“แชร์ลูกโซ่” ไม่มีวันตาย
ไม่ได้มีแต่คนไทยเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ และก็ไม่ได้มีแต่คนไม่มีความรู้เท่านั้นที่จะโดนหลอกเข้าสู่วังวนนี้ ไม่ว่าแชร์ลูกโซ่นี้จะถูกเรียกชื่อให้สวยหรูว่าอย่างไร แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้นการเป็นแชร์ลูกโซ่อยู่ดี
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯได้แถลงว่า Zachary Horwitz นักแสดงอเมริกันที่ไม่ดังมากนักวัย 35 ปี ถูกศาลตัดสินจำคุก 20 ปี และชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 230 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการหลอกลวงให้คนเข้ามาลงทุนเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์
ที่อ้างว่า HBO และ Netflix ตกลงให้มีการจัดจำหน่ายในต่างประเทศเพื่อนำไปขายลิขสิทธิ์ต่อ และสัญญาว่าผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทน 25 – 45% โดยนายคนนี้สามารถระดมทุนไปได้มากถึง 650 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือกว่า 22,400 ล้านบาท!!!) โดยใช้สัญญากับ HBO และ Netflix ที่ปลอมแปลงขึ้นมาหลอกลวงให้ผู้ลงทุนหลงเชื่อ
อะไรที่ทำให้แชร์ลูกโซ่ สามารถทำให้คนรวย คนจน คนรู้มาก รู้น้อย ตกเป็นเหยื่อได้มากมายทั่วโลกได้ถึงขนาดนี้ และเราจะทราบได้อย่างไร ว่าเรากำลังตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ เราลองมาดูจุดสังเกตที่สำคัญกัน
1) ผลตอบแทนสูงผิดปกติวิสัย ในการทำธุรกิจอย่างเดียวกัน หรือลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวกัน ด้วยวิธีเดียวกัน
2) รับประกันผลตอบแทนแน่นอน ทั้ง ๆที่นำเงินไปลงทุนในธุรกิจ หรือสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนไม่แน่นอน
3)ผลตอบแทนในอดีตมีความสม่ำเสมอผิดปกติ เทียบกับคู่แข่งในตลาดรายอื่นๆ ที่ลงทุนในสินทรัพย์ และวิธีเดียวกัน วิธีนี้ถือเป็นการหลอกลวงขั้นเทพ คือ ไม่สัญญาผลตอบแทน และให้ผลตอบแทนที่ไม่สูงผิดปกติ (หากเทียบกับค่าสถิติในระยะยาว) แต่ทำให้ผลตอบแทนมีความสม่ำเสมอกว่าที่ควรจะเป็น เช่น กองทุน Fairfield Sentry ของ Bernie Madoff อดีตผู้ทรงอิทธิพลแห่งวอลล์สตรีท
ที่บริหารพอร์ตการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯโดยอ้างว่าใช้กลยุทธ์ split strike conversion ทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 0.84% ต่อเดือน และ 10.59% ต่อปี ตลอดระยะเวลาเกือบ 18 ปี!!! (กรณีนี้ นักลงทุนสถาบันหรือแม้กระทั่ง US SEC ก็ถูกหลอกยาวนานมาเกือบ 2 ทศวรรษ กว่าที่จะมีนักวิเคราะห์นำตัวเลขมาคำนวณเทียบกับกลยุทธ์ที่อ้าง แล้วเปิดโปงว่าไม่สมเหตุสมผลกัน)
4) ผลิตภัณฑ์มีความซับซ้อน อ้างว่าใช้เทคโนโลยีที่คนทั่วไปทำไม่ได้ เช่น AI หรืออัลกอริธึม ที่ยากต่อการเข้าใจ
5) เก่งเหนือมนุษย์ทั่วไป มีญาณทิพย์ หรือรู้จักคนวงในที่ทำให้รู้เรื่องที่คนทั่วไปเข้าไม่ถึง
6) หลอกคนใกล้ตัวก่อน เช่น ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท เพราะคนใกล้ชิดมักไม่คาดว่าจะกล้ามาหลอกลวงกัน และเมื่อคนใกล้ชิดไปชวนคนอื่นต่อ คนอื่นก็มักรู้สึกว่าต้องเป็นของดีจริงแน่ ๆ เพราะขนาดพ่อแม่พี่น้องยังมาลงทุนด้วยเลย
7) ของดีบอกต่อ การลงทุนตาม ๆกันไป โดยไม่ตั้งคำถามถึงกลไก และความเป็นไปได้ของกระบวนการนั้น (Due Diligence) ถือเป็นอีกหนึ่งใน Key Success Factor ของแชร์ลูกโซ่เลยก็ว่าได้
8)เว็บไซต์/แอปดูน่าเชื่อถือ หลายคนมักเชื่อมั่นว่าแอปที่ตนดาวน์โหลดมานั้น ได้ผ่านการตรวจสอบจากผู้ดูแลระบบปฏิบัติงานของโทรศัพท์แบรนด์ดังที่ตนเองใช้อยู่ แต่ข้อเท็จจริง คือ ยังคงมีแอปหลอกลวงหลุดรอดเข้ามาให้เราดาวน์โหลดได้
9) ภาษาอังกฤษ ทั้งพูดทั้งเขียนเป็นเลิศ คนที่มีการศึกษาสูง หรืออยู่ต่างประเทศมาเป็นระยะเวลานาน มักจะถูกหลอกด้วยเหตุนี้ เนื่องจากไม่คิดว่ามิจฉาชีพจะภาษาดีขนาดนี้ แถมมีระบบลูกค้าสัมพันธ์ที่มีมาตรฐานประหนึ่งสถาบันการเงินรายใหญ่
10)ไม่มีใบอนุญาตจากผู้กำกับดูแล หรือมีแต่เป็นเอกสารที่ถูกปลอมแปลงขึ้น ดังนั้น ก่อนที่จะใช้บริการ ควรที่จะต้องตรวจสอบกับหน่วยงานกำกับดูแลโดยตรงว่าทั้งบริษัทและผู้บริหาร เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลหรือไม่
ขอให้ผู้อ่านทุกท่านรอดพ้นจากมหาภัยแชร์ลูกโซ่ ไม่ว่ามันจะกลับมาอีกกี่ครั้งกี่หนก็ตาม