โควิด-19 เปิด 5 กลไกที่อาจก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกายระยะยาว
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็นโรคโควิด-19 เผยข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับปัญหา Long COVID ที่ก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกายระยะยาว
(14 ธ.ค.2565) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็นโรคโควิด-19 เผยข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับปัญหา Long COVID เผยแม้จะรักษาอาการโควิดช่วงแรกจนดีขึ้นแล้ว แต่อาจก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกายระยะยาวได้
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 451,422 คน ตายเพิ่ม 845 คน รวมแล้วติดไป 654,595,394 คน เสียชีวิตรวม 6,661,142 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรป และเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย และยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 92.73 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 70.76
อัปเดตข้อมูลล่าสุด Long COVID จาก EU
สหภาพยุโรป (European Union: EU) ได้ออกรายงานสรุปของคณะผู้เชี่ยวชาญ เมื่อวานนี้ 13 ธันวาคม 2565 ซึ่งได้ทบทวนข้อมูลวิชาการทั่วโลกเกี่ยวกับปัญหา Long COVID
สาระสำคัญจากรายงานฉบับนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า Long COVID เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และส่งผลต่อทั้งตัวผู้ป่วย และสังคม
หลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 ไป แม้จะรักษาช่วงแรกจนดีขึ้นแล้ว แต่อาจก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกายระยะยาวได้ โดยผ่านกลไกต่างๆ อาทิ
1. อวัยวะหรือเนื้อเยื่อถูกทำลายจากการติดเชื้อไวรัสโดยตรง
2. การมีไวรัสหรือชิ้นส่วนของไวรัสคงค้างระยะยาวในร่างกาย และส่งผลให้เกิดกระบวนการอักเสบเรื้อรัง
3. การติดเชื้อทำให้มีการกระตุ้นให้เกิดภูมิต่อต้านตนเอง
4. การติดเชื้อไวรัสกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติของกระบวนการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันตามเส้นเลือดหรืออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย
5. การติดเชื้อกระตุ้นให้ไวรัสอื่นที่เคยติดเชื้อแฝงอยู่ในร่างกายกำเริบขึ้นมา เช่น EBV, Herpes virus
การศึกษาจากทั่วโลก และพิสูจน์ว่าเกิดปัญหาจากกลไกต่างๆ ข้างต้น และเป็นเหตุผลที่อธิบายอาการผิดปกติต่างๆ ของผู้ป่วย Long COVID ซึ่งเกิดปัญหาในแทบทุกระบบของร่างกาย และเกิดโรคเรื้อรังตามมา
คณะผู้เชี่ยวชาญของสหภาพยุโรปนั้นได้ให้คำแนะนำประเทศต่างๆ ในเครือสหภาพยุโรปว่าจำเป็นต้องลงทุนวิจัยเพื่อหาทางรักษาภาวะLong COVID, ระดมทรัพยากรเพื่อลงทุนในระบบสุขภาพเพื่อรับมือกับผู้ป่วยจำนวนมากที่จะต้องได้รับการดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพ , ให้ความสำคัญกับการควบคุมป้องกันโรค ลดการแพร่เชื้อติดเชื้อในประเทศ รวมถึงการรณรงค์ให้ประชาชนรับวัคซีน, ปรับรูปแบบบริการในระบบสุขภาพทุกระดับให้มีการประสานความร่วมมือกันเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ, และพัฒนาระบบการประเมิน ติดตาม เฝ้าระวัง เพื่อให้สามารถมีข้อมูลเพื่อใช้ในการวางแผนจัดการปัญหา Long COVID ได้อย่างถูกต้องทันต่อสถานการณ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อัปเดตอาการ Long COVID มีความผิดปกตินานกว่า 3 เดือน พบปัญหาความจำ การนอนหลับ
- "หมอยง" เผยใช้แอนติบอดี้ในการป้องกัน รักษา "โควิด-19"
- ฮ่องกงผ่อนปรนคุมโควิดเพิ่ม ยกเลิกห้ามนักเดินทางเข้าบาร์ - ร้านอาหาร
สำหรับไทยเรา ปัญหา Long COVID นั้นจะเห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจำนวนการติดเชื้อแพร่เชื้อมีมากในการระบาดรุนแรงหลายระลอกตลอดสองปีที่ผ่านมา
หากใครประสบปัญหา ย่อมทราบด้วยตนเองว่า ทำให้บั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะในการทำงาน เรียน และการใช้ชีวิตประจำวัน
การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การไม่ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำ การฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด จะช่วยลดความเสี่ยงต่อ Long COVID ได้
อ้างอิง
Independent Expert Panel on effective ways of investing in health publishes opinion on the impact of the post-COVID-19 condition (long COVID) on health systems. European Commission. 13 December 2022.
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์