การเป็นนักข่าว การนำเสนอข่าวออนไลน์ และมาตรการแห่งการควบคุม
ตั้งแต่โลกเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตประกอบกับการมีสมาร์ทโฟนทำให้วิถีการใช้ชีวิต การติดต่อสื่อสาร และการทำมาหากินของผู้คนเปลี่ยนไปอย่างมาก ความรู้ต่าง ๆ เกิดขึ้นและมีการถ่ายทอด รวมถึงการเข้าถึงและแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารได้อย่างง่ายดาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่องทางอันเป็นเครื่องมือของสื่อในปัจจุบันที่ใช้ในการถ่ายทอดไม่ว่า Facebook YouTube TikTok Twitter ฯลฯ ก็ช่างเป็นช่องทางที่แสนจะเข้าถึงง่ายและมีความน่าสนใจเสียเหลือเกิน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมคือ จำนวนผู้ที่ทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ลงไปในระบบอินเทอร์เน็ตนั้นก็มีอยู่อย่างมหาศาล ถ้าหากจะแยกเป็นประเภทของข่าวสารนั้นก็แทบจะมีทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นกีฬา อาชญากรรม ศิลปะวัฒนธรรม บันเทิง การศึกษา การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุบัติเหตุ ภัยพิบัติ สงคราม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
นอกจากนี้ หากจะแยกกลุ่มประเภทผู้นำเสนอข่าวสารลงไปในระบบออนไลน์นี้ยังมีอีกหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อสารมวลชนโดยอาชีพ โดยสังกัดสำนัก หรือโดยอิสระ หรือโดยสมัครเล่น โดยส่วนตัว โดยความตั้งใจ โดยไม่ตั้งใจ หรือโดยประสงค์รายได้ หรือไม่ประสงค์รายได้
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องทางเผยแพร่บางช่องทางที่มีการจ่ายค่าตอบแทนจากการเผยแพร่ตามจำนวนผู้เข้าชมหรือผู้ติดตามยิ่งทำให้มีผู้จะเข้าทำงานในช่องทางนี้มากขึ้นโดยไม่อาจจะทราบได้ถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของผู้เผยแพร่ที่จะอยู่ในช่องทางนี้ได้เลย
ปัญหาประการต่อมาที่เกิดขึ้นคือ กลุ่มประเภทหารายได้จากการเผยแพร่ที่ต้องการยอดผู้ติดตามจำนวนมากนี้จะใช้เทคนิคในการนำเสนอที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าการนำเสนออย่างถึงพริกถึงขิง การใส่เนื้อหาโดยไม่ครบถ้วน การใส่เนื้อหาแบบอุปโลกน์ คือ แบบที่เรียกกับในสื่อออนไลน์ว่าสร้างคอนเทนต์ (content) หรือแต่งเรื่องเพื่อให้เกิดการทัวร์ลง
การตัดต่อภาพ ตลกขำขัน ล่อแหลม หวาดเสียว มหัศจรรย์ ลึกลับ ลามก ฯลฯ เพื่อให้เกิด Viral video ซึ่งยังไม่รวมถึงการแชร์ข้อมูลกันไปมาระหว่างผู้ชมอีก ซึ่งผู้ถ่ายทอดข่าวสารเหล่านี้อาจไม่สนใจถึงผลกระทบต่อสังคมที่ตามมา
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวที่เป็นทางการและทำหน้าที่สื่อข่าวอยู่ก่อนแล้วตลอดมาไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอไปอยู่ในช่องทางใดส่วนใหญ่มักทราบและเคารพต่อหลักการนำเสนอข่าวเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ฉะนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่ควรต้องจัดการจัดระเบียบหรือกำหนดกฎเกณฑ์บางอย่างเพื่อแยกผู้มีอาชีพด้านนี้ เพื่อให้ความคุ้มครองออกจากกลุ่มไม่ทำอาชีพ
โดยต้องพิจารณาปัญหาเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ปัญหาเรื่องการประกอบอาชีพ ปัญหาเรื่องความรับผิดต่อกฎหมาย และความรับผิดและความคุ้มครองต่อสังคมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารประกอบกันไป ซึ่งได้แก่
1. ควบคุมตัวบุคคลที่ทำหน้าที่รายงานหรือเป็นสื่อกลางในการให้ข้อมูลข่าวสาร เช่น อายุ การศึกษา หรือการต้องผ่านการอบรม การได้รับการอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบอาชีพเสียก่อน การมีบัตรประจำตัว และต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติเช่นว่านั้นอยู่เสมอ หรือการที่ต้องทำการต่อใบอนุญาตนั้นอยู่เป็นระยะ ๆ
