ส่องเงื่อนไขมาตรการ "ช้อปดีมีคืน 2566" ของขวัญปีใหม่ มีอะไรเพิ่มเติมมาบ้าง

ส่องเงื่อนไขมาตรการ "ช้อปดีมีคืน 2566" ของขวัญปีใหม่ มีอะไรเพิ่มเติมมาบ้าง

ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์พาส่องเงื่อนไขมาตรการ "ช้อปดีมีคืน 2566" ของขวัญปีใหม่ 2566 หลังจากที่ ครม.ไฟเขียวอนุมัติโครงการนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์พาส่องเงื่อนไขมาตรการ "ช้อปดีมีคืน 2566" ของขวัญปีใหม่ 2566 หลังจากที่ ครม.ไฟเขียวอนุมัติโครงการนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงวงเงินสูงสุดคนละ 40,000 บาท

สำหรับวงเงิน 40,000 บาทมาตรการ "ช้อปดีมีคืน 2566" แบ่งเป็น 

  • วงเงินสำหรับการซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าทั่วไปไม่เกิน 30,000 บาท
  • การซื้อสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีใบกำกับภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 10,000 บาท

ระยะเวลาโครงการ 

  • ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2566

เงื่อนไข-คุณสมบัติเบื้องต้น

ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการ "ช้อปดีมีคืน 2566" เบื้องต้นคาดว่าจะยึดแบบเดิมกับปี 2565 คือ มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่เริ่มโครงการ โดยผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการไม่ต้องลงทะเบียน เพียงแค่ซื้อสินค้าหรือบริการตามเงื่อนไขที่กำหนด แล้วขอ "ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป" จากร้านค้า ก็สามารถใช้ประกอบการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อหักลดหย่อนภาษีได้เหมือนกับค่าลดหย่อนอื่นๆทั่วไป

สินค้าและบริการที่ใช้ลดหย่อนภาษีมาตรการ "ช้อปดีมีคืน 2566" มีดังนี้

  • สินค้าและบริการทั่วไปที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
  • หนังสือ (รวมถึง e-book) 
  • สินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว 

สินค้าและบริการที่ไม่เข้าเงื่อนไข "ช้อปดีมีคืน 2566" 

  • ค่าสุรา เบียร์ ไวน์
  • ค่ายาสูบ
  • ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
  • ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
  • ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสารและค่าบริการ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
  • ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์
  • ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม
  • ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า
  • ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
  • ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์
  • ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต

มาตรการ "ช้อปดีมีคืน" เหมาะกับใคร?

สำหรับผู้ที่ต้องเสียภาษีในอัตราสูง เนื่องจากสามารถลดหย่อนภาษีในอัตราที่มากกว่า ทำให้ประหยัดภาษีได้มากขึ้น แต่อาจไม่เหมาะกับคนที่คำนวณภาษีแล้วอยู่ในเกณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นภาษี เนื่องจากต่อให้ซื้อสินค้าตามเงื่อนไขจนเต็มเพดานก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เป็นเงินคืนภาษีอยู่ดี 

ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการนี้จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ 8,200 ล้านบาท แต่จะส่งผลดีเกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 56,000 ล้านบาท และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.1-0.2%