กรมชลฯ เปิดแผนบรรเทาน้ำท่วม ลดพื้นที่เสียหายเมืองชัยภูมิ
กรมชลประทานเดินหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัย เมืองชัยภูมิ (ระยะที่ 1) ยกระดับการแก้ปัญหาน้ำท่วมตัวเมือง ลดพื้นที่เกษตรกรรมเสียหายจากน้ำท่วม
อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบน มีลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา ทำให้ฤดูฝนมักมีน้ำหลากจากภูเขาลงพื้นราบ โดยไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ จึงเกิดอุทกภัยเป็นประจำ โดยเฉพาะเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ที่มีลักษณะเป็นแอ่งรับน้ำ จึงมักถูกน้ำท่วมขังในพื้นที่ประมาณ 30,000 ไร่ หรือร้อยละ 90 ของพื้นที่อำเภอเมืองชัยภูมิ
โดยเฉพาะปี 2553 น้ำจากลุ่มน้ำลำปะทาวและห้วยยางบ่า ล้นตลิ่งเข้าท่วมเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ระดับน้ำสูงสุดประมาณ 120 เซนติเมตร ส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอย่างประเมินไม่ได้ กรมชลประทานจึงได้เดินหน้าแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เมืองชัยภูมิ ด้วยโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ ระยะที่ 1 ทั้งเพิ่มศักยภาพคลองผันน้ำลำปะทาว -สระเทวดา รวมถึงเพิ่มประตูระบายน้ำ เพื่อยกระดับการแก้ปัญหาน้ำท่วมตัวเมือง ช่วยลดพื้นที่เกษตรกรรมเสียหายจากน้ำท่วมได้
พงศ์กรณ์ กำแหง ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลาง ที่ 6 เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการน้ำลำปะทาวและห้วยยางบ่า เพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งจากการศึกษาพบว่า น้ำที่ไหลผ่านเข้าตัวเมืองจังหวัดชัยภูมิ รวมประมาณ 325 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แต่มีศักยภาพการระบายน้ำเพียง 145 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จึงมีแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1. ก่อสร้างระบบผันน้ำลำปะทาวฝั่งตะวันออก เพื่อตัดมวลน้ำหลากเลี่ยงเมืองด้านฝั่งตะวันออก ให้ได้ 200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เหลือปริมาณน้ำไหลผ่านตัวเมือง จำนวน 125 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
ระยะที่ 2. พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ เพื่อชะลอน้ำหลาก ให้อยู่ในปริมาณที่บริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น
ระยะที่ 3. ก่อสร้างระบบผันน้ำห้วยยางบ่า – ลำชีลอง เพื่อตัดมวลน้ำหลากเลี่ยงเมืองด้านฝั่งตะวันตก
ระยะที่ 4. เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำหลาก ให้ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำชีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยกรมชลประทานได้รับอนุมัติ ให้ดำเนินการระยะที่ 1 ก่อน แผนโครงการเริ่มก่อสร้าง ตั้งแต่ปี 2562 ถึง พ.ศ. 2567 ส่วนโครงการอีก 3 ระยะที่เหลือ อยู่ในขั้นตอนศึกษาความเหมาะสม
สำหรับโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ระยะที่1 มีแผนปฎิบัติงานประกอบด้วย การขุดขยายคลองผันน้ำลำปะทาว ถึงแก้มลิงสระเทวดา ยาว 8.45 กิโลเมตร ระบายน้ำได้ 150 ลบ.ม./วินาที พร้อมด้วยประตูระบายน้ำ 3 แห่ง การขุดขยายคลองเชื่อมลำปะทาว –ห้วยดินแดง ยาว 1.33 กิโลเมตร และปรับปรุงคลองเดิมให้ระบายน้ำได้ 50 ลบ.ม./วินาที พร้อมประตูระบายน้ำ 1 แห่ง และสร้างประตูระบายน้ำและอาคารประกอบ ในลำน้ำเดิมอีก 6 แห่ง
โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ (ระยะที่ 1) กรมชลประทาน ไม่เพียงบรรเทาภัยน้ำท่วมในเขตเมืองชัยภูมิ แต่ยังเปลี่ยนลำน้ำที่เป็นเพียงน้ำไหลผ่าน ให้กลายเป็นลำน้ำที่ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนของคนลุ่มน้ำลำปะทาวด้วย
