น้ำท่วมศรีสะเกษ เดือดร้อนเกือบทั้งจังหวัด แบกรับน้ำ 1.5 แสนไร่ มากที่สุดของอีสาน
นายกฯช่วยด้วย! น้ำท่วมศรีสะเกษ เดือดร้อนเกือบทั้งจังหวัด แบกรับน้ำ 1.5 แสนไร่ มากที่สุดของอีสาน
ศรีสะเกษเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วมทั้ง 22 อำเภอโดยขณะนี้ลำห้วยสำราญสูงกว่าตลิ่งร่วม 3 เมตรชุมชนเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก
วันนี้ (3 ต.ค.65) นายสำรวย เกษกุล รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดศรีสะเกษ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำและภาวะน้ำท่วมทั้ง 22 อำเภอ ล่าสุด สถานีวัดน้ำ M9 สะพานขาว เขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ ปริมาณน้ำในลำห้วยสำราญสูงกว่าตลิ่ง ร่วม 3 เมตร และ มีเเนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากมวลน้ำตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา แถบอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ และ อำเภอบัวเชด อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ไหลรวมเข้ามายังห้วยสำราญอย่างต่อเนื่อง
จากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำ และ พายุโนรู จังหวัดศรีสะเกษ ได้รับผลกระทบทั้ง 22 อำเภอ 1 เทศบาลเมือง 16 ชุมชน 121 ตำบล 679 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนกว่า 32,800.- ครัวเรือน โดยเฉพาะได้รับผลกระทบด้านที่อยู่อาศัย 15 อำเภอ 45 ตำบล 170 หมู่บ้าน พร้อมทำการอพยพไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว 6 อำเภอ จำนวน 23 จุด แยกเป็นอำเภอเมืองศรีสะเกษ 17 จุด อำเภอห้วยทับทัน 1 จุด อำเภอยางชุมน้อย 1 จุด, อำเภอวังหิน 1 จุด , อำเภออุทุมพรพิสัย และ อำเภอกันทรารมย์ 2 จุด แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ยังมีประชาชนที่ยังห่วงทรัพย์สินและบ้านเรือนของตน จึงยังคงอาศัยอยู่ในบ้านตนเอง จำนวน 3,637 ครัวเรือน
ขณะที่พืชผลทางการเกษตรได้รับผลเป็นนาข้าว 179,713.- ไร่ พืชไร่ 12,548.- ไร่ และ พืชสวน 350 ไร่ขณะที่ด้านปศุสัตว์มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 3,832.- ราย ใน 9 อำเภอ สัตว์เลี้ยงได้รับผลกระทบ 27,288.- ตัวเป็นโคมากที่สุด 13,635.- ตัว และ กระบือ 3,633.- ตัว ไก่เนื้ออีก 10,000.- ตัว ขณะที่ถนนหนทางอยู่ระหว่างสำรวจเพื่อความชัดเจน
ขณะที่ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมติดตามพื้นที่น้ำท่วมที่เกิดจากพายุโนรูเคลื่อนที่ผ่านประเทศไทย โดยส่วนใหญ่พบในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งล่าสุดพบแล้วสูงถึง 762,394 ไร่ ส่วนใหญ่พบพื้นที่ลุ่มน้ำชีและมูล ในพื้นที่ 17 จังหวัด ดังนี้
ศรีสะเกษ 150,227 ไร่
สุรินทร์ 109,560 ไร่
อุบลราชธานี 109,176 ไร่
ขอนแก่น 93,972 ไร่
บุรีรัมย์ 66,942 ไร่
ร้อยเอ็ด 62,282 ไร่
นครราชสีมา 36,359 ไร่
มหาสารคาม 34,830 ไร่
ชัยภูมิ 29,523 ไร่
อำนาจเจริญ 19,404 ไร่
ยโสธร 16,937 ไร่
กาฬสินธุ์ 14,741 ไร่
หนองบัวลำภู 5,904 ไร่
สกลนคร 3,881 ไร่
อุดรธานี 3,373 ไร่
หนองคาย 2,925 ไร่
นครพนม 2,359 ไร่
ซึ่งนาข้าวเสียหายแล้วถึง 504,851 ไร่ พื้นที่น้ำท่วมขังส่วนใหญ่ยังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ลุ่มต่ำ ริมสองฝั่งแม่น้ำสายหลักและสายรอง ชุมชนที่อยู่อาศัย และเส้นทางคมนาคมบางส่วน
ที่มาข้อมูลและภาพ - ปชส.ศรีสะเกษ และ กระทรวง อว.