เช็ก! ปัจจัยความสำเร็จ "เทศบาลนครอุดรธานี" ต้นแบบปลอดบุหรี่ 100%
สสส.ยก เทศบาลนครอุดรธานี ต้นแบบองค์กรปลอดบุหรี่ 100% พร้อมเผยปัจจัยความสำเร็จ จากการบังคับใช้กฏหมาย-เครือข่ายเข้มแข็ง
ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบ
คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่ยังสูบบุหรี่ในบ้าน ร้อยละ 23.7 ในจำนวนนี้ร้อยละ 67.5 มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ในบ้านทุกวัน
นอกจากนี้ ในทุก 10 ครัวเรือน ที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ จะมี 5 ครัวเรือน ที่มีคนสูบบุหรี่ ในจำนวนนี้มี 3 ครัวเรือน มีการสูบในบ้าน ควันบุหรี่ไม่เพียงแต่มีผลเสียต่อสุขภาพของคนที่สูบบุหรี่เท่านั้น ผลต่อคนที่ได้รับบุหรี่มือสอง นิโคตินที่อยู่ในบุหรี่ยังเข้าสู่กระแสเลือดถึงแม้ว่าไม่ได้เป็นผู้สูบบุหรี่เองก็ตาม
ด้วยสถิติดังกล่าว "เทศบาลนครอุดรธานี" เป็นหนึ่งในหลายๆ เมืองที่เล็งเห็นความสำคัญต่อปัญหาสุขภาพ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานเพื่อผลดีต่อสุขภาพ จึงรณรงค์ให้พื้นที่เทศบาลนครอุดรธานีเป็นเขตปลอดบุหรี่ 100%
จากการร่วมมือของทุกฝ่ายอย่างเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นผู้นำองค์กรที่ผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการฯ รวมถึงเครือข่าย ชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.)
โดยใช้เวลาดำเนินการไม่ถึง 2 ปี สามารถประกาศเป็นเทศบาลนครอุดรธานีปลอดบุหรี่ 100 % และได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ ปี 2564 ด้านการบังคับใช้กฎหมายยอดเยี่ยม จาก มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เบคอน ไส้กรอก ยิ่งกินยิ่งเสี่ยง "มะเร็งลำไส้" ส่องวิธีปรับการกินให้สมดุล
การสูบ "บุหรี่ไฟฟ้า" ช่วยให้ "เลิกสูบบุหรี่" แบบมวนได้จริงหรือ?
หนุนกีฬา สร้างสภาพแวดล้อมห่างไกลปัจจัยเสี่ยง
ดร. ธนดร พุทธรักษ์ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี ผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนให้เทศบาลนครอุดรธานีเป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% กล่าวว่า เทศบาลนครอุดรธานีให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อการทำงาน
ดังนั้น สำนักงานของเราจะไม่เปิดพื้นที่ให้สำหรับคนที่สูบบุหรี่ การสร้างสภาพแวดล้อมในสำนักงานให้ปลอดบุหรี่ จะเป็นการปฏิเสธคนสูบบุหรี่แบบสุภาพ เขาจะรู้ได้เองว่าที่นี่ไม่ต้อนรับคนสูบบุหรี่ ในส่วนของรางวัลที่ได้รับนั้นเป็นการยืนยันว่า สิ่งที่เราทำเป็นเรื่องที่มาถูกทางแล้ว สำหรับจุดแข็งของเรา คือ การสร้างจิตสำนึกที่ดี โดยเฉพาะกับเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ
“อุดรธานีเป็นเมือง Sport City ผมเองในฐานะนายกสมาคมกีฬาจังหวัด ได้เน้นย้ำกับผู้ฝึกสอนนักกีฬาทุกคนเลยว่า ต้องสื่อสารกับเด็ก ๆเยาวชนของเราว่า หากต้องการเป็นนักกีฬาที่ดี ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เหล้า บุหรี่ การพนัน และยาเสพติด ต้องละเว้นเรื่องพวกนี้หมด เราสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ตั้งแต่เขายังเด็ก ๆ" ดร. ธนดร กล่าว
อีกบุคคลสำคัญ คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ซึ่งเป็นคนทำงานในแต่ละพื้นที่ จะเดินเคาะประตูบ้านเพื่อรณรงค์เรื่องนี้กันเลย โดยในการทำงานได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งเป็นกองทุนประกันสุขภาพท้องถิ่น จำนวน 6 ล้านบาท