วิถีชีวิตของ ลือชา ดาศรี เกษตรกรบ้านโพธิ์ใหญ่ หมู่ 6 ตำบลบ้านเล่า อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ดีขึ้นมาก หลังการเกิดขึ้นของโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ (ระยะที่ 1) ซึ่งดำเนินการโดยกรมชลประทาน เพราะทำให้เขามีอาชีพเสริมและรายได้ให้ครอบครัวเพิ่มขึ้นด้วย
ลือชา เล่าว่าตำบลบ้านเล่า เป็นหนึ่งในชุมชนที่อยู่ในลุ่มน้ำลำปะทาว ได้ใช้ประโยชน์จากลำปะทาวเพื่อทำนาปีละครั้ง จากนั้นลำน้ำก็จะไหลผ่านเข้าตัวเมืองชัยภูมิ ที่อยู่ห่างจากชุมชนออกไปไม่เกิน 5 กิโลเมตร
ในปีที่ฝนตกหนัก น้ำจากลำปะทาวจะไหลเชี่ยวแรง หลากท่วมพื้นที่การเกษตรสองฝั่งของลำน้ำ ก่อนจะไหลบ่าเข้าท่วมเขตเทศบาล แต่ในช่วงฤดูแล้ง น้ำในลำปะทาว ก็ะเป็นน้ำไหลผ่าน เพราะไม่มีประตูระบายน้ำที่จะคอยกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงหน้าแล้งได้มากนัก
“โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ ช่วยให้ชีวิตครอบครัวผมเปลี่ยนไปมาก เพราะเจ้าหน้าที่ได้ทำประตูระบายน้ำในลำปะทาวเพื่อหนุนให้น้ำสูงขึ้น จากนั้นก็จะไหลออกไปที่คลองชุดใหม่ ที่เชื่อมลำปะทาว กับห้วยดินแดง คลองนี้ช่วยแบ่งน้ำออกจากลำปะทาว ให้ออกไปห้วยดินแดง โดยไม่ผ่านตัวเมืองชัยภูมิ ทำให้น้ำท่วมลดลง ส่วนเกษตรกรสองฝั่งลำห้วยที่ขุดใหม่ ก็ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำตลอดปี ส่วนตัวผมปกติทำนาอย่างเดียว และทำปีละครั้ง แต่หลังจากเจ้าหน้าที่มาขุดคลอง และทำประตูระบายน้ำด้วย ผมก็คุยกับครอบครัวเลยว่า เราจะทำสวนเกษตรแบบผสมผสาน เพราะเราจะมีน้ำใช้ได้ตลอดปีแล้ว เพราะประตูระบายน้ำจะกักน้ำไว้ให้เราใช้ประโยชน์ได้ด้วย”
สวนผสมผสานของลือชามีประมาณ 7 ไร่ แยกจากพื้นที่นาข้าวชัดเจน เพราะเขาตั้งใจว่าจะทำสวนได้ตลอดปี ภายในสวนของเขาแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วน เริ่มจากปลูกกล้วยน้ำว้า เป็นไม้พี่เลี้ยงในสวน ให้ร่มเงาต้นไม้อื่น และปรุงดินให้ร่วนซุย จากนั้นก็ปลูกไม้เช่นทุเรียน ลำไย เงาะ อโวคาโด้ และที่สำคัญคือฝรั่ง ซึ่งทดลองปลูกปีแรก แต่ก็ได้ผลดีเกินคาด จนไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
ลือชา ยังเล่าต่อว่า เขากับครอบครัวทดลองปลูกฝรั่งทั้งไส้ขาว คือพันธุ์กิมจู และฝรั่ง
พันธุ์ไส้แดง สายพันธุ์จากไต้หวัน ชื่อพันธุ์หงเป่าสือ และพันธุ์แตงโม หรือชีกัวปาล่า โดยใช้น้ำจากลำปะทาว เพื่อดูแลพืชในสวน ตอนนี้พืชอื่นๆยังไม่เติบโตมาก แต่ฝรั่งที่ปลูกปีแรก พร้อมกับตอนที่เจ้หน้าที่เริ่มสร้างประตูระบายน้ำ ตอนนี้สร้างรายได้ให้ครอบครัวทุกสัปดาห์ และคนที่เคยได้ชิม ก็สั่งจองทั้งต้นพันธุ์และผลฝรั่งไว้ล่วงหน้าแล้ว
“ครอบครัวผมมีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างน้อยสัปดาห์ละพันกว่าบาท จากการขายฝรั่งอย่างเดียว และเชื่อว่าต่อไปก็คงมีมากขึ้น ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะ โครงการป้องกันอุทกภัยเมืองชัยภูมิ ของกรมชลประทาน ที่ทั้งช่วยแก้ปัญหาน้ำหลากท่วมแล้ว ก็ยังช่วยทำให้มีรายได้จากการเกษตรเพิ่มอีก ตอนนี้สมาชิกในครอบครัวผมสนุกกับการทำสวน เพราะได้ใช้ประโยชน์จากน้ำในลำปะทาวเต็มที่”
ด้าน นัทธี นุ่มมาก ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดชัยภูมิ เล่าว่าโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองชัยภูมิ ระยะที่ 1 ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล ของอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ คือตำบลบ้านเล่า
ตำบลโพนทอง ตำบลกุดตุ้ม ตำบลบุ่งคล้า และตำบลหนองไผ่ การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 25 มีแผนงานที่แล้วเสร็จสมบูรณ์ 4 แห่ง คือ ปตร.กุดสวง, ปตร.ห้วยเสียว, งานพนังกั้นน้ำกุดสวง-ห้วยเสียว และปตร.ห้วยดินแดง หากโครงการระยะที่ 1 แล้วเสร็จทั้งหมดนอกจากจะบรรเทาน้ำท่วมเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิแล้ว ยังจะส่งน้ำช่วยพื้นที่เพาะปลูกในฤดูฝนได้อีก 18,610 ไร่ ในฤดูแล้งอีก 1,850 ไร่ และลดพื้นที่ทางทิศใต้ของตัวเมืองชัยภูมิที่จะเสียหายได้จากน้ำท่วมได้อีกปีละกว่า 20,000 ไร่