การกักพืชคืออะไร | ดร.ภาณุพงศ์ เฉลิมสิน
ปัจจุบันหลายประเทศได้เปิดให้มีการเดินทางเข้าออกประเทศได้แล้ว ทำให้หลายคนที่เดินทางท่องเที่ยวอาจจะตั้งใจซื้อพืช ผัก หรือผลไม้จากต่างประเทศนำกลับมาฝากญาติพี่น้องในประเทศไทย ส่งผลให้ของที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบหรือออกใบรับรองสุขอนามัยพืชโดนกักไว้จำนวนมาก
ผู้เขียนจึงอยากอธิบายในเบื้องต้น เพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปและสาเหตุที่ต้องมีการกักผลไม้ไว้ และหากมีความจำเป็นต้องนำเข้า นำผ่าน หรือส่งออกควรต้องปฏิบัติอย่างไร การกักพืชคืออะไร พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 ไม่ได้ให้ความหมายของการกักพืชไว้
เพียงแต่ให้ความหมายของคำว่า “พืช” หมายถึง พันธุ์พืชทุกชนิดทั้งพืชบก พืชน้ำ และพืชประเภทอื่น รวมทั้งส่วนหนึ่งส่วนใดของพืช เช่น ต้น ตา ตอ แขนง หน่อ กิ่ง ใบ ราก เหง้า หัว ดอก ผล เมล็ด เชื้อและสปอร์ของเห็ด ไม่ว่าที่ยังทำพันธุ์ได้หรือตายแล้ว และให้หมายความรวมถึง ตัวห้ำ ตัวเบียน ตัวไหม ไข่ไหม รังไหม ผึ้ง รังผึ้ง และจุลินทรีย์ด้วย
“ศัตรูพืช” หมายถึง สิ่งซึ่งเป็นอันตรายแก่พืช เช่น เชื้อโรคพืช แมลง สัตว์ หรือพืชที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่พืช และ “พาหะ” หมายถึง เครื่องปลูก ดิน ทราย ภาชนะ หรือสิ่งอื่นที่ใช้ห่อหุ้มมาพร้อมกับพืช ปุ๋ยอินทรีย์หรือสิ่งอื่นใดที่อาจเป็นสื่อนำศัตรูพืช
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อสืบค้นดูจะพบว่า คุณนิพนธ์ ทวีชัย ได้เคยให้ความหมายไว้ว่า การกักพืชจัดเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและศัตรูพืชวิธีหนึ่ง โดยการป้องกันไม่ให้โรคและศัตรูพืชระบาด โดยการนำพาของมนุษย์จากท้องถิ่นที่มีโรคและศัตรูพืชระบาด ไปยังท้องถิ่นอื่นที่ไม่มีโรคและศัตรูพืชระบาดมาก่อน
และ "กักกันพืช" คือ การควบคุมและตรวจสอบพืช ศัตรูพืชและการเคลื่อนย้ายพืชให้เป็นไปตามกฎระเบียบ ระเบียบข้อบังคับและถูกต้องหลักวิชาการ เพื่อป้องกันมิให้ศัตรูพืชแพร่ระบาดจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นระหว่างประเทศ หรือภายในประเทศเอง (https://www.oocities.org/thaipqs/PQActivities02.html)
ในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและศัตรูพืชนั้น ได้มีบังคับใช้และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง โดยผู้เขียนขอนำเหตุผลที่มีต้องมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการกักพืช ดังนี้
- เกษตร ห้ามนักเดินทาง ซื้อผลไม้สดเป็นของฝาก ย้ำผิดกฎหมายนำเข้า
- สายเที่ยวควรรู้! ผัก-ผลไม้ต้องห้ามเอาเข้าไทย มีสิทธิผิดกฎหมาย
เหตุผลที่ต้องยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ. 2495 และประกาศใช้พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 ก็เพราะพระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ.2495 ได้บัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการควบคุมและกักพืชได้ ต่อเมื่อพืชที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นศัตรูพืชตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ซึ่งอาจจะทำให้โรคพืชต่าง ๆ ระบาดแพร่หลายได้ในระหว่างนำพืชนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรก่อนที่จะมีการควบคุมและกักพืชไว้
