เช็กระบายน้ำ 3,077ลบ.ม./วินาที เขื่อนเจ้าพระยา เช้านี้
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เผยระบายน้ำ 3,077ลบ.ม./วินาที เขื่อนเจ้าพระยา เช้านี้
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2565 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 49/2565 ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ในวันที่ 6 ตุลาคม 2565 มีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 3,077 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา โดยกรมชลประทานได้พิจารณารับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกเต็มศักยภาพคลองที่สามารถรองรับน้ำได้ ปัจจุบันระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +17.64 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ซึ่งสูงกว่าระดับเก็บกัก 1.14 (+16.50 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง)
เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของบานระบายน้ำและตัวเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทาน จำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ +17.60 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตรามากกว่า 2,900 – 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2565 ประกอบกับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ จังหวัดสมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ โดยระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.90 – 2.20 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ในช่วงวันที่ 8 – 13 ตุลาคม 2565 จึงขอให้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท อำเภออินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี และพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอป่าโมก และไชโย คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล อำเภอเสนา และผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.10 - 0.15 เมตร และบริเวณตั้งแต่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.15 - 0.30 เมตร
2. ผลการดำเนินงาน
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ จัดประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคกลาง อาคารควบคุมเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นประธานในการประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รับฟังแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัย พร้อมกับลงพื้นที่ติดตามการระบายน้ำ ณ ประตูระบายน้ำผักไห่-เจ้าเจ็ด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเร่งแผนการระบายน้ำทั้งบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาออกไปทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกโดยให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด
3. สถานการณ์น้ำท่วม
จากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคเหนือด้านตะวันตก ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ประกอบกับสถานการณ์พายุ "โนรู ที่เข้าประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 65 ทำให้มีฝนตกหนังถึงหนักมากบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ภาคใต้ ส่งผลให้มีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนเมือง รวม 25 จังหวัด ภาคเหนือ 3 จังหวัด ตาก เพชรบูรณ์ พิจิตร ภาคกลาง 9 จังหวัด นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ภาคตะวันออก 2 จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี