ใช้วิชาพร่าเหยื่อ | ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

ใช้วิชาพร่าเหยื่อ | ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

“มองว่าผู้ต้องหาเป็นนักจิตวิทยาตัวยง   ใช้จิตวิทยาขั้นสูงคือทฤษฎี Gaslighting  ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุมทางจิตใจและ ความสัมพันธ์ด้วยการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ของความแคลงใจ     ความสงสัยและความไม่เชื่อมั่นในตนเอง

 คดีนี้เป็นคดีที่มีพฤติกรรมค่อนข้างประหลาด  ตอนเข้าไปเจอเหยื่อ            5 ราย  เป็นเด็ก 2 ราย และผู้ใหญ่ 3 ราย  ผู้ใหญ่ทั้งหมดถูกโกนหัวและย้อมผมสีเขียว   ใบหน้าถูกทำร้าย         เมื่อถามว่าแผลเกิดจากอะไร   เหยื่อทุกคนบอกเอาน้ำร้อนราดตัวเอง.....”  (พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์  ผบก.สส. บชน.)

คดีนี้สอดรับกับสิ่งที่ผู้เขียนได้เขียนไว้ก่อนหน้าไม่นานในเรื่อง Gaslighting (กรุงเทพธุรกิจ 20 กันยายน 2565 ระวังคำพูดจุดไฟในใจ   และ facebook วรากรณ์ สามโกเศศ ) ว่าเป็นเครื่องมือเพื่อการละเมิดสิทธิส่วนตัวและการคดโกงต้มตุ๋น  

และต่อมาได้พบข้อเขียนใน Reader’s Digest เดือนกรกฎาคม 2565  เรื่องสัญญาณเตือนของการประสบ Gaslighting   จึงขอนำมาเล่าเพื่อป้องกันตนเองจากการตกเป็นเหยื่อของความสัมพันธ์

Gaslighting (การจุดก๊าซเพื่อแสงสว่าง) เป็นชื่อภาพยนตร์ในปี 1944 เกี่ยวกับชีวิตในอังกฤษยุคที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้   ต้องอาศัยก๊าซในการให้แสงสว่าง    เรื่องมีอยู่ว่าสามีมุ่งร้ายจะฮุบสมบัติของภรรยาจึงหลอกลวงโดยบอกภรรยาบ่อย ๆ ว่าเธอป่วยทางจิต  

หลาย ๆ ครั้งที่สามีเร่งไฟให้ห้องสว่างขึ้น แต่กลับพูดว่า      ห้องมืดกว่าเดิม  และพูดซ้ำ ๆ จนภรรยาสงสัยในสิ่งที่ตนเองประสบและสุดท้ายเชื่อคล้อยตามไปว่าตนเองนั้น          จิตฟั่นเฟือน

Gaslighting หรือ “การจุดไฟ” เกี่ยวพันกับการจงใจที่จะทำให้เหยื่อตกอยู่ใต้อำนาจและยอมทำตามที่เขาต้องการ    

คำนี้ใช้กันกว้างขวางในปัจจุบัน (เคยได้รับรางวัลเป็นคำภาษาอังกฤษใหม่               แห่งปี 2016)   จนกินความไปถึงการกระทำอย่างไม่จงใจด้วย     อย่างไรก็ดีในที่นี้จะกล่าวถึงการใช้             “การจุดไฟ” อย่างจงใจเท่านั้น

ในการดำเนินชีวิต   มนุษย์จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้คนหลากหลาย  ไม่ว่าจะเป็นคู่รัก  สามีภรรยา  ญาติ  เพื่อน  เจ้านาย    ฯลฯ   และในจำนวนหลายคนที่คบหากันนี้ในช่วงเวลาที่ยาวไกล  เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะพบคนประสงค์ร้ายที่พยายามควบคุมให้เราอยู่ในอาณัติด้วยวิธีการของ Gaslighting เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของเขาหรือไม่

ใช้วิชาพร่าเหยื่อ | ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

คุณสามารถหลีกหนีการตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิส่วนตัว  การถูกคดโกงและถูกต้มตุ๋นได้จาก “การจุดไฟ” ซึ่งมีลักษณะของการล้างสมองและการดำเนินการจัดการ (manipulation) อย่างแนบเนียนหากคุณเฝ้าสังเกตสิ่งต่อไปนี้จากความสัมพันธ์ที่คุณมี   


(1)  รู้สึกสงสัยในความน่าเชื่อถือของความจำของตนเอง  คำพูดและการกระทำของ “ผู้จุดไฟ” สามารถทำให้คุณเกิดความคลางแคลงในความสามารถของตนเองขึ้นทุกที  ต้องพึ่งพิงเขามากขึ้น   จนรู้สึกไว้ใจและยอมให้เขาควบคุมมากขึ้นทีละน้อยอย่างไม่รู้สึกตัว    

สิ่งที่เขาต้องการก็คือทำให้คุณเกิดความไม่แน่ใจในสิ่งที่คุณประสบว่าเป็นสิ่งจริงหรือไม่(เห็นว่าไฟสว่างขึ้น แต่เขาบอกว่ามันมืดลง)    

(2) หากเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ฉันคู่รัก   ผู้ประสงค์ร้ายมักเริ่มความสัมพันธ์อย่างเข้มข้น  ให้ทั้งคำหวาน  ความรัก  สิ่งของและเงินทอง   แลกกับข้อมูลส่วนตัวลึก ๆ    จากนั้นกระบวน          “การจุดไฟ” ก็เริ่มขึ้นด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ตัวคุณทีละน้อยเพื่อให้รู้สึกด้อยค่าจนต้องพึ่งพิงเขาแต่ผู้เดียว    

ใช้วิชาพร่าเหยื่อ | ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

หากคุณสงสัยว่าตนเองมีจิตใจที่ผิดปกติ   รู้สึกเหมือนไม่อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง    รู้สึกว่าตนเองถูกตัดขาดจากโลกภายนอกนั่นคือสัญญาณของ Gaslighting 

ผู้จุดไฟจะพยายามตัดขาดคุณจากเพื่อนและผู้รักใคร่ชอบพอที่อาจบอกว่าอะไรเป็นจริง และ     ผู้ประสงค์ร้ายกำลังทำลายคุณ     วิธีการอาจมาในรูปของการทำให้คุณรู้สึกผิดหรือไม่ชอบผู้คนจนหลีกเลี่ยงการพบปะคนอื่น     สถานการณ์อาจเลวร้ายจนถึงการไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถือ หรืออินเตอร์เน็ตที่ทำให้สื่อสารกับคนอื่นได้

(3) เมื่อมีคนถามว่าชอบไอศครีมแบบไหนแล้วคุณรู้สึกว่าตอบไม่ได้จนกว่าจะสบตาเขา           “ผู้จุดไฟ” หรือถามเขาก่อน   นั่นคือสัญญาณน่ากลัวว่า Gaslighting กำลังได้ผล    หากพบเห็นว่าใครมีอาการเช่นนี้ก็สามารถบอกได้เลยว่ากำลังตกเป็นเหยื่อ

(4) “ผู้จุดไฟ” พยายามทำให้คุณเป็นผู้รับผิดชอบความรู้สึกขัดแย้ง หรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างสองคนเสมอ    ไม่ว่าคุณทำดีแค่ไหนก็ไม่มีวันดีพอเพราะเขาต้องการให้คุณรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่าจนต้องพึ่งพิงเขา  ทั้งหมดเป็นไปอย่างช้า ๆ เพื่อการมีอำนาจเหนือคุณและควบคุมให้คุณอยู่ในกำมือ

(5)  คุณรู้สึกสบายใจและผ่อนคลายขึ้นเมื่อเขาไม่อยู่ใกล้คุณ เพราะตลอดเวลาที่อยู่ใกล้กัน  คุณต้องระวังทุกคำพูดและการกระทำเพื่อไม่ทำให้เขารู้สึกไม่พอใจ 
(6)  กลยุทธ์ที่สำคัญของ “ผู้จุดไฟ” ก็คือการกล่าวหาคุณว่าเป็น “ผู้จุดไฟ” ทั้งนี้เพื่อทำให้คุณต้องวุ่นวายกับการหาคำแก้ตัว และเกิดความรู้สึกที่เลวร้ายจนไม่มีเวลามองเห็นกระบวน “การจุดไฟ” ที่เขากำลังกระทำอยู่

“ผู้จุดไฟ” ที่มีประสงค์ร้ายเหล่านี้กระทำด้วยความจงใจเพราะต้องการควบคุม และมีอำนาจเหนือคุณ และยากที่จะเลิกกระทำ  

ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุดในการหลีกหนี “การจุดไฟ” ก็คือการเดินออกจากความสัมพันธ์เด็ดขาดและอย่างรอบคอบชนิดที่เรียกว่า "บัวไม่ให้ช้ำ  น้ำไม่ให้ขุ่น”  เพราะอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้    

ใช้วิชาพร่าเหยื่อ | ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ

ข้อแนะนำก็คือต้องตัดให้ขาดไปเลยโดยไม่ติดต่อด้วยอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนรัก   เพื่อน   ญาติ    ฯลฯ   เพราะพวก “จุดไฟ” จะพยายามตื้อให้กลับมาเสมอด้วยสารพัดสัญญาและของขวัญ

ข้อเขียนนี้อาจมองโลกในแง่ร้ายไปสักหน่อย  แต่อย่าลืมว่าในโลกปัจจุบันผู้คนมีบุคลิกภาพที่ซับซ้อนอย่างยากที่จะหยั่งถึงมากขึ้น  มีวิชาการให้เอามาใช้เป็นวิชามารได้สะดวกขึ้น  ดังนั้นจึงควรระมัดระวังการตกเป็นเหยื่อของ Gaslighting  และตระหนักเสมอว่าคนไม่ประสงค์ดีต่อคุณ  ไม่สมควรได้รับความสัมพันธ์กันต่อไปอีกไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม

ความมีสติและการพยายามรู้เท่าทันคนอื่นเป็นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ของคนที่ต้องการ         “อยู่ดี  อยู่รอดและปลอดภัย” ในการดำเนินชีวิตปัจจุบัน.