DSI มั่นใจ "คดีรังเย็น" หลักฐานแน่น ชี้ผู้ต้องหาถูกออกหมายจับ
อธิบดี DSI ยัน "คดีรังเย็นรีสอร์ทรุกป่าภูเรือ จ.เลย" ยังมีสำนวนที่มีผู้ต้องหาคนสำคัญที่สั่งฟ้อง และถูกออกหมายจับแล้ว แยกคนละสำนวนคดีที่ อสส. สั่งไม่ฟ้อง 4 ผู้ต้องหา
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ เปิดเผยว่า รับทราบความเห็นของอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาคดีรุกป่าภูเรือ จ.เลย ตามที่ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 สำนักงานอัยการสูงสุด มีหนังสือถึงอธิบดี DSI เมื่อประมาณเดือนส.ค.2565 เรื่อง แจ้งคำสั่งเด็ดขาดอัยการสูงสุด ไม่ฟ้อง บริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ต้องหาที่ 1 , พิไลจิตร เริงพิทยา ผู้ต้องหาที่ 2 , นิจพร จรณะจิตต์ ผู้ต้องหาที่ 3 และ อรเอม เทิดประวัติ ผู้ต้องหาที่ 4 ในความผิดฐานร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งได้กระทำเป็นเนื้อที่เกิน 25 ไร่ และร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครอง รวมตลอดถึงการก่นสร้างหรือเผาป่าในที่ดินของรัฐมีเนื้อที่เกิน 50 ไร่ หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นการทำอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดินโดยไม่มีสิทธิครอบครอง หรือมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้พ.ศ.2484 มาตรา 54 , 72 ตรี วรรคสอง พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2518 มาตรา 22 พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2522 มาตรา 7 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 , 108 ทวิวรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83
สืบเนื่องจากเมื่อปี 2561 เจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ DSI กอ.รมน.ภาค 4 ฝ่ายปกครองอ.ภูเรือ จ.เลย บูรณาการ เข้าตรวจสอบ และตรวจยึดบริเวณสวนเกษตรภูเรือวโนทยานตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ซึ่งเป็นป่าท้องที่บ้านร่องจิก หมู่ที่ 6 บ้านนาขาป้อม หมูที่ 9 ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย และบ้านหนองสนุ่น หมู่ที่ 7 ตำบลโคกงาม บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 2 ตำบลโพนสูง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เกี่ยวกันพันจำนวน 6,229 ไร่ โดยมีบริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ครอบครอง
โดยพื้นที่ดังกล่าวเคยมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) มาก่อนจำนวน 147 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 6,229 ไร่ จึงได้ทำการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน
เมื่อปี 2563 DSI มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหากับพวก ตามฐานความผิด และได้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมตัวผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย กระทั่งต่อมา อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในที่สุด เมื่อปี2565
DSI ได้มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาคนสำคัญ และมีการออกหมายจับ
อธิบดี DSI ยืนยันว่า คดีนี้มี 2 สำนวน โดยสำนวนแรก อสส.สั่งไม่ฟ้อง คดีจึงถึงที่สุด แต่ยังเหลือสำนวนคดีอีกหนึ่งคดี ซึ่ง DSI ได้มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาคนสำคัญไปแล้วและมีการออกหมายจับผู้ต้องหาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งสำนวนให้ สำนักงานอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด
ด้าน รองอธิบดี DSI ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล เปิดเผย "สำนักข่าวเนชั่น" ว่า สำนวนคดีที่สองมีการสั่งฟ้องตั้งแต่สมัย รองอธิบดี DSI พ.ต.ท.สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน สรุปสำนวนฯ มีความเห็นควรสั่งฟ้อง และออกหมายจับผู้ต้องหา โดยสำนวนฯ อยู่ระหว่างเลขานุการคณะพนักงานสอบสวน ถ่ายสำเนาฯ ก่อนส่งอัยการคดีพิเศษ
DSI บูรณาการหลายหน่วยงาน ตรวจสอบรังเย็นรีสอร์ทบุกรุกป่า
4 กันยายน 2561 สืบเนื่องจาก กรมป่าไม้ได้ร้องทุกข์ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้ดำเนินคดีกับบริษัท ซี.พี.เค.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในความผิด ร่วมกันบุกรุกป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 เนื้อที่ประมาณ 6,000 กว่าไร่ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับไว้เป็นคดีพิเศษที่ 56/2561 จากนั้นจึงได้ประสานขอรับสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 15/2561 จากสถานีตำรวจภูธรโคกงาม มาเป็นพยานหลักฐานในคดีพิเศษนี้
จากการสอบสวนพบว่า พื้นที่เกิดเหตุเคยมีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) จำนวน 147 แปลง รวมเนื้อที่ 6,229 ไร่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีความเห็นสั่งฟ้องและทราบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้มีการหลบหนี ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ยังไม่มีการดำเนินคดีกับผู้ยึดถือครอบครองที่ดิน ในความผิดบุกรุกป่าแต่อย่างใด ต่อมา กรมที่ดินได้มีคำสั่งเพิกถอน น.ส.3 ก. ดังกล่าวทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า เป็นการออก น.ส.3 ก. โดยใช้หลักฐาน ส.ค.1 ของที่ดินแปลงอื่นมาเป็นหลักฐานในการออก
นอกจากนี้ ยังได้มีการออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 9516 ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของรังเย็นรีสอร์ท หมู่ 7 ตำบลโคกงาม อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และปัจจุบัน กรมที่ดินได้มีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดิน ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2462/2561 เมื่อวันที่31 กรกฎาคม 2561 จึงทำให้พื้นที่บริเวณรังเย็นรีสอร์ท เป็นพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับกรมป่าไม้ บินถ่ายภาพทางอากาศในบริเวณพื้นที่เกิดเหต พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ มีการเข้าครอบครองทำประโยชน์ มีสิ่งปลูกสร้าง มีพืชผลทางการเกษตร ได้แก่ ต้นแมคคาดาเมียร์ ต้นยูคาลิปตัส ผลไม้อื่นๆ มีการสร้างอ่างเก็บน้ำ ถนน ตลอดจนมีระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา เข้าไปถึงในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าพื้นที่ที่อยู่นอก น.ส.3 ก. มีร่องรอยการถูกบุกรุกเพิ่มเติมอีกด้ว
วันที่ 4 กันยายน 2561 เวลา 09.30 น. กรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง , รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ท. ประวุธ วงศ์สีนิล ได้ร่วมกับหน.ชป.ศปบ.4 กอ.รมน. พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ , ผอ.สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า ชีวะภาพ ชีวะธรรม , กรมป่าไม้, กรมที่ดิน, กรมพัฒนาที่ดินและทหารในพื้นที่ ร่วมกันเข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ และสอบสวนพยานบุคคลที่ถูกกล่าวอ้าง เพื่อประกอบการสอบสวนในคดี
ทั้งนี้ “การทวงคืนผืนป่า” ถือเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล, กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะนำทรัพย์สินซึ่งเป็นของแผ่นดิน ที่มีการนำไปยึดถือครอบครองเป็นของส่วนตัว กลับมาเป็นสมบัติของประเทศ