กรมชลประทาน สั่งรับมือเฝ้าระวังน้ำท่วมภาคใต้ 8-11 ธ.ค. ตลอด 24 ชม.
กรมชลประทาน สั่งรับมือเฝ้าระวังน้ำท่วมภาคใต้ 8-11 ธ.ค. ตลอด 24 ชม. พร้อมติดตามประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หลังกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าจะมีฝนตกหนักในช่วงวันที่ 8 - 9 ธันวาคม 2565 และติดตามประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 8 – 11 ธันวาคม 2565 ดังนี้
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ
- จังหวัดชุมพร (อ.ละแม)
- จังหวัดภูเก็ต (อ.ถลาง และเมืองภูเก็ต)
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อ.กาญจนดิษฐ์ ท่าชนะ ไชยา ท่าฉาง พุนพิน ดอนสัก และเมืองสุราษฎร์ธานี)
- จังหวัดนครศรีธรรมราช (อ.เมืองนครศรีธรรมราช ขนอม สิชล ท่าศาลา พรหมคีรี ปากพนัง นบพิตำ และพระพรหม)
- จังหวัดพัทลุง (อ.เขาชัยสน ควนขนุน บางแก้ว ปากพะยูน ป่าบอน และกงหรา)
- จังหวัดสงขลา (อ.กระแสสินธุ์ ระโนด เทพา รัตภูมิ ควนเนียง หาดใหญ่ สทิงพระ และจะนะ)
- จังหวัดตรัง (อ.กันตัง)
- จังหวัดสตูล (อ.เมืองสตูล)
- จังหวัดปัตตานี (อ.ไม้แก่น หนองจิก โคกโพธิ์ สายบุรี กะพ้อ ยะหริ่ง ทุ่งยางแดง และมายอ)
- จังหวัดยะลา (อ.รามัน เมืองยะลา และยะหา)
- จังหวัดนราธิวาส (อ.เมืองนราธิวาส ตากใบ เจาะไอร้อง บาเจาะ ยี่งอ แว้ง สุไหโก-ลก สุคิริน และรือเสาะ)
เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก
เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักน้ำสูงสุด และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ รวมทั้งเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80
นายประพิศ กล่าวว่า ได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังระดับน้ำทั้งแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาตลอด 24 ชั่วโมง ตรวจสอบอาคารชลประทาน ตลอดจนแนวค้นกั้นน้ำต่าง ๆ ให้มีความมั่นคงแข็งแรงพร้อมใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก บุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ บริเวณพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานแจ้งเตือนประชาชน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น