คลอดผังน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน แก้ปัญหาน้ำครอบคลุมพื้นที่ 9 จังหวัด
สทนช. เดินหน้าจัดทำผังน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำ เร่งศึกษาจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบนครอบคลุมพื้นที่ 9 จังหวัด คาดประกาศใช้ภายในปี 2566 หวังเป็นเครื่องมือให้ประชาชนทราบถึงพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยระดับต่าง ๆ และการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสมในระบบทางน้ำ มั่นใจช่วยแก้ปมน้ำท่วม น้ำแล้งในระยะยาว
นายบุญสม ชลพิทักษ์วงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ รักษาการที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สทนช.ได้เร่งดำเนินการจัดทำผังน้ำลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 9 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ ตรัง กระบี่ ระนอง พังงา และพัทลุง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ การวิเคราะห์ และการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบนตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ให้แล้วเสร็จตามแผน โดยล่าสุดมีความก้าวหน้าแล้วประมาณ 60 % คาดว่าจะเริ่มประกาศใช้ได้ประมาณต้นปี 2566 ซึ่งที่ผ่านมา สทนช.ได้มีการดำเนินการจัดประชุมชี้แจงรายละเอียดขั้นตอนการจัดผังน้ำโดยมีภาคส่วนเกี่ยวข้องในพื้น9 จังหวัดดังกล่าว อาทิ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กรผู้ใช้น้ำ กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอร่างผังน้ำรวมถึง 5 ครั้งกระจายตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อเปิดรับฟังข้อคิดเห็นในการปรับปรุงการจัดทำผังน้ำให้สะท้อนความเป็นจริงในพื้นที่ให้มากที่สุด รวมทั้งยังได้ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่น้ำท่วมที่เคยเกิดขึ้นในอดีตของ จ.สุราษฎร์ธานี จ.ชุมพร จ.นครศรีธรรมราช เพื่อยืนยันความถูกต้องของพื้นที่น้ำท่วมที่เกิดขึ้นจริงกับพื้นที่น้ำท่วมที่ได้จากการวิเคราะห์แบบจำลองชลศาสตร์ โดยการพูดคุยกับประชาชนเจ้าของพื้นที่ เช่น บริเวณคลองท่าตะเภา คลองชุมพร คลองหลังสวน จ.ชุมพร พื้นที่เทศบาลนครนครศรีธรรมราช คลองท่าดี จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น ก่อนสรุปเป็นข้อมูลการจัดทำผังน้ำฯที่เสร็จสมบูรณ์
นอกจากนี้ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำตามผังน้ำ ซึ่งแสดงพื้นที่ทางน้ำหลาก พื้นที่น้ำนอง และพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่เป็นไปตามสภาพน้ำท่วมและกายภาพของพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้ข้อมูลผังน้ำประกอบการสนับสนุนแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง แผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม รวมถึงการจัดสรร การใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษาการฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ได้อย่างแท้จริง
“ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน มักประสบปัญหาด้านอุทกภัยเป็นประจำเนื่องจากปริมาณฝนตกหนักในพื้นที่ รวมทั้งได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูงในบางครั้ง ซึ่งปัจจุบันพบว่าการไหลของน้ำผ่านเส้นทางน้ำหลากอาจถูกเปลี่ยนทิศทางหรือกีดขวางจากสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เช่น อาคารบ้านเรือน เส้นทางคมนาคม หรือคันดินที่ก่อสร้างผ่านพื้นที่ทางน้ำหลาก ซึ่งการจัดการระบบเส้นทางน้ำ หรือ “ผังน้ำ” จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดขอบเขตเส้นทางน้ำ ซึ่งประชาชนจะทราบถึงพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยระดับต่าง ๆ และการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสมในระบบทางน้ำ ไม่ให้เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำหรือกีดขวางการไหลของน้ำที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม แผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งด้วย” ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ กล่าว
สำหรับการจัดทำผังน้ำนั้น ขณะนี้ได้ดำเนินการศึกษาจัดทำผังน้ำเสร็จเเรียบร้อบแล้ว 8 ลุ่มน้ำ อยู่ระหว่างการศึกษาอีก 4 ลุ่มน้ำ ลุ้มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน เป็นลุ่มน้ำที่ 9 ที่สทนซ.ดำเนินการศึกษา ทั้งนี้คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จ และประกาศใช้ผังน้ำยางเป็นทางการภายใต้ปี 2566 นี้อย่างแแน่นอน