ฉาย บุนนาค น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ “ในหลวง ร.9”
ฉาย บุนนาค น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ โพสต์ข้อความนำคำสอน “ในหลวง ร.9” `เข็มทิศนำทางบริหาร “เนชั่น กรุ๊ป”
ฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Nation Group โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ มีเนื้อหาว่า
วันพ่อแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (พ่อหลวง รัชกาลที่ 9)
กว่า 70 ปี ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงขึ้นครองราชย์ ประชาชนคนไทย จะเห็นพระองค์ เสด็จไปทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อเยี่ยมเยือนราษฎรของพระองค์ ทรงทุ่มเทพระวรกาย ช่วยเหลือคนไทยทั้งประเทศให้ อยู่ดี กินดี มีความสงบสุข และก้าวพ้นความยากจน
ในทุกๆที่ที่ พระองค์ เสด็จทรงมีพระบรมราโชวาท พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทยให้เสมอ ซึ่งพระบรมราโชวาท มีมากมายและล้วนเป็นคติสอนใจ ที่ทุกคนสามารถนำมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อความสุข ความสำเร็จ และความเจริญ เปรียบเสมือน “คำสอนของพ่อ” ที่ยิ่งใหญ่ และมีคุณค่า โดยเฉพาะหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่าเป็นเรื่องจริง และทำให้เราอยู่ได้ในโลกนี้อย่างมีความสุข
ผม ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง และในฐานะประธานกรรมการบริหาร เนชั่น กรุ๊ป ก็ได้น้อมนำคำสอน ของ “ในหลวง ร. 9” มาเป็นแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิต เป็นเข็มทิศ และเป็นคติในการทำงาน
ผม ขอยกตัวอย่างพระราชดำรัส ของ ในหลวง ร.9 ซึ่งผมยึดถือและปฏิบัติในการนำมาพาองค์กรเครือเนชั่น เสมอมา เช่น
1.คำสอนเรื่องการทำงาน “เมื่อมีโอกาส และมีงานทำ ควรเต็มใจ ทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้ หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใด ย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยัน และความซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น”
“การดำรงชีวิตที่ดี จะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียร และความอดทน เป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทน ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้ว ไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ๆ ”
“ การทำดีนั้นทำยาก และเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่ และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่ละคนจึงต้องตั้งใจ และเพียรพยายามให้สุดกำลัง ในการสร้างเสริมและสะสมความดี”
2. คำสอน..การรู้จักหน้าที่ และช่วยเหลือผู้อื่น
“ต่างคนต่างมีหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำเฉพาะหน้าที่นั้น เพราะว่า ถ้าคนใดทำหน้าที่เฉพาะของตัว โดยไม่มองไม่แลคนอื่น งานก็ดำเนินไปไม่ได้ เพราะเหตุว่างานทุกงานจะต้องพาดพิงกัน จะต้องเกี่ยวโยงกัน ฉะนั้นแต่ละคนจะต้องมีความรู้ถึงงานของผู้อื่นแล้วช่วยกันทำ”
3.คำสอน..เรื่องการเผชิญหน้ากับปัญหา
“ในการดำเนินชีวิต และการประกอบกิจการงาน ย่อมจะต้องมีปัญหาต่างๆเป็นอุปสรรคขัดขวางความสำเร็จอยู่เสมอ ยากที่ผู้ใด หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะหลีกเลี่ยงพ้นได้ คนก็มีปัญหาของคน สังคมก็มีปัญหาของสังคม ประเทศก็มีปัญหาของประเทศ แม้กระทั่งโลก ก็มีปัญหาของโลก ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต และกิจการงาน จึงเป็นเรื่องธรรมดา ข้อสำคัญเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นจะต้องแก้ไขให้ลุล่วงไปโดยไม่ชักช้า ผู้ใดมีสติปัญญาคิดได้ดี ปฏิบัติได้ถูก ผู้นั้นก็มีหวังบรรลุถึงเป้าหมาย มีความสำเร็จสูงถ้าเป็นตรงกันข้ามก็ยากที่จะประสบความสำเร็จสมหวังได้”
4. คำสอน..เสรีภาพในการใช้ชีวิต
“การมีเสรีภาพนั้นเป็นของดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้ จําเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง และความรับผิดชอบมิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเทือนถึงสวัสดิภาพ และความเป็นปกติสุขของส่วนรวมด้วยมิฉะนั้น จะทําให้มีความยุ่งยากจะทําสังคม และชาติประเทศต้องแตกสลายโดยสิ้นเชิง”
5. คำสอน..ความพอเพียง
“เศรษฐกิจพอเพียง จะทําความเจริญให้แก่ประเทศได้ต้องมี ความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทําโดยเข้าใจกัน เชื่อว่า ทุกคนจะมีความพอใจได้...คําว่า พอเพียง มีความหมายว่า พอมีพอกิน , เศรษฐกิจแบบพอเพียง หมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ไม่ต้องขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง...คําว่าพอ คนเราถ้าพอใน ความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย พอเพียงอาจมีมาก อาจมีของหรูหราก็ได้แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น”
5 คำสอน ของ “ในหลวง ร.9” ที่ ผม หยิบยกมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลายๆ คำสอนของพระองค์ ที่ ผมนำมาเป็นดั่งเข็มทิศในการดำเนินชีวิต ซึ่งทุกคำสอนของ พระองค์ มีคุณค่า เพราะเป็นหลักความเป็นจริงในสังคมทุกยุคทุกสมัย หลักคำสอนของ พระองค์ จะเป็นหลักยึดในการทำงานของผม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการนำพาสังคม ให้มี หลักนิติธรรม ซึ่งเป็น รากฐานในการสร้าง “ความสงบสุข” และ “ความเป็นธรรม”