กรมการข้าว เยี่ยมชมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีศูนย์ข้าวชุมชน นครราชสีมา

กรมการข้าว เยี่ยมชมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีศูนย์ข้าวชุมชน นครราชสีมา

กรมการข้าวนำทีมสื่อมวลชน เยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีของศูนย์ข้าวชุมชน ณ จังหวัดนครราชสีมา

วันที่ 6 ต.ค. 65 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว มอบหมายให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา นำทีมสื่อมวลชน เยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีของศูนย์ข้าวชุมชน ณ ศูนย์ข้าวชุมชนองค์กรเกษตรอินทรีย์สีคิ้ว และศูนย์ข้าวชุมชนท่าเยี่ยม จังหวัดนครราชสีมา กรมการข้าว เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีของศูนย์ข้าวชุมชนที่ประสบความสำเร็จ สามารถเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการของชาวนาในชุมชน และของประเทศ  ตลอดจนการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายอย่างเป็นระบบมากขึ้น รวมทั้งผลักดันให้ศูนย์ข้าวชุมชนเข้าร่วมการดำเนินงานเชิงนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระดับพื้นที่มากขึ้น

กรมการข้าว เยี่ยมชมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีศูนย์ข้าวชุมชน นครราชสีมา


 
นายนรภัทร ศรีษะนอก นักวิชาการเกษตรชำนาญการหัวหน้ากลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับศูนย์ข้าวชุมชนองค์กรเกษตรอินทรีย์สีคิ้วและศูนย์ข้าวชุมชนท่าเยี่ยม เป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยมีเกิดจากการรวมกลุ่มของเกษตรกร มีการปรึกษาหารือรวมกันอยากจะพัฒนาอาชีพตนเองในเรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เอง และชุมชนมีความต้องการผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้จำหน่าย เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง กรมการข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมาจึงได้เข้ามาส่งเสริมในด้านการผลิต ด้านองค์ความรู้ ด้านวิชาการต่างๆ มีการส่งเสริมและสนับสนุนในการจัดตั้งเพื่อแก้ไขปัญหาตามความต้องการของสมาชิกและชุมชน มีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน มีหลักเกณฑ์ และระเบียบเพื่อถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ตลอดจนมีหลักการในการบริหารจัดการเพื่อขับเคลื่อนกลุ่มให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเป้าหมายใน การแก้ไขปัญหาให้กับสมาชิกอย่างชัดเจน ปัจจุบันได้มีการต่อยอดเป็นศูนย์ข้าวชุมชนทั้ง 2 แห่ง ยังได้จัดตั้งป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนหรือเป็นแหล่งศึกษาดูงานของสมาชิกและชุมชนอีกด้วย


​นายจำนง พันธุ ประธานศูนย์ข้าวชุมชนองค์กรเกษตรอินทรีย์สีคิ้ว กล่าวว่า ในอดีตเกษตรกรในชุมชนตำบลบ้านหันส่วนใหญ่มีการทำนา โดยใช้เมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรทำการคัดเมล็ดพันธุ์เอง หรือแลกเปลี่ยนระหว่างเกษตรกรด้วยกัน ทำให้ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างต่ำ คุณภาพของข้าวต่ำ เมล็ดพันธุ์ดีจากหน่วยงานมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทางชุมชนจึงได้รวมกลุ่มกันภายในชุมชนจัดตั้งเป็น “ศูนย์ข้าวชุมชนองค์กรเกษตรอินทรีย์สีคิ้ว” เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ดี โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมการข้าว และกรมส่งเสริมการเกษตร ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้สูงขึ้นอีกด้วย และปัจจุบันได้จัดเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนหรือเป็นแหล่งศึกษาดูงานของสมาชิก ศูนย์กลางการพัฒนาการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ของชุมชนและให้บริการความรู้ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ ข้าวปลอดภัยแก่ชาวนาในชุมชนและส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือซึ่งกัน ผลิต แปรรูปและจำหน่ายสู่ท้องตลาด พัฒนาเกษตรกรให้มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ สามารถพึ่งตนเองได้ แม้ว่าศูนย์ข้าวชุมชนองค์กรเกษตรอินทรีย์สีคิ้ว เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มเล็ก ๆ แต่ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ของคนในกลุ่ม และการช่วยเหลือและส่งเสริมจากกรมการข้าว ทำให้ศูนย์ฯนี้กลายเป็นศูนย์ข้าวชุมชน คนต้นแบบให้กับชาวนาได้ทั่วประเทศ
ด้านนายจารึก  กมลอินทร์ ประธานกลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนท่าเยี่ยม ต.ท่าเยี่ยม อ.โชคชัย  จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นในการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่ายจากเดิมคือเพื่อให้เกษตรกรในชุมชนได้มีเมล็ดพันธุ์ดีไว้ใช้ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เก็บไว้ใช้เองไม่ค่อยได้มีการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพที่ต่ำ เมื่อนำไปจำหน่ายให้โรงสีจะถูกตัดราคาลงมามาก หลังจากศูนย์ข้าวชุมชนท่าเยี่ยมผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพออกมาเพื่อให้สมาชิกและเกษตรทั่วไปได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีแล้ว มีเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ดีจากทางกลุ่ม ทำให้ทางกลุ่มมีความมุ่งมั่นที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่าย ซึ่งเมล็ดพันธุ์ที่ทางกลุ่มผลิตนั้นจะต้องได้คุณภาพมาตรฐานและการยอมรับจากเกษตรกรและบุคคลทั่วไป จึงได้ยื่นขอรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว (GAP Seed) เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับเกษตรที่ใช้เมล็ดพันธุ์จากทางกลุ่มว่าจะได้เมล็ดที่มีและมีคุณภาพตามมาตรฐานตามที่หน่วยงานราชการกำหนด โดยทางศูนย์ข้าวชุมชนท่ายเยี่ยมได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ องค์ความรู้ต่างๆในการผลิตเมล็ดพันธุ์ จากกรมการข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา ทำให้ทางกลุ่มมีเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชนทั้งในระดับจังหวัด  ระดับภาคและระดับประเทศเป็นจำนวนมาก เกษตรกรสมาชิกและในชุมชนก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ศูนย์ข้าวชุมชนท่าเยี่ยมมีการพึ่งพาตนเองของชุมชนโดยไม่รอรับการสบับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐอย่างเดียวได้ดำเนินการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนเพื่อดำเนินการขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรเพื่อใช้ในการสร้างโกดัง  ลานตาก  ตาชั่งที่ได้มาตรฐาน สถานที่จัดทำหน่ายเมล็ดพันธุ์และที่ทำการกลุ่มเพื่อให้ผู้พบเห็นเชื่อมั่นในคุณภาพของเมล็ดพันธุ์