน่าสนใจและเป็นที่จับตามองถึงความท้าทายในการจัดการประเด็นดังกล่าวโดยอาจพิจารณาโมเดลทางนโยบายและกฎหมายจากต่างประเทศให้เกิดผลบังคับใช้ที่น่าพึงพอใจสำหรับประเทศไทย.