2. ควบคุมกำหนดลักษณะ ขอบเขต และประเภทของงานหรืออาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือคำว่า “ข่าว” ว่ามีความหมายและมีขอบเขตอย่างไร อีกทั้งเนื้องานลักษณะใดควรต้องถูกควบคุมและมีขอบเขตแห่งการควบคุมทางเนื้อหาและลักษณะเพียงใด
3. ควบคุมเรื่องความเป็นองค์กร สำนัก หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยผลิตและเผยแพร่กระจายข่าวสาร ในความหมายว่าผู้ที่ทำหน้าที่รายงานข่าวสารข้อมูลอาจต้องสังกัดองค์กร องค์กรธุรกิจ องค์กรเอกชน หรือหน่วยงานหรือนิติบุคคลใด ๆ
กล่าวอย่างง่ายคือ ถ้าเป็นไปได้แล้วผู้ทำหน้าที่นำเสนอข่าวควรต้องมีสังกัดนั่นเอง อีกทั้งองค์กรนั้นควรถูกจัดตั้งขึ้นหรืออยู่ในรูปแบบตามที่กฎหมายกำหนดหรือโดยได้รับอนุญาตหรือขึ้นทะเบียนเสียก่อน มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เป็นทางการ และเป็นกิจจะลักษณะ
4. ควบคุมเนื้อหาและลักษณะของเนื้อหาที่นำเสนอว่าสิ่งนั้นเป็นข่าวอันอยู่ในสถานการณ์วิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อขวัญและการดำรงชีวิตของสังคมโดยกว้าง หรืออาจมีผลต่อการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
เป็นสถานการณ์หรือเรื่องราวที่มีความละเอียดอ่อน หรือเป็นสิทธิส่วนบุคคล เช่น ข่าวเกี่ยวกับผู้พิการ เด็กและเยาวชน กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้สูงอายุ เพศสภาพ เชื้อชาติ สถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ สถานการณ์โรค การระบาด และภัยสุขภาพ การก่อการร้าย การวินาศกรรม หรืออุบัติเหตุอุบัติภัยร้ายแรง
5. ควบคุมในทางเครื่องมือหรือช่องทางที่ใช้ในการสื่อหรือถ่ายทอดข่าวสาร เช่น หนังสือ โทรทัศน์ หรือในทางอินเทอร์เน็ต
6. ควบคุมองค์กรหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข่าวสาร เช่น แอพพลิเคชั่น ให้มีมาตรการกลั่นกรองหรือข้อจำกัดในการนำเสนอเนื้อหาของข้อมูลข่าวสาร
7. ควบคุมเรื่องความชอบด้วยกฎหมายในทางเนื้อหาและการเคารพต่อสิทธิของบุคคลอื่น รวมถึงประโยชน์สาธารณะและความมั่นคงด้านต่าง ๆ ของรัฐ อีกทั้งความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
8. ควบคุมเรื่องการกำหนดให้มีองค์กรผู้ทำหน้าที่ควบคุมกำกับและตรวจสอบหรือการมีสภาวิชาชีพเฉพาะด้านสื่อที่เป็นรูปเป็นร่าง มีกฎหมายรองรับ และมีความเป็นเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
9. ควบคุมเรื่องการมีกฎข้อบังคับหรือประมวลด้านจริยธรรมและคุณธรรมของผู้ประกอบอาชีพสื่อและผู้นำเสนอข่าว
10. ควบคุมเรื่องรายได้และมาตรการทางภาษี ซึ่งอาจเป็นมาตรการการเก็บภาษีหรือยกเว้นภาษีสำหรับรายได้ที่เกิดจากการเผยแพร่ ถ่ายทอด หรือมีผู้ติดตามจำนวนมาก หรือจากการเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือมีองค์กรหรือนิติบุคคลที่สังกัดอยู่ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดรายได้เข้ารัฐและเป็นการควบคุมหรือส่งเสริมการประกอบอาชีพ
11. ควบคุมโดยทางสังคม อาจจะด้วยการให้บุคคลอื่นหรือสังคมเรียกร้องและร้องเรียนได้
12. ควบคุมเรื่องมาตรการและผลบังคับทางกฎหมาย การกำหนดหลักความคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ที่สุจริตและเป็นไปตามกฎหมาย รวมถึงความรับผิดอันเกิดจากการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อบังคับทางจริยธรรมและคุณธรรมแห่งอาชีพให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสม