ยื่นภาษี 2565 หมดเขตเมื่อไหร่ วิธียื่นแบบเอกสาร-ออนไลน์ ย่อสรุปเข้าใจง่ายๆ

ยื่นภาษี 2565 หมดเขตเมื่อไหร่ วิธียื่นแบบเอกสาร-ออนไลน์ ย่อสรุปเข้าใจง่ายๆ

วิธี "ยื่นภาษี 2565" ยื่นแบบเอกสาร-ออนไลน์ ย่อสรุปเข้าใจง่ายๆ สำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไปดูกันว่าครั้งนี้สามารถทำได้ถึงเมื่อไหร่และจะต้องเตรียมอะไรบ้าง

วิธี "ยื่นภาษี 2565" ยื่นแบบเอกสาร หรือแบบออนไลน์ ย่อสรุปมาให้เข้าใจง่ายๆ ซึ่งตามธรรมเนียมของทุกปี สำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไปดูกันว่าครั้งนี้ การยื่นภาษีแบบเอกสาร และยื่นภาษีแบบช่องทางออนไลน์ สามารถทำได้ถึงเมื่อไหร่และจะต้องเตรียมอะไรบ้าง

สำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มี 2 รูปแบบ ดังนี้

1.ยื่นภาษีแบบเอกสาร 

  • สามารถยื่นด้วยตนเองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2566

2.ยื่นภาษีแบบออนไลน์

  • สามารถยื่นด้วยตนเองตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 8 เมษายน 2566

ในส่วนที่เป็นพนักงานประจำหรือผู้ที่มีรายได้แน่นอน การยื่นภาษีอาจไม่ยุ่งยาก แต่สำหรับพ่อค้าแม่ค้าหรือเจ้าของธุรกิจที่เลือกจ่ายภาษีแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะค่อนข้างยุ่งยากกว่า

ดังนั้น การทำบัญชีรายรับรายจ่าย จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ทราบรายได้ที่แท้จริง ละเอียดและครบถ้วน ซึ่งจะช่วยทำให้เสียภาษีน้อยลงฃ

เอกสารสำหรับยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  • หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) (พนักงานประจำ และผู้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้)
  • รายการลดหย่อนภาษีทั้งหมดที่รวบรวมทั้งปี
  • เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี เพื่อกรอกแบบฟอร์มการยื่นจ่ายภาษี

วิธีการยื่นภาษี

ยื่นภาษีแบบเอกสาร

  • กรอกใบ ภ.ง.ด. แล้วเตรียมเอกสารยื่นภาษีที่เกี่ยวข้องไปยังสำนักงานสรรพากรทุกพื้นที่
  • กรอกใบ ภ.ง.ด. แล้วให้หน่วยงานบริษัทที่สังกัดยื่นให้

ยื่นภาษีแบบออนไลน์

  • เข้าสู่เว็บไซต์สรรพากร (คลิกที่นี่) เลือก ยื่นออนไลน์ ระบบจะพาไปที่ efiling.rd.go.th
  • กดสมัครสมาชิกตามวิธีด้านล่าง ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  • กรอกเลขประจำตัวประชาชน/เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลือก Captcha (ฉันไม่ใช่โปรแกรมอัตโนมัติ)
  • เลือก ประสงค์ลงทะเบียนเพื่อ ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ระบุ ข้อมูลผู้เสียภาษี
  • ยืนยันตัวตนด้วยรหัส OTP ทางหมายเลขโทรศัพท์หรืออีเมล์
  • กำหนดรหัสผ่าน/ยืนยันรหัสผ่าน เลือกคำถาม/คำตอบ 3 ข้อ เพื่อใช้ในกรณีที่ลืมรหัสผ่าน
  • อ่านและยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไข/ยืนยันการลงทะเบียน
  • เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้งาน (Username) และรหัสผ่าน (Password) ที่ตั้งไว้

สำหรับช่องทางออนไลน์ สามารถสอบถามข้อมูลการขอคืนภาษีผ่านเว็บไซต์ กรมสรรพากร โดยสามารถกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ชื่อ-นามสกุลผู้เสียภาษี และกดสอบถามได้เลย

กรณียื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90, 91) ขอคืนภาษี และยังไม่ได้รับเงินคืน ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161 หรือ งานคืนภาษี สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ทั่วประเทศ

ใครบ้างต้องยื่นภาษี

ผู้มีเงินได้มีหน้าที่เสียภาษีแก่รัฐ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มี "เงินได้" จะต้องเสียภาษี หรือ ยื่นภาษี โดยผู้มีรายได้ทางเดียวจาก “งานประจำ” คนที่จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และเสียภาษีประจำปี มีดังนี้

  • เงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ต้องยื่นภาษี
  • เงินเดือนไม่เกิน 26,583.33 ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี
  • เงินเดือนเกิน 26,583.33 บาท ต้องยื่นภาษี หักภาษี ณ ที่จ่าย และต้องเสียภาษี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- "ภาษี" ยังไงก็หนีไม่พ้น! "ขายออนไลน์" รายได้เท่าไรถึงต้อง "ยื่นภาษี"

 

กรณีไม่ยื่นภาษี จะโดนโทษอะไรหรือไม่

1.บุคคลธรรมดาที่ไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ภายในกำหนด หรือ ยื่นแบบฯ เกินกำหนดเวลา ต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้ 

2.ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 /91 ผ่านอินเทอร์เน็ต กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ

- กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ และไม่ได้ชำระเงินภาษีภายในวันที่กำหนด ก็ถือว่า มีโทษเช่นกัน เพราะถือว่า ไม่ได้ยื่นแบบ โดยจะต้องไปยื่นแบบ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1

3.ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เกินกำหนดเวลา

- กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1

- กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระค่าปรับตามข้อ 1 เพียงอย่างเดียว

4.ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติมภายหลังกำหนดเวลาการยื่นแบบ

- กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ

- กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ  ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ

5.ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ขอผ่อนชำระเงินภาษี

หากท่านมิได้ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในกำหนดเวลา จะหมดสิทธิ์การผ่อนชำระและต้องชำระภาษีอากรที่ค้างอยู่ทั้งหมด โดยต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ

6.ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 มีภาษีชำระไว้เกิน แต่ไม่ได้แจ้งความประสงค์ขอคืนเงิน ไม่ว่าจะเป็นการยื่นแบบฯ ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือยื่นแบบฯ ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา

ข้อแนะนำ อย่าหลีกเลี่ยงการกระทำข้างต้น และให้ติดต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เพื่อขอคำแนะนำเพื่อผ่อนหนักเป็นเบา เช่น การผ่อนจ่ายได้ เป็นต้น