จับสัญญาณเตือน "น้ำเหนือ-น้ำฝน-น้ำหนุน" กทม.เตรียมรับมือน้ำท่วมหนัก!
เปิดสัญญาเตือนภัย เตรียมรับภัย 3 น้ำ "น้ำเหนือ-น้ำฝน-น้ำหนุน" เข้าถล่ม "กรุงเทพฯ" ทุกทิศทาง ส่อเกิดน้ำท่วมหนักและท่วมขังนาน
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 65 สถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่ กรุงเทพและปริมณฑล ยังคงน่ากังวล โดยเฉพาะพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ หลังจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วม ล่าสุดมีสัญญาณเตือนต้องเจอภาวะ 3 น้ำเข้าถล่ม อาจจะเกิดน้ำท่วมช่วง 5-13 ต.ค.นี้
ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำของ กรุงเทพมหานคร มีตัวชี้วัดจะน้ำท่วมหนักมากแค่ไหน จาก 3 ปัจจัย หรือ "ภาวะสามน้ำ" ดังนี้
- ปริมาณน้ำหลาก จากภาคเหนือและกลางตอนบน
- ปริมาณน้ำฝน
- น้ำทะเลหนุน
น้ำเหนือหลาก เฝ้าระวังเจ้าพระยา-ป่าสัก
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. ได้ออกประกาศเตือนล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ก.ย.65 เฝ้าระวังระดับน้ำใน แม่น้ำเจ้าพระยา และ แม่น้ำป่าสัก เพิ่มสูงขึ้นสูงสุด 1 เมตร ผลจากการปล่อยน้ำเพิ่มของเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำเหนือไหลเข้าเขื่อน 400 ลบ.ม./วินาที ทำให้ต้องปล่อยน้ำเพิ่ม 2 เท่า จากอัตรา 400 ลบ.ม./วินาที เป็น 800 ลบ.ม./วินาที
การปรับเพิ่มในอัตราดังกล่าวจะทำให้พื้นที่ริม แม่น้ำป่าสัก ด้านท้ายเขื่อน อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40-1.00 เมตร และบริเวณท้ายเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40-0.60 เมตร ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ในเกณฑ์ 3,300-3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ขณะ น้ำเหนือ จาก เขื่อนเจ้าพระยา มีการบริหารจัดการน้ำไหลผ่านเขื่อน อยู่ในเกณฑ์ 2,700-2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณ อำเภอเมืองชัยนาท และมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท และอำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 เมตร
ปริมาณน้ำทั้งหมด ไหลผ่านสถานีบางไทร จ.อยุธยา สูงสุด 3,218 ลบ.ม./วินาที ขณะที่ กทม. สามารถรองรับได้ประมาณ 2,500 - 3,000 ลบ.ม./วินาที
ปีนี้ฝนหนัก เทียบสถิติย้อนหลัง 5 ปี
ดร.สันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง อาจารย์พิเศษคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์เฟซบุ๊ก "Sunt Srianthumrong" เปิดสถิติปริมาณน้ำฝนย้อนหลัง 5 ปี พบว่า ปีนี้ฝนตกหนักมาก โดยมีเนื้อหาดังนี้
น้ำท่วมครึ่งประเทศไทย: ฝน 165.5 มม. ที่แจ้งวัฒนะเมื่อวานนี้ ร้ายแรงแค่ไหนในทางสถิติ ผมทำกราฟกทม.ย้อนหลัง 5 ปี + ปีนี้ มาดูเทียบกันครับ
ปริมาณฝนที่แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กทม. เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา สูงมากถึง 165.5 มม. มีความน่าสนใจทางตัวเลขครับ
- ฝน 165.5 มม. สูงสุดเป็นอันดับที่ 3 ในรอบ 6 ปี โดย 2 ครั้งก่อนหน้านี้เกิดในปี 2560
- ฝน 165.5 มม. เป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในปีนี้
- ปริมาณฝนที่มากกว่า 120 มม. เกิดขึ้น 20 ครั้งในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา โดยเกิดในปีนี้ไปแล้วถึง 8 ครั้ง
- จากข้อ 3 ฝนหนักเกิดขึ้นถึง 5 ใน 20 ครั้ง ช่วงหลัง 10 ต.ค. ของ 5 ปีก่อน แปลว่าปีนี้น่าจะยังไม่จบ ต้องลุ้นต่อ
- ตัวเลขช่วงที่น่ากังวลที่สุดของ 5 ปีก่อนหน้าคือ 11 - 17 ต.ค. เกิด 120 มม.ถึง 4 ครั้งและน้ำเหนือก็จะลงมาถึง และน้ำทะเลก็ยังหนุนสูงอยู่
ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ระบุว่า ช่วง 5-10 ต.ค.นี้ กรุงเทพและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
น้ำทะเลหนุน อุปสรรคระบายน้ำท่วม กทม.
กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศเฝ้าระวังระดับน้ำใน แม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงวันที่ 5-13 ต.ค.นี้ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก "กรุงเทพมหานคร" เนื่องจาก น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น
รวมทั้งมีการระบายน้ำบริเวณท้าย เขื่อนเจ้าพระยา อาจทำให้ระดับน้ำใน แม่น้ำเจ้าพระยา "เพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ" โดยระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.70 - 2.00 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง
พร้อมกันนี้ กรมอุทกศาสตร์ ได้แจ้งระดับน้ำให้ทราบล่วงหน้าไว้ที่ "สภาวะน้ำ แม่น้ำเจ้าพระยา" บริเวณกองบัญขาการกองทัพเรือ จังหวัดกรุงเทพมหานคร และป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ในระหว่างวันที่ 5-13 ต.ค. 2565 ระบุว่า..
วันที่ 5-13 ต.ค. 2565 ระหว่างเวลาประมาณ 06.00-19.00 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทย การระบายน้ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ มีความสูง ประมาณ 1.70-2.00 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง (ม.รทก)
จาก 3 ปัจจัย "น้ำเหนือ-น้ำฝน-น้ำหนุน" ที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยน้ำท่วม ที่กรุงเทพและปริมณฑลจะประมาท ไม่เตรียมรับมือไม่ได้ เพราะนอกจากจะทำให้น้ำท่วมหนักแล้ว ยังทำให้น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน เนื่องจากการระบายน้ำลงเจ้าพระยาสู่ทะเลอ่าวไทยทำได้ยาก!!