ไม่บังเกิดผลสมความมุ่งหมายที่จะป้องกันโรคและศัตรูพืชให้มีประสิทธิภาพ ตามข้อตกลงที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกร่วมอยู่ในอนุสัญญาระหว่างประเทศ สมควรที่จะขยายการควบคุมและกักพืชให้กว้างขวางออกไปอีก ทั้งการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักร ไม่ว่าทางบก ทางทะเล หรือทางอากาศ เพื่อให้การป้องกันโรคและศัตรูพืชได้ผลสมตามเจตนา
ต่อมามีการแก้ไขพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 ฉบับที่ 2 ในปี พ.ศ.2542 กำหนดให้มีคณะกรรมการกักพืชขึ้น ทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และเพิ่มมาตรการเกี่ยวกับการควบคุม
และตรวจสอบการนำเข้าและส่งออกซึ่งพืชและเชื้อพันธุ์พืช การตรวจและควบคุมเชื้อพันธุ์พืช การกำหนดให้มีการจดทะเบียนสถานที่เพาะพืชเพื่อการส่งออก การออกใบรับรองปลอดศัตรูพืช
ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษและอำนาจในการเปรียบเทียบปรับให้เหมาะสมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ได้ กำหนดให้แยกค่าป่วยการของพนักงานเจ้าหน้าที่ และค่าตรวจสอบศัตรูพืชออกจากค่าธรรมเนียมทั่วไป เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ในกิจการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ กับได้ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมกับสภาพการณ์
ล่าสุดได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 ฉบับที่ 3 ในปี พ.ศ.2551 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกาศให้พืช ศัตรูพืช และพาหะเป็นสิ่งต้องห้าม และแก้ไขหลักเกณฑ์การนำเข้า หรือนำผ่านซึ่งสิ่งต้องห้าม สิ่งกำกัด และสิ่งไม่ต้องห้าม รวมทั้ง เพิ่มเติมการควบคุมดูแลพืชที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรให้เหมาะสม
สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันและอนุสัญญาว่าด้วยการอารักขาพืชระหว่างประเทศ ตลอดจนแก้ไขอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการป้องกัน และควบคุมโรคและศัตรูพืชให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มเติมค่าธรรมเนียมใบรับรองที่กำหนดขึ้นใหม่
หากมีเหตุจำเป็นที่ต้องมีการนำเข้า นำผ่าน หรือส่งออกผลไม้ ก็ต้องมีการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate) ให้กับพืชหรือผลผลิตพืชเพื่อนำเข้า นำผ่าน หรือส่งออกไปต่างประเทศ เป็นการปฏิบัติงานภายใต้พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507
การออกใบรับรองสุขอนามัยพืชมิใช่มาตรการบังคับ หากขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้ส่งออกหรือเป็นความต้องการของประเทศผู้นำเข้าที่ต้องการให้มีใบรับรองสุขอนามัยพืชกำกับไปกับพืชหรือผลผลิตพืช
เพื่อเป็นการแสดงว่าพืชที่ส่งออกไปนั้นปราศจากศัตรูพืช และเป็นไปตามข้อกำหนดทางกักกันพืช หรือเงื่อนไขการนำเข้าของประเทศปลายทาง ยกเว้นการส่งออกพืชที่ถูกประกาศให้เป็นพืชควบคุม
กล่าวโดยสรุป การกักพืชมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการป้องกันมิให้ศัตรูพืชระบาดออกไปนอกราชอาณาจักรหรือ เข้ามาระบาดในราชอาณาจักร ซึ่งผู้ส่งออกต้องขอรับใบรับรองสุขอนามัยพืชหากประสงค์จะส่งออกพืชควบคุมดังกล่าว
สำหรับการขอรับใบรับรองสุขอนามัยพืชนั้น สามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่กลุ่มบริการส่งออกสินค้าเกษตร หรือด่านตรวจพืช 42 ด่านทั่วประเทศ ซึ่งปฏิบัติงานภายใต้การกำกับดูแลของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร.