ทุจริตสอบนายสิบ! ล่าสุดชี้ "ขบวนการใหญ่" ตำรวจเอี่ยวโกง ล่าแก๊งร.ต.อ.หญิง

ทุจริตสอบนายสิบ! ล่าสุดชี้ "ขบวนการใหญ่" ตำรวจเอี่ยวโกง ล่าแก๊งร.ต.อ.หญิง

ตามล่าความจริง ทุจริตสอบนายสิบ! ล่าสุด ผบ.ตร. ชี้ "ขบวนการใหญ่" ตำรวจมีเอี่ยวโกง ล่าแก๊งร.ต.อ.หญิง ลั่นปิดช่องโหว่ งานนี้มีหนาว เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

อัปเดตข่าวดัง ผบ.ตร. เผยเห็นช่องโหว่ ข้อสอบถูกนำไปเฉลย ก่อนซุกกลับเข้าห้องสอบ เหลือรายละเอียดที่ชัดเจน คาดทั้งตำรวจและไม่ใช่ตำรวจ รวมตัวเป็นขบวนการใหญ่ ชี้ความผิดอาญา ต้องดำเนินคดีทุกราย เตรียมป้องกันให้การทุจริตยากขึ้น

วันที่ 13 ธันวาคม 2565 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีการทุจริตสอบคัดเลือกนายสิบตำรวจ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบให้มีความชัดเจน เชื่อว่าการสืบสวนมีความคืบหน้าไปพอสมควร  เบื้องต้นได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร.เข้าไปดูแลในกรณีดังกล่าว หากพบว่ามีใครเข้าข่ายในการกระทำความผิด จะมีการดำเนินคดีทั้งหมด โดยในส่วนของบช.ภ.9 มีการดำเนินคดีไปจำนวนมากแล้ว

สำหรับกรณีทุจริตในครั้งนี้ หากตรวจสอบพบว่ามีการกระทำความผิดจริง จะนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินการในอนาคต จะไม่ให้เกิดการทุจริตโดยง่ายอีกแล้ว ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะมีการดำเนินการรูปแบบไหน ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องเตรียมการรับมือทุกรูปแบบ แม้เหตุการณ์ครั้งนี้ที่เกิดขึ้นใน บช.ภ.9 พบว่ายังมีโอกาสเกิดขึ้นอีกในพื้นที่ต่างๆ นั้นแสดงให้เห็นว่ายังมีช่องโหว่ ดังนั้น เราต้องรีบแก้ไขให้ได้โดยเร็ว ในส่วนของ บช.ภ.5 เราพบหลักฐานพอสมควร แต่ยังต้องหาความชัดเจนให้มากกว่านี้ก่อน

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า เหตุการณ์ทุจริตที่เกิดขึ้นในพื้นที่ บช.ภ.9 และ บช.ภ.5 มีความใกล้เคียงกัน คือ เมื่อได้ข้อสอบแล้วนำไปเฉลยก่อน แล้วอาจจะซุกซ่อนเข้าไปในห้องสอบ ส่วนจะเกิดความผิดพลาดในส่วนไหน โดยส่วนตัวตนยังไม่ทราบโดยชัดเจน แต่เท่าที่ได้รับรายงานเบื้องต้น อาจจะมีข้อสอบที่หลุดจากห้องเก็บข้อสอบ

ดังนั้น เรื่องนี้ข้าราชการตำรวจ น่าจะมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยไม่มากก็น้อยและนอกจากตำรวจ ยังมีกลุ่มบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีการดำเนินการเป็นเครือข่าย เพราะต้องมีคนที่เก่งที่สามารถทำข้อสอบได้ด้วย เชื่อว่าเรื่องนี้มีผู้เข้าไปเกี่ยวข้องในหลายๆ ส่วน 

อย่างไรก็ตาม ขอเวลาให้คณะทำงานดำเนินการสืบสวนสอบสวนอีกสักหน่อย ยืนยันว่าใครเข้าที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องจะถูกแจ้งความดำเนินคดีทั้งหมด เพราะเข้าข่ายการกระทำความผิดในรูปแบบของกลุ่มคณะเป็นอั้งยี่ และถ้าเป็นผู้เอาเอกสารข้อสอบออกจากห้องเก็บข้อสอบก็จะเข้าข่ายความผิดอาญาอีกหลายๆ ข้อหา ซึ่งยังต้องดูในรายละเอียดอีกครั้ง แต่เข้าข่ายความผิดทางอาญาอย่างแน่นอน ในส่วนของ บช.ภ.9 อยู่ในขั้นตอนการดำเนินคดีไปแล้ว
 

ลั่น ตร.เกี่ยวข้องทุจริตสอบตำรวจ ฟันวินัย-อาญา

วานนี้ พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีการทุจริตสอบคัดเลือกนายสิบตำรวจในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เมื่อเดือนมีนาคม 2565 และเจ้าหน้าที่พบมีผู้เข้าสอบนำโพยคำตอบเข้าไปในห้องสอบ 1 คน จนทำให้มีการสืบสวนขยายผลจนพบ

มีผู้ร่วมกระทำความผิดรวม 73 คน และขณะนี้ได้ตัดสิทธิ์การเข้าเป็นนายสิบตำรวจไปแล้ว ส่วนที่เหลือไม่พบความผิดก็ให้เข้ารับราชการตามปกติ

พล.ต.ท.นิรันดร กล่าวอีกว่า ส่วนจะมีตำรวจ และร้อยตำรวจเอกหญิง นายหนึ่งที่พบมีเงินหมุนเวียนกว่า 30 ล้านบาท รวมทั้งบุคคลอื่นว่าจะเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไม่ ขณะนี้ได้รับรายงานมาจากภูธรภาค 9 แล้ว แต่ขอตรวจสอบในรายละเอียดก่อน และภายในสัปดาห์นี้จะชี้แจงรายละเอียดได้ 

ขณะเดียวกันตำรวจได้รับร้องเรียนการทุจริตสอบนายสิบตำรวจฝ่ายอำนวยการ ในกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ที่มีการเผยแพร่คำถาม และคำตอบของข้อสอบในครั้งนี้ ที่มีผู้เข้าสอบกว่า 2 แสนคน และขณะนี้สอบผ่านการคัดเลือกไปแล้ว 1,160 คน อยู่ระหว่างการรอสอบสัมภาษณ์ และตรวจร่างกายที่จะรับเข้า เหลือ 725 คน

พล.ต.ท.นิรันดร กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่พบว่ามีชื่อและนามสกุล ของผู้เข้าสอบซ้ำกัน 2 คน จากการตรวจสอบพบว่าเลขประจำตัวประชาชนของทั้งสองคนไม่ตรงกัน แต่ชื่อนามสกุลเดียวกัน จึงสามารถเข้าสอบได้ และยืนยันว่าหากเลขประจำตัวประชาชนตรงกัน จะไม่สามารถลงสมัครในเว็บไซต์ได้

ผู้ช่วย ผบ.ตร. เผยต่อไปว่า ขณะนี้ยังไม่ยืนยัน ว่า เป็นการทุจริตสอบ เบื้องต้นคำถาม และคำตอบที่นำมาเผยแพร่ตรงกับข้อสอบจริง แต่คาดว่าเป็นการจำคำถามมาแล้วพิมพ์ใหม่ ซึ่งก็จะต้องนำไปตรวจสอบความชัดเจนทั้งหมด ว่ามีการทุจริตหรือไม่ ส่วนแผนประทุษกรรมจะเหมือน หรือเชื่อมโยงกับการทุจริตสอบในพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 9 หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถยืนยันได้ 

แต่ยืนยันว่ากระบวนการออกข้อสอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความรัดกุมอย่างมาก ตั้งแต่การเรียกให้คณะกรรมการออกข้อสอบมาเก็บตัว โดยที่ไม่ให้ใช้เครื่องมือสื่อสาร และให้ออกข้อสอบคนละอย่างน้อย 10 ข้อ และจะมีคณะกรรมการเลือกข้อสอบไปแบ่งออกเป็น 4 ชุด 

จากนั้นจะส่งเข้าโรงพิมพ์ และมีคณะกรรมการจัดส่งข้อสอบไปยังสนามสอบ และมีคณะกรรมการกลางดูแลการจัดส่งไปแต่ละสนามสอบอีก โดยจะต้องตรวจสอบการบรรจุข้อสอบก่อนเปิดใช้ทุกครั้ง ซึ่งขั้นตอนดังกล่าว ถือว่ามีคณะกรรมการหลายฝ่าย และหลายชุด ทำให้ยากต่อการทุจริต

พล.ต.ท.นิรันดร กล่าวว่า ส่วนผู้เข้าสอบก็จะต้องแต่งกายชุดกีฬาเข้าสอบ และห้ามนำเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดเข้าห้องสอบ ขณะที่มีการทุจริต ยอมรับว่าอาจจะมีช่องโหว่บางส่วนที่ทำให้มีการลักลอบนำกระดาษคำตอบเข้าไป เนื่องจากมีผู้เข้าสอบจำนวนมาก ซึ่งคณะกรรมการก็จะนำไปพิจารณาแก้ไขในอนาคต รวมทั้งจะดำเนินการกับตำรวจที่เข้าไปร่วมทุจริตทั้งทางวินัย และอาญาด้วย