ราชกิจจาฯ เผยแพร่ พ.ร.บ.ตํารวจแห่งชาติ กำหนดบัญชีอัตราเงินเดือน-เงินประจำตำแหน่ง
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 กำหนดบัญชีอัตราเงินเดือนตำรวจประเภทที่มียศ และบัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่ง 3 ประเภท เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม - แต่งตั้งโยกย้าย ยึดอาวุโส ความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อไม่ให้ตกอยู่ใต้อาณัติใคร
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ความว่าพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยตํารวจแห่งชาติ
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทําได้ โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เหตุผลและความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การบริหารงานบุคคลของข้าราชการตํารวจเป็นไปตามระบบคุณธรรม มีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อํานาจ หรือ กระทําการโดยมิชอบ
และให้ข้าราชการตํารวจ ประพฤติปฏิบัติตนเหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ของตํารวจ และอยู่ในจริยธรรมและจรรยาบรรณของตํารวจ และเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (4) ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไข ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 มีทั้งหมด จำนวน 79 หน้า โดยหน้าสุดท้ายได้ระบุถึงเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการ ยุติธรรม (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ดําเนินการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ให้เกิดผลในการดําเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อํานาจ และภารกิจของตํารวจให้เหมาะสม
และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตํารวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่า ข้าราชการตํารวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้าย และการพิจารณาบําเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคํานึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน
เพื่อให้ข้าราชการตํารวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน จึงสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยตํารวจแห่งชาติ โดยโอนย้ายภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักออกจากสํานักงานตํารวจแห่งชาติ เพื่อให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติ สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นภารกิจหลักและบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตํารวจให้เกิดประสิทธิภาพ โดยแบ่งออกเป็น
กลุ่มสายงานต่าง ๆ เพื่อให้ข้าราชการตํารวจในแต่ละกลุ่มสายงานสามารถเจริญเติบโตตามกลุ่มสายงานด้วยความรู้ ความชํานาญในสายงานของตน การกําหนดกระบวนการในการแต่งตั้งและเลื่อนตําแหน่งไว้ให้ชัดเจน โดยคํานึงถึงอาวุโส ความรู้ความสามารถ และความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับ
ให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตํารวจ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์เรื่องร้องทุกข์ รวมทั้งการกําหนดระบบคุณธรรมให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นที่พึ่งของข้าราชการตํารวจในการปลดเปลื้องทุกข์ของข้าราชการตํารวจ ที่เกิดจาก ผู้บังคับบัญชา
รวมทั้งให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตํารวจ เพื่อเป็นกลไกสําหรับประชาชน ในการร้องเรียนการปฏิบัติที่ไม่ชอบของข้าราชการตํารวจ อันเป็นการปลดเปลื้องทุกข์ของประชาชนที่เกิดจาก การกระทําของตํารวจ
ตลอดจนให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกิจการตํารวจ โดยการให้เงินอุดหนุนแก่สถานีตํารวจ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตํารวจในสถานีตํารวจนั้น และจัดตั้งกองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดทางอาญา เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตํารวจ จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ท้าย พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้กำหนดบัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการตำรวจประเภทที่มียศ และ บัญชีอัตราเงินประจำตำแหน่งตำรวจ ที่แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
คลิกดูเพิ่มเติม : พ.ร.บ.ตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565