ขณะเดียวกันเทศบาลก็สนับสนุนงบสมทบอีก 3-4 บ้านบาท ปีหนึ่งเราจะมีงบประมาณรวม 10 ล้านบาท สำหรับการดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ โดยเราได้เน้นการอบรมให้ความรู้และส่งเสริมการออกกำลังกาย พร้อมสอดแทรกความรู้เรื่องอันตรายจาก เหล้า บุหรี่ การพนัน ยาเสพติด อบายมุขต่าง ๆ เข้าไปด้วย ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องแบบนี้ไปตลอด
รณรงค์ชุมชน เยาวชน ปลอดบุหรี่ 100%
"เชื่อว่าการสร้างกิจกรรมที่ดี สภาพแวดล้อมที่ปลอดจากอบายมุขต่าง ๆ จะทำให้เด็ก ๆ ห่างจากสิ่งปัจจัยเสี่ยงไปเองโดยปริยาย” นายกเทศบาลนครอุดรธานี กล่าว
นางจุราภัส รูปดี ผู้อำนวยการสพนักสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครอุดรธานี กล่าวเสริมว่า ในพื้นที่สำนักงาน เราประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนว่า เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ โดยจะมีป้ายประกาศ ณ ทางเข้า-ออก
สำหรับบุคลากรที่ติดบุหรี่แล้วเขายังเลิกไม่ได้ ดูแลบุคลากรเหล่านี้โดยแนะนำเรื่องการบำบัดหรือส่งเข้าไปบำบัดโรงพยาบาล และมีการดูแลอย่างต่อเนื่องโดยติดตามผ่านผู้บริหารของแต่ละหน่วยงาน
ส่วนเรื่องของเยาวชนเรามีการผลักดันให้โรงเรียนในเขตเทศบาลเข้าสู่โรงเรียนปลอดบุหรี่ 100% เทศบาลนครอุดรธานีมีโรงเรียนในสังกัด 12 แห่ง เราตั้งเป้า 1 แห่งเข้าสู่โรงเรียนปลอดบุหรี่ 100% แต่เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก ๆ ที่ผู้บริหารแต่ละโรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 12 แห่งเลย ซึ่งปีนี้จะมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปประธรรมที่ชัดเจน
ทั้งนี้ การรณรงค์ในกลุ่มเยาวชน เรานำทักษะการปฏิเสธมาสอนให้เยาวชนมีความแข็งแรงในการปฏิเสธสิ่งอบายมุขต่าง ๆ ส่วนในพื้นที่ชุมชน กลุ่มอสม. ซึ่งเป็นกลุ่ม พ่อๆแม่ ๆ เป็นอีกกำลังสำคัญในการทำให้เทศบาลนครอุดรธานีปลอดบุหรี่ พื้นที่เรามี 105 ชุมชน โดยแต่ละชุมชนจะมีมาตรการควบคุมดูแลซึ่งกันและกัน
ปัจจัยความสำเร็จ เกิดจากทุกฝ่ายร่วมมือกัน
นายสุเชาวน์ พรหมพิมพ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ เทศบาลนครอุดรธานี ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเพราะผู้บริหารไปร่วมลงพื้นที่ด้วย จึงมองเห็นภาพการทำงานและให้การสนับสนุนเต็มที่
นอกจากนี้ ความสำเร็จยังมาจากเครือข่ายภายในองค์กร เช่น นิติกร การประชาสัมพันธ์ รวมถึงเครือข่ายนอกองค์กรสำนักงานเทศบาล โดยมีทั้งเครือข่ายที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ อสม. ภาคประชาชน สภาเด็กและเยาวชน สื่อมวลชน ฯลฯ
อสม. เป็นกลุ่มหลักในการเฝ้าระวังและแจ้งข่าวการทำผิดกฎหมายมาที่ผู้รับผิดชอบโครงการ เช่น เมื่อพบการสูบบุหรี่ในสถานที่ห้ามสูบ การจำหน่ายบุหรี่ผิดกฎหมาย ฯลฯ และยังมีช่องทางไลน์ให้ประชาชนสามารถส่งข้อมูลแจ้งเหตุ แจ้งเรื่องเข้ามาได้ หรือใครที่มีความต้องการอยากจะเลิกบุหรี่ก็สามารถแจ้งมาทางไลน์และทางเฟสบุคได้เช่นกัน รวมไปถึงผู้ที่อยากได้ความรู้ในการที่จะเลิกบุหรี่ หรือ การพัฒนาสุขภาพตนเองให้ดีขึ้นได้อย่างไรโดยที่ไม่ยุ่งกับปัจจัยเสี่ยง ยังสามารถโทร.มาที่ หมายเลข 1600 ได้อีกหนึ่งช่องทางด้วย
“เทศบาลนครอุดรธานี ต้นแบบองค์กรปลอดบุหรี่ 100 %” นับเป็นอีกหนึ่งแนวทาง หรือต้นแบบที่น่าสนใจให้พื้นที่หรือชุมชนต่าง ๆ ได้ลุกขึ้นมาสร้างสังคมปลอดบุหรี่ไปด้วยกัน