“นิพิฐ"ยื่นป.ป.ช.กล่าวหา 2 กรรมการปกปิดหลักฐานคดีปาล์มอินโด
“นิพิฐ”ยื่นป.ป.ช.กล่าวหา 2 กรรมการ กระทำผิดกฎหมายอาญาร้ายแรง ปกปิด ซ่อนเร้นพยานหลักฐานสำคัญในคดีปาล์มอินโดฯ เพื่อช่วยพรรคพวกร่วมรุ่นไม่ต้องรับโทษ
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 นายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา ยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อกล่าวหา 2 กรรมการป.ป.ช. ในสำนวนคดีปาล์มอินโดฯ ว่า แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ปกปิดซ่อนเร้นพยานหลักฐาน ช่วยเหลือพรรคพวก ไม่ให้ได้รับโทษ พร้อมทั้งคัดค้านให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที
การกระทำดังกล่าว ถือว่า มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 , 200 และมีความผิดตามพระราช บัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172, 177, 180, 183
นายนิพิฐ กล่าวว่า เนื่องจากตน ได้นำส่งพยานหลักฐานที่สำคัญแห่งคดีต่อคณะกรรมการป.ป.ช.หลายครั้งหลายหน แต่มีกรรมการป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบสำนวนบางคน ได้ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม โดยการปกปิดซ่อนเร้นพยานหลักฐานที่สำคัญในคดีไม่นำมาเข้าสำนวนและไม่นำมาพิจารณา ทั้งนี้โดยมีเจตนาช่วยเหลือพรรคพวก ทำให้ตนได้รับโทษในทางอาญา ในวันนี้จึงนำส่งพยานหลักฐานที่สำคัญอีกครั้งต่อกรรมการป.ป.ช.รายบุคคล
พยานหลักฐานที่สำคัญ อาทิเช่น เอกสารทางราชการของประเทศอินโดนีเซีย ที่บังคับใช้ทั่วราชอาณาจักร และราคาประเมินสวนปาล์ม โดยบริษัทประเมินที่จดทะเบียน ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างปราศจากข้อสงสัยว่า ตนเข้าร่วมลงทุนในโครงการในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดไม่มีความเสียหายใดแต่ความเสียหายเกิดจากการขายในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด และมีความพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงในการไต่สวนว่าวิธีการประมูลก่อนขายถูกต้อง ทั้งๆที่ผิดกฎหมาย
นายนิพิฐ กล่าวว่า ปรากฏพยานหลักฐานว่า 2 กรรมการป.ป.ช. เป็นพวกเดียวกันกับผู้ถูกกล่าวหา โดยได้ร่วมอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุนรุ่นเดียวกัน และบุคคลดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์กับตน อันเป็นเหตุของการช่วยเหลือกัน
นายนิพิฐ กล่าววา เมื่อตนเองรวบรวมพยานหลักฐานยื่นฟ้องกลุ่มที่ร่วมกันกระทำทุจริตก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ปตท. และ ปตท. กรีนเอ็นเนอร์ยี่ ในโครงการปลูกปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเมื่อปี พ.ศ.2560 รวมทั้งสิ้น 6 คดี เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่ากลุ่มบุคคลที่กระทำการทุจริตในโครงการปาล์มอินโดฯ และทำให้ ปตท. ต้องเสียหาย มิใช่ตนเอง
แต่ปรากฏว่า 2 กรรมการป.ป.ช. มีหนังสือถึงศาลอ้างว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จนเป็นเหตุให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีทั้งหมด เพื่อรอผลการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จนกระทั่งปัจจุบันคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ได้เริ่มลงมือไต่สวนข้อเท็จจริงในประเด็นที่ตนได้กล่าวหาและยื่นฟ้องทั้ง 6 คดีแต่อย่างใด
“หากมีการละเว้นปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลผู้ที่ทำให้ ปตท. และ ปตท. กรีนเอ็นเนอร์ยี่ ได้รับความเสียหาย ตนจะฟ้องสำนักงานป.ป.ช.และผู้ที่เกี่ยวข้องเรียกค่าเสียหาย 2 หมื่นล้าน”