สถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา "น้ำเหนือ" เริ่มทรงตัว แนวโน้มลดลง

สถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา "น้ำเหนือ" เริ่มทรงตัว แนวโน้มลดลง

กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา "น้ำเหนือ" เริ่มทรงตัว แนวโน้มลดลง เร่งระบายน้ำลงสู่ทะเล บรรเทาความเดือดร้อนประชาชนให้มากที่สุด

กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (13 ตุลาคม 2565) เวลา 12.00 น. ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ อยู่ที่ 3,059 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ซึ่งจะไหลลงมาสมทบกับแม่น้ำสะแกกรังอีก 334 ลบ.ม./วินาที ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของบานระบายน้ำและตัวเขื่อน ประกอบกับระดับน้ำเหนือเขื่อนขณะนี้อยู่ที่ +17.71 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง (ม.รทก) สูงกว่าระดับเก็บกัก 1.21 เมตร (+16.50 ม.รทก.) ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 3,169 ลบ.ม./ต่อวินาที ขณะที่ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เฉลี่ยอยู่ที่ 3,100 ลบ.ม./วินาที
 

สำหรับ สถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (13 ตุลาคม 2565) มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,094 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุอ่างฯ รวมกัน ทั้งนี้ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก งดการระบายน้ำตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ด้านเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ปรับการระบายขึ้นมาเล็กน้อย 30 ลบ.ม./วินาที จากเดิมที่งดการระบายน้ำในช่วงเดียวกัน ส่วนอีก 2 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีน้ำเกินความจุอ่างฯ ได้แก่ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 952 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 101 ของความจุอ่างฯ ยังคงอัตราการระบายน้ำเท่าเดิมกับวานนี้ 150 ลบ.ม./วินาที และที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 1,052 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 110 ของความจุอ่างฯ วันนี้ลดการระบายน้ำจากวานนี้ในอัตรา 820 ลบ.ม./วินาที
 

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ปรับการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ เสริมศักยภาพในการเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเล บรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด